FEATURE

กินอาหารกลุ่มบำรุงสมอง ช่วยต้านภาวะซึมเศร้าได้

อาหารนอกจากช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรง ยังสามารถต้านซึมเศร้าได้เช่นเดียวกัน เพราะภาวะซึมเศร้า ที่นำไปสู่โรคซึมเคร้านั้น เกิดขึ้นที่สมอง ดังนั้นหากเราเลือกกลุ่มสารอาหาร ที่บำรุงสมองให้แข็งแรง ไม่เพียงทำให้เรามีพลังที่พร้อมที่จะดำเนินชีวิต แต่ทว่ายังทำให้เรามีสติ ในการค้นหาสาเหตุ ที่กระตุ้นภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

เช่น การที่หลายคนเกิดภาวะน้อยเนื้อต่ำใจ จากการที่เห็นเพื่อนโพสต์ อวดหรูอยู่แพงในโลกโซเชียล ที่กระตุ้นให้เราทำตามและนำมาซึ่งการดำเนินชีวิต ที่ยึดติดวัตถุนิยม เนื่องจากขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ดังนั้นถ้าเราเข้าใจภาวะหดหู่ ที่มีสาเหตุจากปัจจัยดังกล่าวอย่างรู้เท่าทัน หรือ การรู้จักพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี นั่นถือว่าเป็นการสร้างพลังบวก ให้กับตัวเองรับกับภาวะซึมเศร้าได้ ดังนั้นสารอาหารในกลุ่มอาหารบำรุงสมอง จึงถือเป็นตัวช่วยหนึ่งที่เพิ่มพลังสติและความคิด ทำให้เรารู้จักหาเหตุผล และอยู่กับความจริง โดยไม่นำอารมณ์มาอยู่เหนือเหตุผล โดยเฉพาะความรู้สึกอยากมีอยากได้เหมือนเพื่อน นั่นจึงทำให้ไม่เกิดอารมณ์เศร้าและหดหู่ เมื่อเรามีไม่เท่าเพื่อน

The Reporters ได้สอบถามไปยัง “แววตา เอกชาวนา” นักกำหนดอาหารวิชาชีพอิสระ และที่ปรึกษาโครงการกินผักและผลไม้ดีวันละ 400 กรัม จาก สสส.ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารต้านซึมเศร้า โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยสารสื่อประสาท ที่ทำให้ระบบประสาทในสมองทำงานได้อย่างเป็นปกติดี อาทิ อาหารที่อุดมไปด้วยสารเซโรโทนิน หรือสารแห่งความสุข ที่ป้องกันสมองไม่ให้อ่อนล้าหดหู่ และยังกระตุ้นให้สมองกลับมากระชุ่มกระชวย เพราะอย่าลืมว่าถ้ากินอาหารดี ร่างกายดี สมองก็จะแข็งแรง และทำให้มีสติสามารถปรับตัว และอยู่กับสิ่งแวดล้อรอบตัวได้ดีเช่นกัน

แววตา กล่าวว่า “อาหารบำรุงสมองกลุ่มแรก คือ อาหารที่อุดมไปด้วยสารสื่อประสาท ที่ช่วยทำให้สมองทำงานได้ดี เช่น “อาหารที่มีสารเซโรโทนิน” ที่ช่วยป้องกันสมองอ่อนล้าและหดหู่ อีกทั้งทำให้สมองกลับมากระชุ่มกระชวย นั่นจึงช่วยลดอาการซึมเศร้าลงได้ เช่น ไข่,เนื้อสัตว์,ถั่วเหลือง,เต้าหู้,สับปะรด,ปลาแซลมอน,ชีส,อัลมอนด์,วอลนัท,แมคคาเดเมีย เป็นต้น นอกจากนี้สารสื่อประสาทที่อยู่ในอาหาร ที่สำคัญอีกอย่าง ซึ่งช่วยให้สมองทำงานได้อย่างดี คือ “กรดอะมิโนทริปโตเฟน” ที่อยู่ใน กล้วยหอม,นม,น้ำเต้าหู้,เต้าหู้เหลือง,เนื้ออกไก่,เนื้อหมู ส่วนผลไม้ที่มีกรดอะมิโนทริปโตเฟน คือ ทับทิม แนะนำให้กินอาหารเหล่านี้เป็นประจำ ก็จะช่วยลดอาการซึมเศร้าลงได้

นอกจากนี้ “ธาตุเหล็ก” ก็เป็นสารอาหารที่ทำให้สมองทำงานดี ที่สำคัญธาตุเหล็กยังนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายรวมถึงสมอง เพราะอย่าลืมว่าภาวะซึมเศร้า มักจะเกิดขึ้นที่สมองเป็นตัวสำคัญ ดังนั้นอาหารที่มีธาตุเหล็ก ได้แก่ ผักที่มีสีเขียวจัด เช่น ผักคะน้า,ผักบุ้ง,ผัก กุยช่าย,ผักกระเฉด,ผักโขม หรือหน่อไม้ฝรั่งที่มีธาตุเหล็กสูง ส่วนผลไม้ที่มีธาตุเหล็ก ได้แก่ ลูกหม่อน หรือมัลเบอร์รี่ และสตอเบอร์รี่ เป็นต้น ทั้งนี้แนะนำให้ผู้ที่กำลังรู้สึกตัวเองว่า มีอาการซึมเศร้าหดหู่ แนะนำให้รับประทานข้าวที่มีสีแดงเข้ม เช่น ข้าวหอมมะลินิล,ข้าวสังข์หยด,ข้าวกล้อง แต่ถ้าเรากินข้าวเหล่านี้อยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ก็แนะนำให้รับประทานร่วมกับผักผลไม้ที่มีธาตุเหล็กสูง ก็จะช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ทางหนึ่ง

