KNOWLEDGE

สร้างโอกาสเยาวชนช้างเผือก สร้างแรงงานทักษะสูง หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลาง

ประเทศไทยมีเด็กกลุ่มช้างเผือก (Resilient Student)  หรือเด็กที่มีฐานะยากจนในกลุ่ม 25 เปอร์เซ็นต์ล่างสุดของประเทศ แต่มีความรู้ความสามารถในระดับเทียบเท่ากับเด็กที่เรียนดีในกลุ่ม 25 เปอร์เซ็นต์สูงสุดประมาณ 3.3 เปอร์เซ็นต์ของเด็กกลุ่มยากจนหรือคิดเป็นจำนวนประมาณ 6,111 คน  จากการศึกษา OECD สำรวจเด็กช้างเผือกกลุ่มนี้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์มีความคาดหวังต้องการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งหากได้รับการสนับสนุน นั่นย่อมก่อให้เกิดความเป็นไปได้อย่างสูงในการสร้างแรงงานทักษะสูง และผลักดันให้พวกเขาเหล่านี้หลุดจากวงจรกับดักรายได้น้อย หรือปานกลางไปได้อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการที่เด็กกลุ่มช้างเผือกเหล่านี้ อาจหลุดออกนอกระบบการศึกษาทันที หากไม่ได้รับการสนับสนุนด้านทุนการศึกษา เพราะข้อเท็จจริงอันน่าเศร้าคือ เยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้อยู่ในกลุ่มต่ำสุด 20% แรกของประเทศมีโอกาสศึกษาต่อในระดับสูงกว่า ม.ปลาย เพียงร้อยละ 5 เท่านั้น

สนับสนุนเด็กช้างเผือก ช่วยขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจสังคมไทยในอนาคต

น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. เปิดเผยว่า ผลจากการวิจัยพบว่าการลงทุนส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับสูง เป็นการสร้างกำลังคนสายอาชีพที่มีคุณภาพและจะช่วยขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจและสังคมของไทยในอนาคต โดยให้ผลตอบแทนสูงกว่าร้อยละ 10 และให้ผลตอบแทนทั้งในส่วนบุคคลต่อสถานประกอบการ และต่อสังคม

หลายๆ ประเทศเริ่มลงทุนในลักษณะนี้ โดยเน้นส่งเสริมคนกลุ่มน้อย คนยากจน คนชายขอบให้ได้รับทุนการศึกษาอย่างเต็มที่ เพื่อให้พวกเขาสามารถ เลื่อนยกระดับทางสังคม (Social Mobility) โดยเชื่อว่าจะส่งผลถึงการขจัดความยากจนข้ามชั่วคนได้ (Generations) ในอนาคต

น.ส.ธันว์ธิดา ยกตัวอย่าง หนึ่งในทุนสร้างโอกาสทางการศึกษาที่เป็นต้นแบบการลงทุนสนับสนุนให้นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสที่มีศักยภาพได้ศึกษาต่อในระดับสูงให้ผลตอบแทนกลับสู่ประเทศไทยอย่างคุ้มค่า และเห็นผลเชิงประจักษ์มาแล้ว คือ  “ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ  ”  ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาหรือ กสศ.

น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ.

ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ กสศ.  ต้นแบบทุนสร้างโอกาสให้เด็กช้างเผือก

กสศ. ริเริ่มทุนพัฒนาเต็มศักยภาพสายอาชีพ  ซึ่งเป็นทุนแรกของรัฐบาลที่สนับสนุนให้เยาวชนช้างเผือกที่มีศักยภาพสูงและขาดแคลนทุนทรัพย์หรือด้อยโอกาส ระดับปวช.และปวส. ได้รับการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โท เอก ในสาขาที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใต้ประเทศไทย 4.0    โดยไม่ต้องใช้ทุนคืนหากเรียนจนจบการศึกษา และให้ความสำคัญกับระบบหนุนเสริมนักศึกษารายบุคคล (Individual Development) ทั้งทักษะวิชาการที่เป็นพื้นฐานการเรียนรู้ที่สำคัญ ทักษะในศตวรรษที่ 21 ทักษะชีวิต (Soft Skills and Life Skills)   อีกด้วย  ถือเป็นการพัฒนาต้นแบบเส้นทางการศึกษาสายอาชีพ (Pathway) ที่ต่อเนื่อง ทำนองเดียวกับประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษา เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์

“นักศึกษาเหล่านี้จะเติบโตเป็นต้นแบบบุคลากรสายอาชีพชั้นนำของประเทศ   เป็นผู้นำที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษารุ่นต่อไปประสบความสำเร็จ ยกระดับภาพลักษณ์การเรียนสายอาชีพ ที่สามารถเติบโตเป็น นักวิจัย ผู้ประกอบการ มีส่วนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้นได้ ไม่ใช่เพียงแค่ลูกจ้างเท่านั้น”

