FEATURE

รู้จักเทรนด์ Work-Life Balance บริหารจัดการเรื่องงาน-ชีวิตอย่างสมดุล

เทรนด์เวิร์คไลฟ์บาลานซ์ (Work-Life Balance) ถือเป็นไลฟ์สไตล์ การทำงานของคนเจน Z เพราะคนยุคนี้ไม่ใช่แค่ชอบความท้าทายในการใช้ชีวิต แต่ยังเน้นเรื่องการสร้างสมดุลให้การทำงาน และชีวิตส่วนตัวไปพร้อมๆกัน พูดง่ายๆว่าเมื่อทำงานแล้ว ก็ต้องหาเวลาในการพักผ่อน ด้วยการท่องเที่ยว ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันการทำงานหนักมากเกินไป อีกทั้งการได้เปิดหูเปิดตา ในสถานที่ต่างๆ ไม่เพียงเป็นการผ่อนคลายจากงานหนัก แต่ทว่ายังสร้างพลังบวก เพื่อนำมาต่อยอด เพื่อพัฒนางานให้ดียิ่งๆขึ้นไปได้ ซึ่งต่างจากคนยุคก่อน ที่เน้นทำงานเก็บเงิน เพื่อเป็นหลักประกันชีวิต ซึ่งทำให้คนรุ่นใหม่มองว่า ใช้ชีวิตแบบขาดสีสัน เพื่อให้การเวิร์คไลฟ์บาลานซ์ เป็นไปอย่างรอบด้าน

The Reporters ได้สอบถามไปยัง “อาจารย์ภัททกา เสงี่ยมเนตร” อาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชาทั่วไป หมวดสังคมศาสตร์ และการฝึกงานวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเทรนด์ ในการทำงานของคนเจน Z เพื่อให้ความสุขในการใช้ชีวิต อีกทั้งเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการท่องเที่ยว เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการทำงาน ที่ต้องเป็นไปอย่างรับผิดชอบสังคม พร้อมกับวิธีรับมือกับปัญหา คนรุ่นใหม่เปลี่ยนงานบ่อย ทั้งนี้เพื่อหาข้อสรุปในการทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะองค์กรยุคใหม่ ที่ประกอบด้วยคนหลากหลายเจเนอเรชัน เพื่อร่วมกันพัฒนาองค์กร ให้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อาจารย์ภัททกา กล่าวว่า “ถ้าพูดถึงเทรนด์การทำงานแบบเวิร์คไลฟ์บาลานซ์ ของคนรุ่นใหม่นั้น เกิดจากการที่เด็กยุคเจน Z เห็นพ่อแม่ทำงานหนักเพื่อเก็บออมเงิน อีกทั้งไม่ได้ท่องเที่ยวเพื่อหาประสบการณ์ในชีวิต ดังนั้นจึงมองว่าผู้ใหญ่ อาจจะไม่มีความทรงจำที่ดี หรือขาดสีสันในการใช้ชีวิต จึงทำให้คนเจเนอเรชันนี้ เลือกที่จะทำงานแบบมีความสุข คือทั้งการมีรายได้ที่ดี ควบคู่ไปกับการใช้ชีวิตอย่างมีอิสระ ผ่านการท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ อีกทั้งการหาเวลาไปพักผ่อนระหว่างทำงาน นอกจากลดความเครียดแล้ว ประสบการณ์จากการเดินทาง ยังสามารถนำมาพัฒนางานที่ทำอยู่ได้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในการทำงาน เพราะอย่าลืมว่าการท่องเที่ยว ไม่ใช่แค่การสร้างความผ่อนคลาย แต่ยังเป็นการเพิ่มการเรียนรู้ให้กับคนทำงาน เช่น การท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติ หรือชุมชนที่มีเอกลักษณ์ต่างๆ ที่นำมาเป็นไอเดียในการพัฒนางาน หรือ ทำให้ความคิดกว้างขึ้น จากการได้เห็นสิ่งแปลกใหม่ในสถานที่ต่างๆ ทั้งคน สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม เป็นต้น”

