เปิดเส้นทางประธานบอร์ด อสมท.หลังมีหนังสือแจ้งไปยัง รมต.ที่กำกับดูแล ให้ใช้อำนาจตามกฏหมายในการตรวจสอบ อสมท.
ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียแล้ว ที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะสั่งให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท.ปมแบ่งเงินเยียวยาค่าคลื่น 2600 เมกกะเฮิร์ต ให้บริษัทเอกชนคู่สัญญาครึ่งหนึ่ง เมื่อประธานบอร์ด บมจ.อสมท กระโดดออกมาปกป้องกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท อย่างสุดกำลัง
วานนี้ (17 มิถุนายน 2563) พล.ต.ท.จตุพล ปานรักษา ประธานคณะกรรมการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือ ประธานบอร์ด บมจ.อสมท ได้ทำหนังสือถึง นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแล บมจ.อสมท เพื่อชี้แจงข้อร้องเรียน ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.อสมท. ที่ร้องเรียนไปยังนายเทวัญ ก่อนหน้านี้ ให้ตรวจสอบกรณีที่นายเขมทัต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท. ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ให้แบ่งเงินค่าชดใช้หรือค่าตอบแทนในการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ 2600 เมกกะเฮิร์ต หรือเรียกสั้นๆ ว่าเงินเยียวยาค่าคลื่น ที่จะจ่ายให้ บมจ.อสมท นั้น ให้แบ่งให้เอกชนคู่สัญญา คือบริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด ในจำนวนเท่าๆ กัน
เนื้อหาในหนังสือชี้แจง ฉบับดังกล่าว ยกข้อกฎหมายหลายฉบับ เพื่อพยายามชี้ให้เห็นว่า บมจ.อสมท อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และอยู่ใต้กฎหมายอื่น ส่วนสหภาพฯ อสมท มีหน้าที่เพียงรักษาสิทธิประโยชน์ของพนักงาน ไม่มีอำนาจก้าวล่วง หรือตรวจสอบการบริหารงานของฝ่ายบริหาร ดังนั้น บมจ.อสมท จะสามารถดำเนินการตามที่นายเทวัญ ร้องขอได้ หากดำเนินการตามกฎหมายและกระบวนการที่ถูกต้อง
ความหมายของหนังสือฉบับนี้ ทำให้เข้าใจได้ว่า ประธานบอร์ด บมจ.อสมท ไม่สามารถตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบสวนผู้อำนวยการ บมจ.อสมท ตามที่นายเทวัญ แถลงข่าวเมื่อวาน 17 มิถุนายนได้ เพราะ บมจ. อสมท อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ อยู่ภายใต้กฎหมายอื่น อีกทั้งเรื่องนี้นายเทวัญรับเรื่องร้องเรียนมาจาก สหภาพฯ อสมท ซึ่งประธานบอร์ด บมจ.อสมท อ้างในหนังสือฉบับนี้ว่า สหภาพฯ อสมท. ไม่มีอำนาจก้าวล่วงการบริหารงานของฝ่ายบริหาร บมจ.อสมท.
ท่าทีของประธานบอร์ด บมจ.อสมท. จึงถูกตั้งคำถามจากสหภาพแรงงานฯ และผู้ที่ติดตามข่าวนี้อยู่พอสมควร คำตอบอาจจะอยู่ในตัวอักษรนับจากบรรทัดต่อจากนี้
เปิดเส้นทางบอร์ด อสมท.