ไล่มาถึงสารอาหารที่สำคัญอย่าง “โฟเลต” ที่ประกอบด้วยวิตามินบี ที่ทำหน้าที่ช่วยบำรุงสมอง และทำให้สมองทำงานได้เป็นอย่างดีเช่นกัน ทั้งนี้วิตามินบีที่อยู่ในสารโฟเลตนั้น จะอยู่ในผลไม้อย่าง แคนตาลูป หรือส้ม ที่อุดมไปด้วยสารโฟเลตค่อนข้างเยอะ เช่นเดียวกับผู้หญิงตั้งครรภ์ ที่จำเป็นต้องบริโภคอาหาร ที่อุดมไปด้วยสารโฟเลต เพื่อบำรุงสมองของลูกในครรภ์

ที่ขาดไม่ได้คือ “แร่ธาตุสังกะสี” ส่วนใหญ่จะอยู่เมล็ดทานตะวัน,หอยนางรม,หอยแมลงภู่ และหากผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าและเป็นไขมันในเส้นเลือด หรือคอเลสเตอรอลสูง ก็แนะให้เลี่ยงอาหารกลุ่มนี้ แต่ให้บริโภค “อาหารที่มีโอเมก้า 3” ที่พบได้ในเนื้อปลานิล,ปลาช่อน,ปลากะพงทะเล เพราะอาหารที่อุดมไปด้วยโอเมก้า 3 นั้นจะช่วยบำรุงสมอง รวมถึง “วิตามินบี 6” ที่อยู่ในกล้วยหอม ซึ่งวิตามินบี 6 จะช่วยคลายความกังวลได้ ที่สำคัญน้ำตาลในกล้วยหอม จะไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นแต่อย่างใด เมื่อเรารับประทานเข้าไป นอกจากนี้ “การดื่มน้ำให้เพียงพอ” ก็ช่วยลดภาวะซึมเศร้าได้ เพราะการที่สมองของเราสดชื่น ก็จะช่วยลดอาการปวดหัว วิงเวียน เพราะอาการเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้ร่างกายรู้สึกเครียด และตามด้วยอารมณ์ซึมเศร้าหดหู่นั่นเอง

อาหารบำรุงสมอง ช่วยร่างกายพร้อม รับมือภาวะซึมเศร้าจากโลกออนไลน์ ด้วยการใช้สติเรียกความเชื่อมั่น ไม่ตกเป็นเหยื่อวัตถุนิยม

“คำถามที่ว่าโลกเซียลมีส่วน ในการกระตุ้นภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้าได้หรือไม่นั้น ต้องบอกว่าทั้งมีและไม่มีส่วน เนื่องจากภาวะซึมเศร้ามีหลายระดับ เช่น ถ้าเราน้อยเนื้อต่ำใจว่าเรามีไม่เท่าเพื่อน หรือไม่มีกระเป๋าแบรนด์เนมเหมือนเพื่อน ตรงนี้โลกโซเชียลกระตุ้นภาวะซึมเศร้าได้ เนื่องจากเราไม่มีพลังบวกในตัวเอง หรือขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของวัตถุนิยม ก็สามารถเป็นโรคซึมเศร้าได้ หากปล่อยความคิดดังกล่าว ให้อยู่ตัวเองไปนานๆ หรือกรณี เช่น ผู้หญิงที่แท้งบุตร และเห็นภาพของเพื่อนที่โพสต์รูปครอบครัวอบอุ่น ดังนั้นถ้าผู้หญิงคนดังกล่าวมีปมในใจ หรือเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอยู่แล้ว ก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน หรือกระตุ้นโรคซึมเศร้าที่เป็นอยู่ให้ดำเนินมากขึ้น ตรงนี้อาจจำเป็นต้องได้รับ การรักษากับจิตแพทย์โดยตรง เพื่อนำมาสู่การรักษา หรือแนะนำแนวทางที่เหมาะสม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี”

“แต่หากกรณีแรกคือภาวะซึมเศร้า จากการรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจนั้น การที่เราทำให้สมองของเราอิ่ม โดยการบริโภคสารอาหารที่ช่วยบำรุงสมอง ก็ถือเป็นการทำให้ร่างกายของเราพร้อม เมื่อสมองพร้อม จะทำให้เรามีสติในการคิดวิเคราะห์ และหาความจริงได้ว่า ชีวิตที่มีความสุขคือการพอใจในสิ่งที่เรามี เราไม่จำเป็นต้องวิ่งตามเพื่อน เพราะผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าจากโลกออนไลน์ ที่เกิดจากการเห็นผู้อื่นอยู่ดีมีสุขนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดจากอารมณ์มากกว่าเหตุผล ดังนั้นถ้าเตรียมร่างกายให้พร้อม ด้วยสารอาหารที่บำรุงสมอง ก็จะสามารถรับมืออารมณ์ซึมเศร้าได้ หรือพูดง่ายๆว่าเรามีสุขภาพที่ดี ก็จะสติที่สมบูรณ์ ไม่นำอารมณ์เป็นที่ตั้ง มากกว่าเหตุผล เมื่อนั้นภาวะอยากมีอยากได้ก็จะน้อยลง และความเครียดต่างๆก็จะลดลง และภาวะซึมเศร้าก็หายไปเช่นกัน”

Related Posts

Send this to a friend