“แต่ทั้งนี้การท่องเที่ยว จะต้องแป็นไปอย่างรับผิดชอบสังคม หรือไม่ทำให้ใครเดือดร้อน เช่น การไม่ทิ้งงานให้เพื่อนร่วมงานรับผิดชอบ หรือ เที่ยวอย่างเดียวโดยไม่สนใจงาน กรณีที่งานเกิดปัญหา ในช่วงที่เราลาหยุดงาน นอกจากนี้ควรทำงานไว้ล่วงหน้า เพื่อเป็นสต๊อกงาน กรณีที่งานบางชนิดผิดพลาด และเกิดใช้งานไม่ได้ ก็สามารถนำชิ้นงานดังกล่าวมาใช้แทนได้ หรือไม่เที่ยวจนกระทั่งส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่าย เมื่อต้องกลับไปทำงานต่อ”

คนรุ่นใหม่ใช้ชีวิตสมดุล ทั้งการทำงานและชีวิตส่วนตัว…อย่าลืมเก็บออม

สิ่งที่จะทำให้เวิร์คไลฟ์บาลานซ์ในการทำงาน ของคนรุ่นใหม่เป็นไปอย่างสมดุลนั้น การเก็บออมเงินเป็นเรื่องที่สำคัญ แนะนำว่าคนรุ่นใหม่ที่เริ่มทำงาน ควรเก็บออมเงินให้ได้ประมาณ 30 % ของรายได้ทั้งหมด ในลักษณะของการออมก่อนใช้ เพื่อให้มีเงินในการดูแลตัวเองเมื่ออายุมากขึ้น และนอกจากการเก็บเงินด้วยตัวเองแล้ว ภาครัฐก็ต้องเข้ามาช่วย เรื่องสวัสดิภาพด้านการรักษาพยาบาล ที่นอกจากสิทธิประโยชน์บัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ปัจจุบันช่วยได้ค่อนข้างมาก แต่ควรมีสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล ที่มากขึ้นกว่านี้อีก เช่น จัดให้มีบ้านพักสำหรับคนชรา รองรับสังคมสูงวัย และมีแพทย์พยาบาลคอยดูแล รวมถึงมีกิจกรรมสำหรับผู้สูงวัย รวมถึงเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่เริ่มต้นที่เดือนละ 600 บาทนั้น ก็ควรมากกว่านี้ เพราะหากภาครัฐจ่ายเบี้ยยังชีพ เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณในอัตราเริ่มที่ 600 บาท พูดง่ายๆว่าคนรุ่นใหม่ที่เก็บเงินด้วยตัวเอง ก็น่าจะได้มากกว่านี้ และส่วนหนึ่งควรใช้เงินที่เก็บออมของตัวเอง สำหรับไปท่องเที่ยว เมื่อเข้าสู่วัยหลัก 6 แทนที่จะใช้เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยของตัวเอง หรือต้องจ่ายเงินเองเมื่อไม่สบายค่ะ”

สร้างความสุขคนเจน Z เลือกงานให้ตรงความชอบ-ความสามารถ ระบบฝึกงานสายธุรกิจที่หลากหลาย ช่วยคนรุ่นใหม่หาตัวเองเจอ

“สิ่งที่จะช่วยทำให้คนเจน Z มีความสุข ในการทำงานยุคเวิร์คไลฟ์บาลานซ์นั้น ต้องเริ่มจากการเลือกงาน ให้ตรงกับความสามารถและความชอบของเรา หรือมีใจรักในงานที่ทำ เพราะจะทำให้นักศึกษาทำงานได้ดี ดังนั้นจึงต้องหาตัวเองให้เจอ ว่าเหมาะกับอะไรและชอบอะไรมากที่สุด เช่น การที่วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกงาน ประกอบกับนักศึกษาของเรา จะเรียนวิชาสังคมศาสตร์เป็นหลัก ซึ่งตรงนี้จะทำให้นักศึกษามีหลัก ในการเรียนรู้ด้านสังคม และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอยู่แล้ว นอกจากนี้เรายังได้เปิดโอกาส ในการฝึกงานในสายงานทางด้านธุรกิจสาขาต่างๆซ้ำ 1-2 ครั้ง เพื่อให้นักศึกษารู้ว่าชอบอะไรไม่ชอบอะไร บวกกับพื้นฐานทางด้านสังคมที่มีอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างในการเริ่มฝึก ให้ผู้ที่จะจบการศึกษาออกไป รู้ว่าตัวเองชอบอะไร และเลือกทำงานให้ตรงกับความชอบมากที่สุด ซึ่งไม่เพียงทำให้คนรุ่นใหม่ มีความสุขในการทำงาน เพราะหาตัวเองเจอ แต่ยังช่วยลดการเปลี่ยนงานบ่อยได้ทางหนึ่งค่ะ”