นักเรียนทุนฯ ผลงานเด่นดัง ถึงระดับประเทศ

ศักยภาพของนักศึกษาทุนพระกนิษฐาฯ ที่ผ่านมานั้น ทุกคนมีเกรดเฉลี่ยสะสมดีมาก GPAX ตั้งแต่ 3.00 – 3.99   และยังได้คิดค้นโครงงาน สิ่งประดิษฐ์  โดยได้เข้าร่วมและมีผลงานการประกวดนวัตกรรมอาชีวศึกษาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศ ทั้งในระดับภูมิภาคและประเทศ อาทิ การประกวดสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา ประเภทสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ผลงาน “เครื่องดูดรังนกด้วยระบบสุญญากาศ”  การแข่งขันทำโครงงานระดับชาติ ผลงาน “เครื่องแลกเหรียญ 2 ระบบอัตโนมัติ”   การประกวดสิ่งประดิษฐ์ทางเกษตรระดับภาค ด้านผลิตภัณฑ์อาหาร ผลงาน “ผลิตภัณฑ์อาหารชาใบขลู่เสริมสมุนไพร”   การประกวดสิ่งประดิษฐ์ทางเกษตรของคนรุ่นใหม่ระดับภาค ด้านผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ผลงาน “ทรีทเมนต์บำรุงผมรังไหม”

สำหรับแผนอนาคตนั้น พวกเขามีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะศึกษาต่อในระดับสูงกว่าระดับปริญญาตรีขึ้นไป โดยใฝ่ฝันอยากประกอบอาชีพเป็น นักวิจัย นักวิชาการ ครู/อาจารย์  (เช่น ด้านดิจิทัล ประมง เกษตร) เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา (เช่น วิศวกร โปรแกรมเมอร์) และเป็นเจ้าของกิจการ 

นอกจากนี้ในระหว่างเรียนนักศึกษาทุกคนยังมุมานะทำงานเพื่อช่วยเหลือครอบครัว เนื่องจากหนึ่งในสี่ของครอบครัวนักศึกษานั้นขาดเสาหลักของครอบครัวอย่างพ่อหรือแม่    โดยร้อยละ 36 ของครอบครัวนักศึกษาอยู่ในสถานะหย่าร้างหรือแยกกันอยู่ชั่วคราว    ขณะที่พ่อแม่ของนักศึกษาส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง รองลงมาเป็นเกษตรกร ค้าขาย และลูกจ้างในโรงงานหรือสถานประกอบการ และหลายคนว่างงานหรือถูกให้ออกจากงาน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19)

เมื่อนักศึกษากลุ่มนี้เรียนจบจะมีการศึกษาสูงกว่าพ่อและแม่ โดยพ่อแม่ของนักศึกษาทุนโดยส่วนมากจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือ ปวช. หรือต่ำกว่า ร้อยละ 92    ข้อมูลทุกมิติที่กล่าวมานี้ ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ของ กสศ. จะช่วยสร้างโอกาสทางการศึกษาที่จะนำไปสู่การยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจไม่เฉพาะส่วนบุคคลเท่านั้นแต่ยังจะส่งผลถึงครอบครัวในการออกจากความยากจน

กสศ.เปิดรับสมัครทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพรุ่นที่ 3

ทุนพระกนิษฐาสัมมาชีพ ของกสศ. อยู่ระหว่างเปิดรับสมัครรอบที่ 1ระหว่างวันที่ 15 – 30 เมษายน 2564  โดยผู้สมัครจะต้องเป็นผู้ที่กำลังจบการศึกษาระดับ ปวช. / ปวส.หรืออนุปริญญา มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 3.00  และกำลังเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีและได้รับการคัดเลือกศึกษาในระดับปริญญาตรีหลักสูตร 4 ปี หรือหลักสูตรต่อเนื่องหรือเทียบโอน 2 – 3 ปี ภาคปกติ ชั้นปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2564 ในสาขาที่เป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนาประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) หรือสาขาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science, Technology, Engineering, Mathematics: STEM) และเทคโนโลยีดิจิทัล  กรณีที่เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษามาแล้วไม่เกิน 3 ปี ต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรไม่ต่ำกว่า 3.00  ลูกจ้างพนักงานที่มีคุณสมบัตินี้สามารถสมัครขอรับทุนได้เช่นกัน

ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ผ่านเว็บไซต์ www.eef.or.th หรือโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม 02-079-5475 กด 4 ตามวันเวลาราชการ   

Related Posts

Send this to a friend