KNOWLEDGE

กสศ. เปิดตัว “Black Box” สื่อการเรียนรู้ ตัวช่วยเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา แนะ 3 แนวทางแก้ปัญหา “ปิดโรงเรียนแต่ไม่ปิดกั้นความรู้”

กสศ. เปิดตัว “Black Box” สื่อการเรียนรู้ ตัวช่วยเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา เผยผลกระทบจาก Covid Slide ปิดเรียนนาน ส่งผลต่อพัฒนาการการเรียนรู้และจิตใจ เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา พร้อมแนะ 3 แนวทางแก้ปัญหาปิดโรงเรียนแต่ไม่ปิดกั้นความรู้ที่ต้องทำก่อนปิดภาคเรียนนี้

วันนี้ (18 .. 64) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) แถลงข่าวเปิดตัว กล่องมอบการเรียนรู้ หรือ “Black Box” สื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่เกิดจากการร่วมมือกับสำนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี จัดทำขึ้นมาให้กับเด็กและเยาวชนในระบบการศึกษาที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการเรียนรู้ เป็นตัวช่วยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ต้องปิดโรงเรียน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงสูง 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด 

สำหรับ “Black Box” ยึดแนวคิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง แบบ Liquid Learning ลื่นไหล แทรกซึม เหนี่ยวนำ โดยจะทำให้การเรียนรู้เป็นอิสระจาก 4 สิ่ง ได้แก่ ห้องเรียน เวลา บุคคล และตัวชี้วัด โดยจุดเด่นของ Black Box คือ บทเรียนที่สามารถเลือกเวลาเรียนเองได้ เลือกเรียนตามความสนใจ ไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับ เป็นชุดบทเรียนที่บูรณาการจากวิชาต่าง ๆ ตามความจำเป็นในชีวิตประจำวัน เชื่อมโยงความสนใจจากเรื่องราวรอบตัว แม้จะเป็นชุดข้อมูลเหมือนกัน แต่เมื่อเด็กได้ปฏิบัติด้วยตัวเองแล้ว จะพบความหลากหลายทางความคิด และได้คำตอบไม่เหมือนกัน ทำให้เกิดสีสันในการเรียนรู้ เกิดการถกประเด็นกันเมื่อเด็กกลับมาเจอกันตอนโรงเรียนเปิดอีกครั้ง

กล่องมอบการเรียนรู้ หรือ “Black Box”

จำนวนวิชาใน Black Box จะมีทั้งหมด 12 วิชา ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จไป 3 วิชา ได้แก่ นวัตกรรมและเทคโนโลยี สังคมและมนุษยชน และวิทยาการวิจัย ส่วนวิชาสัมมาชีพศึกษา คาดว่าจะแล้วเสร็จเป็นวิชาต่อไป อีกทั้งยังสามารถเรียนแบบออฟไลน์ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก แต่สิ่งสำคัญที่สุดของ Black Box คือ การนำไปใช้งานของครู ซึ่งผู้ผลิตคาดหวังให้เป็นต้นแบบ เพื่อที่ครูจะนำแนวคิดนี้มาใช้โดยใส่จิตวิญญาณความเป็นครู และต่อยอดเพื่อสร้าง Black Box ของตนเองในอนาคตได้ 

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เปิดเผยงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจาก COVID Slide ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการปิดของโรงเรียน โดยงานวิจัยของสถาบัน NWEA ในสหรัฐอเมริกาพบว่า นักเรียนที่ต้องอยู่บ้านเป็นเวลานานทำให้ความรู้วิชาคณิตศาสตร์ลดลงถึง 50% และความรู้การอ่านลดลง 30% เกิดจากนักเรียนชนกลุ่มน้อยไม่ได้เรียนโดยใช้ภาษาแม่เป็นหลัก กับนักเรียนที่ฐานะดี แต่เมื่อต้องอยู่หน้าจอเป็นเวลานาน ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและการพัฒนาทางอารมณ์และสังคม สอดคล้องกับงานวิจัยของสถาบัน MIT ที่พบว่า การเรียนผ่านเทคโนโลยีอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการเรียนรู้ เช่น ขาดโภชนาการที่ดี ทักษะการเข้าสังคม บริการสังคม หรือการสอนที่ไม่เหมาะสมกับวัย 

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษาสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ส่วนในประเทศไทย ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าวว่ายังไม่ได้รับผลกระทบเรื่อง COVID Slide แต่มีแนวโน้มจะเกิดความเหลื่อมล้ำได้เช่นกันใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ ปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษา กับ ภาวะถดถอยของพัฒนาการเรียนรู้และสุขภาวะของเด็กและเยาวชนกลุ่มเสี่ยงในระบบการศึกษา โดยเฉพาะเด็กยากจนด้อยโอกาส พื้นที่ห่างไกล เด็กพิการ เด็กที่ต้องการการศึกษาเป็นพิเศษ ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำการศึกษาระหว่างเมืองและชนบทยิ่งขึ้นมากกว่า 2 ปีการศึกษา และส่งผลระยะยาวต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ จนเกิดวงจรความยากจนในรุ่นต่อ ๆ ไป 

ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ขณะที่ ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เผยว่า สถิติความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของกลุ่มเด็กยากจนใน 3 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มดีขึ้น โดยใช้การวัดความสูงและน้ำหนักเทียบกับอายุ  อีกทั้งอัตราการขาดเรียนก็ลดลงเช่นกัน แต่การระบาดของโควิดระลอกใหม่ที่ทำให้สถาบันการศึกษาหลายแห่งต้องปิดลง หากนับภาคเรียนที่ 1 และ 2 ในปีการศึกษา 2563 นั้น มีการปิดเรียนไป 3 เดือน จากเวลาเรียนปกติ 8 เดือน คิดเป็น 40 % โดยใน 28 จังหวัด ที่มีการปิดโรงเรียน พบว่ามีนักเรียนที่ไม่ได้ไปโรงเรียน 2,375,187 คน เป็นเด็กยากจนที่มีรายได้ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อเดือน 130,361 คน และเด็กยากจนพิเศษที่มีรายได้ต่ำกว่า 1,200 บาทต่อเดือน 143,507 คน

ดังนั้น กสศ. จึงมีข้อเสนอ 3 มาตรการในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีการศึกษา ที่จะช่วยลดปัญหาที่จะเกิดจากโควิด-19 ได้ คือ 1.เมื่อ 1 .. เปิดเรียนปกติ ให้ประเมินร่างกายและการเรียนรู้เป็นรายบุคคล ความพร้อมในการเรียนที่บ้านและสภาพจิตใจว่าเป็นอย่างไร 2.ก่อนปิดภาคเรียน ให้มีจัดการสอนเสริม หากพบว่าผู้เรียนมีพัฒนาการถดถอย 3.อุดช่องว่างรอยต่อของการศึกษา เชื่อมโยงเด็กทุกคนให้มีที่เรียนต่อด้วยระบบส่งต่อ โดยเฉพาะช่วง ป.1 .1 และ ม.4/ปวช. หากทำได้เชื่อว่าจะบรรเทาความเสี่ยงทั้งหมด 

ดร.ไกรยศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์โควิด-19 อาจเป็นผลดีที่ทำให้ผู้ใหญ่ต้องเปลี่ยนความคิดตัวเองใหม่ จากเดิมที่เด็กต้องเข้าหาการศึกษา ให้เปลี่ยนเป็นการทำให้การศึกษาเข้าไปหาเด็กทุกกลุ่มแทน เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและยั่งยืน 

ด้าน นางอรอุมา แจ่มเจ็ดริ้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านอ้อมโรงหีบ จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นโรงเรียนในพื้นที่สีแดงเข้ม กล่าวว่า ในโรงเรียนมีเด็กกลุ่มยากจนจำนวน 47 คนจาก 423 คน ที่ไม่สะดวกในการเรียนออนไลน์ ทั้งนี้ จากผลการสำรวจความต้องการของผู้ปกครองในการจัดกาเรียนการสอนออนไลน์ พบว่ากว่า 95% ต้องการให้เรียนโดยใช้แบบฝึกหัด ดังนั้น ตอนนี้ข้อจำกัดที่สุดของโรงเรียนคือ สื่อการเรียนรู้  จึงต้องปรับตัวทั้งครู นักเรียนและผู้ปกครอง โดยเบื้องต้น หากนักเรียนคนไหนไม่พร้อมเรียนออนไลน์ก็จะให้แจ้งครูที่ปรึกษา ส่วนผู้สอนก็ได้กำหนดบทบาทการติดตาม การสอนนักเรียนอย่างชัดเจน ส่วนการที่นำ Black Box มาใช้ถือว่าได้ผลดีอย่างมาก เพราะประยุกต์ได้ทุกกลุ่มสาระ อีกทั้งยังเพิ่มทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง ต้องขอบคุณ กสศ. และมหาวิทยาลัยศรีปทุมที่ได้ผลิตสิ่งนี้ขึ้นมา

นอกจากนี้ กสศ. ยังได้มอบถุงยังชีพสู้วิกฤตให้น้องอิ่มจำนวน 15,000 ถุง แก่เด็กและเยาวชนขาดโอกาสที่อยู่นอกระบบการศึกษาใน 28 จังหวัดตามประกาศควบคุม โดย ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และรศ.ดร.ธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีปทุม ฯ และคณะ ร่วมกันส่งมอบ Black Box และถุงยังชีพ ให้กับบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (Kerry Express) เพื่อเป็นผู้ดำเนินภารกิจการขนส่งไปสู่แต่ละโรงเรียน

Related Posts

Send this to a friend