รับมือเด็กรุ่นใหม่เปลี่ยนงานบ่อย เน้นพูดคุย-สะท้อนปัญหา และหาทางออกร่วมกัน

“ขอยกตัวอย่างการเรียนการสอน ของวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เน้นให้นักศึกษาเข้าใจแนวคิดของคนในแต่ละเจเนอเรชัน เช่น การที่อาจารย์ตั้งโจทย์ เพื่อให้นักศึกษารวมกลุ่มกันดีเบตกัน เกี่ยวกับสถานที่ทำงานซึ่งมีคนหลากหลายวัย ซึ่งวิธีนี้จะทำให้นักศึกษาได้นั่งอยู่ในทุกเจเนอเรชัน ซึ่งจะทำให้รู้ว่าคนแต่ละช่วงวัยนั้น มีความต้องการอย่างไร และมักจะรู้สึกอย่างไร แต่สิ่งสำคัญที่สุดนั้น การพูดคุยหรือสื่อสารกัน จะทำให้เราสามารถหาข้อตกลงร่วมกัน และนำมาซึ่งทางออก ที่เป็นไปด้วยความเข้าใจ ของทุกฝ่ายของคนในองค์กรค่ะ”

“อย่าลืมว่าบริษัทต่างๆ ที่รับเด็กรุ่นใหม่เข้าทำงาน เพราะชอบที่เด็กรุ่นใหม่รักความท้าทาย กล้าคิด กล้าพูด และกล้าทำ แต่ขณะเดียวกันเด็กก็จะมักใจร้อน หากรู้สึกไม่ชอบใจหรือไม่เห็นด้วยก็จะแสดงออกมา ที่สำคัญคนทำงานยุคใหม่ก็ไม่ต้องการ จะอยู่ทำงานในบริษัทจนเกษียณ จากคุณสมบัติดังกล่าวนั้น โดยเฉพาะการชอบความท้าทาย งานที่มอบหมายให้คนเจเนอเรชันนี้ทำ ก็จะต้องมีความท้าทายเช่นกัน ที่สำคัญต้องไม่มองข้ามความคิดของเด็กรุ่นใหม่ แต่ต้องให้เขาได้แสดงความคิดออกมา โดยปราศจากการจับผิด หรือไล่ให้เขาจนมุม เมื่อนั้นเขาจะมีไอเดีย โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในบรรยากาศ ที่ต้องแสดงความคิดเห็น และเมื่อไอเดียของเขา จะพรั่งพรูออกมาอย่างมหาศาล ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานค่ะ หรือเมื่อเกิดปัญหาในการทำงานขึ้น สิ่งที่จะรับมือเด็กรุ่นใหม่เปลี่ยนงานได้ดีที่สุด คือ การพูดคุยกันด้วยเหตุและผล ซึ่งจะทำให้องค์กรได้ทราบปัญหา และเลือกใช้วิธีการหมุน เปลี่ยน หรือย้ายงาน เพื่อให้ตรงกับความสามารถ และความชอบมากที่สุด พูดง่ายๆว่าเป็นการหาทางออกร่วมกัน เพื่อพัฒนางานค่ะ”

Work-Life Balance ในการทำงานที่ดี ไม่ใช่แค่ความสมดุลในการทำงาน และการใช้ชีวิต แต่ทว่ายังต้องมองให้รอบด้าน ทั้งการเลือกงานให้ตรงกับความชอบ และความสามารถ การเก็บออมเงิน และสวัสดิการจากภาครัฐที่ควรเข้ามาเสริม เพื่อซัพพอร์ตให้การทำงานคนเจน Z นั้น เป็นไปด้วยความสุขและยั่งยืน โดยเฉพาะเมื่อคนวัยนี้มีอายุมากขึ้น…จริงไหมคะ

Related Posts

Send this to a friend