พล.ต.ท.จตุพล ปานรักษา เป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 เกษียณอายุราชการเมื่อกันยายน 2560 จัดได้ว่าเป็นนายตำรวจที่ใกล้ชิดอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนหนึ่ง
พล.ต.ท.จตุพล ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นบอร์ด บมจ.อสมท ตามมติที่ประชุมบอร์ด ประจำเดือนพฤศจิกายน 2562 พร้อมกับกรรมการใหม่อีก 2 คน คือ นายสมหมาย ลักขณานุรักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ซึ่งเป็นผู้แทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี และนางรัชดาภรณ์ ราชเทวินทร์ โดยทั้ง 3 คน เข้ามาแทนวาระของนางภัทรียา เบญจพลชัย นายวีรศักดิ์ โฆษิตไพศาล และนายจิรชัย มูลทองโร่ย บอร์ดที่พนักงาน อสมท เรียกอย่างเต็มปากว่าเป็นบอร์ดน้ำดี ซึ่งต่างเกษียณอายุ ครบ 65 ปี
มีรายงานว่าในวันประชุมบอร์ด ประจำเดือนธันวาคม 2562 ก่อนเข้าห้องประชุม นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท ได้แจ้งกับนายธวัชชัย อรัญญิก รักษาการประธานบอร์ด บมจ.อสมท ในขณะนั้น ว่า นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกระทรวงที่กำกับดูแล บมจ.อสมท ได้เห็นชอบอย่างไม่เป็นทางการให้ พล.ต.ท.จตุพล เป็นประธานบอร์ดพร้อมทั้งเสนอให้มีการพิจารณาวาระการแต่งตั้งประธานบอร์ดเป็นวาระจร
ในการประชุมบอร์ด ประจำเดือนธันวาคม 2562 พล.ต.ท.จตุพล พร้อมบอร์ดใหม่อีก 2 คน ที่ได้รับการแต่งตั้ง ได้เดินทางเข้าร่วมประชุมบอร์ดที่ บมจ.อสมท ครั้งแรก และในการพิจารณาวาระจร เรื่องการแต่งตั้งประธานบอร์ด ตามที่นายเขมทัตต์ พลเดช ได้เสนอเป็นวาระเร่งด่วน นายสมหมาย ลักขณานุรักษ์ ได้รับลูกต่อ โดยเสนอชื่อ พล.ต.ท.จตุพล เป็นประธานบอร์ด และที่ประชุมบอร์ดได้มีมติเห็นชอบให้เสนอชื่อ พล.ต.ท.จตุพล เป็นประธานบอร์ด บมจ.อสมท และให้ฝ่ายบริหารดำเนินการในขั้นตอนการสรรหากรรมการ และประธานกรรมการรัฐวิสาหกิจ ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยมีขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการในการแต่งตั้งประธานบอร์ด ดังนี้
1. เสนอชื่อ พล.ต.ท.จตุพล เป็นประธานบอร์ด อสมท ให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจ พิจารณาให้ความเห็นชอบ
2. หากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจ เห็นชอบให้ พล.ต.ท.จตุพล เป็นประธานบอร์ด ต้องนำเสนอนายเทวัญ ลิปตพัลลภรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบ
3. หากนายเทวัญ เห็นชอบให้ พล.ต.ท.จตุพล เป็นประธานบอร์ด ต้องนำเสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร. พิจารณาให้ความเห็นชอบ
4. หาก พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร. เห็นชอบให้ พล.ต.ท.จตุพล เป็นประธานบอร์ด บมจ.อสมท และลงนามในเอกสารการแต่งตั้ง ส่งกลับมาที่ บมจ.อสมท จึงจะถือว่าการแต่งตั้งประธานบอร์ดได้ดำเนินการครบถ้วนตามมติคณะรัฐมนตรี
แต่!!! การแต่งตั้งประธานบอร์ด บมจ.อสมท ไม่ง่ายอย่างที่คิด
มีรายงานข่าวว่า ความผิดปกติในการแต่งตั้งประธานบอร์ด บมจ.อสมท ปรากฏชัด และกลายเป็นชนวนให้เกิดความไม่ไว้วางใจกันเองในบอร์ด เมื่อคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจ เห็นชอบให้ พล.ต.ท.จตุพล เป็นประธานบอร์ด และนำเสนอนายเทวัญ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พิจารณาให้ความเห็นชอบ
แต่กลับกลายเป็นเรื่องโป๊ะแตก เนื่องจาก พล.ต.ท.จตุพล ไม่ใช่บุคคลที่นายเทวัญ เห็นชอบอย่างไม่เป็นทางการ ให้เป็นประธานบอร์ด ตามที่นายเขมทัตต์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่กล่าวอ้าง ให้มีการพิจารณาแต่งตั้ง พล.ต.ท.จตุพล เป็นประธานบอร์ด ซึ่งเป็นวาระจรอย่างเร่งด่วน ในการประชุมบอร์ดประจำเดือนธันวาคม 2562
