KNOWLEDGE

ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ รับรางวัล นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ปี 2567

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มอบรางวัล นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 ในสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้แก่ ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จากผลงานวิจัยที่ทุ่มเทศึกษาอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับองค์ความรู้ใหม่ด้านคลินิก ในการดูแล รักษาและป้องกัน การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี ในเด็กและเยาวชน

ศ.พญ.ธันยวีร์ เผยว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ สิ่งสำคัญกว่ารางวัลที่ได้รับ ก็คือการทำให้เรื่องราว เกี่ยวกับโรคเอดส์ ที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV – Human Immunodeficiency Virus) ได้รับการเผยแพร่เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ทันสมัย และตระหนักรู้ว่า การติดเชื้อเอชไอวีในปัจจุบัน มีแนวทางในป้องกัน และรักษาที่ก้าวหน้าไปอย่างมาก

โดยหวังว่าจะช่วยทำให้คนทั่วไป ได้เข้าใจและรับทราบว่า ปัจจุบันผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี เมื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ด้วยยาต้านไวรัส จะไม่เจ็บป่วยเป็นโรคเอดส์ ไม่สามารถแพร่เชื้อไวรัสให้กับคนอื่นๆ รวมถึงมีสุขภาพดี ไปโรงเรียน ทำงาน มีครอบครัวมีบุตร อายุยืนยาวได้ เมื่อเข้าใจและยอมรับในประเด็นนี้แล้ว หวังว่าการตีตราหรือเลือกปฏิบัติต่อผู้อยู่ ร่วมกับเชื้อเอชไอวีในสังคมจะลดลงได้

“องค์ความรู้ในปัจจุบัน อย่างเช่น เด็กอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี เมื่อได้ทานยาต้านไวรัส สามารถควบคุมไวรัสในร่างกายได้ ภายในระยะเวลา 6 เดือนหลังเริ่มยา หลังจากนั้นยังต้องกินยาต้านไวรัสต่อเนื่องทุกวัน เพื่อควบคุมไวรัสไว้ ไม่ให้มาทำลายเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เด็กที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีตั้งแต่วัยทารก สามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีครอบครัวได้ โดยไม่ส่งต่อเชื้อให้คู่สามีภรรยาหรือบุตร” ศ.พญ.ธันยวีร์ กล่าว

ศ.พญ.ธันยวีร์ เล่าย้อนกลับไป ช่วงปี พ.ศ. 2539-2545 ที่เริ่มเรียน ด้านกุมารแพทย์และเริ่มสนใจทำงานวิจัย เกี่ยวกับการป้องกัน และรักษาเด็กและเยาวชน ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ซึ่งช่วงเวลานั้น การติดเชื้อเอชไอวี ถือเป็นโรคที่รุนแรง เนื่องจากยังไม่มียารักษา ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันสั้น จากโรคติดเชื้อฉวยโอกาส ที่เกิดตามหลังภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เวลานั้นประเทศไทย มีเด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กทารกที่ได้รับเชื้อ จากแม่สู่ลูกรายใหม่ ปีละหลายพันคน

จึงได้มาทำการศึกษาวิจัยทางคลินิก โดยการนำความรู้จากงานวิจัยพื้นฐาน ด้านไวรัสวิทยา ภูมิคุ้มกันวิทยา เภสัชวิทยา และระบาดวิทยา มาต่อยอดทำงานวิจัย นำยาต้านไวรัสสูตรต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการรักษาเด็ก อยู่ร่วมกับเอชไอวีในประเทศไทย โดยมีแรงบันดาลใจจากการร่วมงานวิจัย กับเครือข่ายนักวิจัยใน สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศแถบยุโรป ที่มีการวิจัยพัฒนาที่ก้าวหน้า

รวมทั้งได้ทำวิจัย ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม โดยการใช้ยาต้านไวรัส ที่ผลิตได้เองในประเทศไทย ทำให้เด็กอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี สามารถเข้าถึงยาได้ทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาสูตรยาต้านไวรัส จากที่ต้องรับประทานวันละหลายครั้ง หลายเม็ด จนในปัจจุบันเป็นยาต้านไวรัสเม็ดรวม รับประทานวันละครั้ง ทำให้สามารถใช้ได้ง่าย ประสิทธิภาพดี สามารถใช้ได้กับเด็กในไทย และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น

“เด็กอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี หลายคน ที่หมอดูแลมาตั้งแต่เล็ก ตอนนี้อายุ 30 กว่าแล้ว บางคนทำงาน บางคนมีครอบครัวมีลูก เป็นความภาคภูมิใจที่เรา มีส่วนช่วยวิจัยพัฒนายาต้านไวรัสและแนวทางการรักษาใหม่ๆ ทำให้โรคที่เราเคยคิดว่ารักษาไม่ได้ เคยเป็นที่รังเกียจ ปัจจุบันสามารถรักษาได้ และเด็กสามารถเติบโตขึ้น มาเป็นเยาวชนที่มีอนาคตที่ดีได้”

“อีกเรื่องที่สำคัญคือเรื่องของการป้องกัน การติดเชื้อเอชไอวีในสมัยก่อน หากหญิงตั้งครรภ์อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี โอกาสที่ลูกจะได้รับเชื้อด้วยนั้น มีสูงถึงร้อยละ 25-30 แต่ปัจจุบันการรักษา ด้วยยาต้านไวรัส ให้กับหญิงตั้งครรภ์ ทำให้โอกาสที่ลูกจะได้รับเชื้อด้วย ต่ำกว่าร้อยละ 1 เท่านั้น ซึ่งเป็นข้อมูลที่อยากเผยแพร่ ให้ทราบกันในภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ต่อครอบครัวของผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับคนในสังคม ได้ไม่แตกต่างจากผู้ป่วยจากโรคอื่นๆ ลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ” ศ.พญ.ธันยวีร์ กล่าว

ปัจจุบัน ศ.พญ.ธันยวีร์ ยังคงทำงานวิจัยทางคลินิก ในการรักษาและดูแลเยาวชน ที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี การดูแลในเรื่องของการรักษา จากเดิมที่เป็นยารับประทานวันละครั้ง ปัจจุบันเริ่มมีงานวิจัย ยาต้านไวรัสชนิดฉีดทุกสองเดือน หรือ ทุกหกเดือน เป็นต้น รวมทั้งเรื่องของการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี จากเดิมที่เน้นในเรื่องการป้องกัน ทารกที่อาจจะรับเชื้อจากคุณแม่ ในระหว่างการตั้งครรภ์หรือการคลอด ก็มาเน้นในเรื่องของกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี ซึ่งกลายเป็นกลุ่มหลักในการรับเชื้อเอชไอวี ให้เยาวชนได้เรียนรู้ ที่จะมีสุขภาวะทางเพศที่ดี รู้จักป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ โดยการใช้ถุงยางอนามัย รวมทั้งการให้ยาต้านไวรัส เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ที่เรียกกันว่า “ยาเพร็พ” ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ ศ.พญ.ธันยวีร์ และทีมวิจัย ทำร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

Related Posts

Send this to a friend