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้นายเทวัญ ยังไม่ลงนามให้ความเห็นชอบ นับจากวันที่ได้รับหนังสือที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองกรรมการรัฐวิสาหกิจ เสนอให้พิจารณาเห็นชอบให้ พล.ต.ท.จตุพล เป็นประธานบอร์ด บมจ.อสมท คือ ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2563 จนถึงขณะนี้ เป็นเวลากว่า 5 เดือนแล้ว
ทั้งยังได้มีการท้วงติงอย่างไม่เป็นทางการมายังนายเขมทัตต์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ได้รับการเพิกเฉย
ณ วันนี้ ประธานบอร์ด มีอำนาจกำกับดูแล บมจ.อสมท อย่างชอบธรรมหรือไม่ เป็นคำถามที่เกิดขึ้น ในรั้ว บมจ.อสมท
หนึ่งในบอร์ดที่เห็นความผิดปกติในการแต่งตั้งประธานบอร์ด บมจ.อสมท เปิดเผยว่า เมื่อพล.ต.ท.จตุพล ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากนายเทวัญ รัฐมนตรีที่กำกับดูแล ให้เป็นประธานบอร์ด จึงน่าจะมีการเดินเกมอีกทาง ซึ่งสังเกตได้จากการประชุมบอร์ด ประจำเดือนมกราคม 2563 นายสมหมาย ลักขณานุรักษ์ ได้ขอแก้ไขมติที่ประชุมบอร์ด อสมท ในการประชุมประจำเดือนธันวาคม 2562 วาระการแต่งตั้งประธานบอร์ด บมจ.อสมท
จากเดิม เห็นชอบให้เสนอชื่อ พล.ต.ท.จตุพล เป็นประธานบอร์ด และให้ฝ่ายบริหาร บมจ.อสมท ดำเนินการในขั้นตอนการสรรหากรรมการ และประธานกรรมการรัฐวิสาหกิจ ตามมติคณะรัฐมนตรี
แก้ไขเป็น เห็นชอบและแต่งตั้งให้ พล.ต.ท.จตุพล ปานรักษา เป็นประธานบอร์ด บมจ.อสมท
การขอแก้ไขมติที่ประชุมบอร์ดดังกล่าว น่าจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้ประธานบอร์ดสามารถใช้อำนาจสั่งการ หรือกำหนดนโยบาย หรือกำกับการบริหารงานของ บมจ. อสมท แต่ไม่อาจทำได้โดยง่าย เพราะได้รับการท้วงติงจากบอร์ดหลายคนว่าอาจเป็นการทำผิดมติคณะรัฐมนตรี เนื่องจาก บมจ.อสมท เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการสรรหากรรมการ และประธานกรรมการรัฐวิสาหกิจ
มีรายงานว่า นายเขมทัตต์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ มีหนังสือขอหารือเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. ซึ่งผู้อำนวยการ สคร. ตอบกลับว่า หากการแต่งตั้งประธานบอร์ด ได้ดำเนินการตามข้อบังคับของบริษัทอย่างครบถ้วนแล้ว ถือว่ามีผลตามกฎหมาย แต่ให้ฝ่ายบริหาร บมจ.อสมท ดำเนินการตามขั้นตอนที่มติคณะรัฐมนตรี กำหนดให้ครบถ้วน สามารถดำเนินการใดๆ ในตำแหน่งประธานบอร์ดได้
ความเห็นของผู้อำนวยการ สคร. ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับความเห็นของหนึ่งในบอร์ด ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ซึ่งระบุชัดว่า การที่บอร์ด มีมติเลือกตั้ง พล.ต.ท.จตุพล เป็นประธานบอร์ด เป็นไปตามกฏหมาย แต่เนื่องจากการดำเนินการตามกระบวนการยังไม่ครบถ้วน จึงยังไม่มีผลโดยสมบูรณ์ จึงให้ทำหน้าที่ประธานไปพลางก่อน จนกว่ากระบวนการจะครบถ้วน โดยในระหว่างนี้ ยังไม่ควรดำเนินการเรื่องใดๆ ในเชิงนโยบาย
แต่การทักท้วงใดไม่เป็นผล นับจากเดือนมกราคม 2563 เป็นต้นมา พล.ต.ท.จตุพล ได้ปฏิบัติหน้าที่ประธานบอร์ด และผลงานชิ้นสำคัญ คือการมอบอำนาจให้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท ทำหนังสือถึงกสทช. ให้แบ่งเงินเยียวยาค่าคลื่น 2600 เมกกะเฮิร์ต ให้บริษัทเอกชนครึ่งหนึ่ง โดยนายเขมทัตต์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท ได้ทำหนังสือลงวันที่ 4 มิถุนายน ขอให้ กสทช. แบ่งเงินเยียวยาที่ บมจ.อสมท จะได้ ไปให้เอกชนครึ่งหนึ่ง
ความลับ ลวง พราง ที่เกิดขึ้นในเส้นทางประธาน บอร์ด อสมท.จึงเป็นที่มาของการตั้งคำถามว่า เหตุใดประธานบอร์ด บมจ.อสมท จึงทำหนังสือถึงนายเทวัญ รัฐมนตรีที่กำกับดูแล ว่าจะไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่
ที่ผ่านมา บมจ.อสมท.ถูกมองจากบุคคลภายนอกว่าเป็นดินแดนสนธยา ขณะที่พนักงานจำนวนไม่น้อยต่างรู้สึกอึดอัดกับบรรยากาศที่เป็นอยู่ ถ้าหากการแต่งตั้งผู้มีอำนาจเข้ามากำกับดูแลยังตกอยู่ในสภาพที่ถูกตั้งคำถามมากมายและยังไม่มีคำตอบให้สาธารณชนได้ชัดเจน การแสวงหาข้อเท็จจริงจากกรณีเงินเยียวยาเอกชน จึงเริ่มตีบตัน