FEATURE

คอมมูนิตี้ – ที่พักอาศัยเพื่อผู้สูงอายุ กับสังคมไทยเหมาะสมแค่ไหน?

เติมเต็มคุณภาพชีวิตได้ไม่น้อย สำหรับคอมมูนิตี้ที่พักอาศัย สำหรับคนวัยเกษียณ ที่นิยมในต่างประเทศ เช่น ในอเมริกาและประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นสังคมเดี่ยว และประชาชนมีระบบการศึกษาที่ดี แต่ทว่าไม่มีลูกหลานดูแล นั่นจึงทำให้เกิดเนิร์สซิ่งโฮม (Nursing Homes) หรือ หมู่บ้านผู้สูงอายุ ทั้งในรูปแบบบ้านพัก หรือคอนโดมิเนียม ที่คนวัยเกษียณตบเท้าสมัครใจ เข้าไปพักอยู่อาศัยด้วยตัวเองที่ได้รับความนิยมมาก เพราะรวมสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน และกิจกรรมที่หลากหลาย เหมาะกับคนวัยหลัก 6 ที่สำคัญมีเพื่อนวัยเดียวกันอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งมีหมอและพยายาบาลคอยดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยให้ยืนยาว โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งลูกหลาน

ฝั่งบ้านเรานั้นก็มีโครงการที่อยู่เพื่อผู้สูงวัย ในลักษณะดังกล่าว ผุดขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย ที่เริ่มต้นในปี 2565 ที่ผ่านมา เพื่อรองรับคนวัยเกษียณที่มีกำลังจ่ายได้ ที่ต้องการหาเพื่อน และไม่ต้องการเป็นภาระของลูกหลาน แต่ในอีกมุมหนึ่งการเข้าไปพักอาศัยในคอมมูนิตี้ของผู้สูงวัยในบ้านเรา อาจจะแตกต่างกับต่างประเทศ เนื่องจากมีข้อมูลการศึกษาวิจัย จากประเทศสหรัฐอเมริกาเอง ที่ระบุว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของผู้สูงอายุนั้น ต้องการอยู่บ้านตัวเอง แต่สภาพสังคมที่ต่างกัน จึงทำให้ที่อาศัยดังกล่าว ได้การตอบรับที่ดีในสังคมตะวันตก มากกว่าบ้านเรา

The Reporters ได้สอบถามไปยัง นพ.สุกรีย์ สมานไทย นายกสมาคมผู้ดูแลผู้สูงอายุ และผู้มีภาวะพึ่งพึง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับทิศทาง เทรนด์ที่พักอาศัย และคอมมูนิตี้เพื่อผู้สูงวัย ในประเทศไทยไว้น่าสนใจ เนื่องจากคนสูงวัยในบ้านเรา อาจจะยังไม่เข้าใจหรือไม่รู้จัก การพักอาศัยในคอมมูนิตี้ดังกล่าว เนื่องจากคุ้นชินกับที่สมาชิกครอบครัว เมื่อเจ็บป่วยกระทั่งเสียชีวิต ก็ต้องอยู่บ้าน จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความรู้ กับคุณตาคุณยายวัยหลัก 7 หลัก 8 ที่ถือเป็นกลุ่มเป้าหลายหลัก ของคอมมูนิตี้เพื่อสูงวัยในอนาคต เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตให้ยืนยาว โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่ไม่มีลูกหลานคอยดูแล

นพ.สุกรีย์ กล่าวว่า “ผมมองว่าบ้านเรายังไม่ยอมให้เป็นแบบนั้น พูดง่ายๆว่าคนชราบ้านเรา โดยเฉพาะคนที่อายุ 80 ปี มักจะไม่ยอมไปอยู่คอมมูนิตี้ เพราะอยากอยู่กับลูกหลาน และมักจะคุ้นเคยกับที่เห็นสมาชิกในครอบครัว เช่น พี่สาว น้องสาว พี่ชาย อาศัยอยู่ในบ้านแม้ว่าจะเจ็บป่วยจนกระทั่งเสียชีวิตที่บ้าน หรือแต่ผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานดูแล ก็ยังต้องการอยู่บ้านของตัวเอง ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีที่อยู่อาศัย หรือคอมมูนิตี้สำหรับผู้สูงอายุเกิดขึ้น ในบ้านเราหลายแห่งก็ตาม ซึ่งอันที่จริงหมอมองว่าที่อยู่อาศัย เพื่อผู้สูงวัยเหล่านี้ เกิดขึ้นเร็วเกินไป แม้ว่าจะเป็นโครงการที่ดี ดังนั้นถ้าจะให้ดีที่สุดต้องรอหลังจากนี้อีก 10 ปี”

“ประการแรกนั้นแม้ว่าเราจะเข้าสู่ สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว แต่ไม่ใช่แค่เรื่องของการที่เรามีคนอายุเยอะขึ้น หรือมีจำนวนมากขึ้น แต่เด็กหนุ่มสาวและวัยทำงานน้อยลง นั่นจึงทำให้คนอายุไม่มีคนดูแล หรือที่เรียกว่าแคร์กิฟเวอร์ หรือ คนดูแลผู้สูงอายุในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุต่างๆ ที่สำคัญแรงงานกลุ่มนี้ที่ดี และมีประสิทธิภาพ ก็จะถูกดึงตัวให้ไปทำงานที่ต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลียและแคนาดา นั่นจึงทำให้บ้านเราขาดแคลนคนที่จะดูแลผู้สูงอายุ ประกอบกับภาพรวมของผู้สูงอายุในบ้านเรานั้น ปัจจุบันจะพบว่าผู้สูงอายุ ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม เดินไม่ไหว หรือภาวะทุพพลภาพต่างๆ ดังนั้นบางรายจึงมาอยู่ที่เนิร์สซิ่งโฮม ด้วยภาวะดังกล่าว ดังนั้นภาพของผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรง และมาร่วมกัน เหมือนในต่างประเทศนั้น สำหรับบ้านเรายังไม่มีภาพนั้นครับ แต่ในอนาคตหรือประมาณ 10 ปีให้หลังจากนี้ คอมมูนิตี้มอลเพื่อผู้สูงวัยดังกล่าว จะต้องได้รับความนิยมอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่ายังไม่ใช่ตอนนี้”

ปรับสิ่งแวดล้อมในบ้านให้น่าอยู่ เตรียมผู้สูงวัยแข็งแรงทั้งกายและใจ รับคอมมูนิตี้ผู้สูงอายุที่มาแรงในอนาคต

ผู้สูงวัยจะอยู่อย่างไรเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อรับกับที่อยู่อาศัยเพื่อคนสูงวัย ที่มาแรงในอนาคตนั้น ในกรณีที่ไม่มีลูกหลานดูแล หรือแม้แต่คนวัยเกษียณที่สมัครใจไปอยู่นั้น 1.การปรับบ้าน หรือกายภาพที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัย เช่น การออกบ้านให้การเล่นระดับที่น้อยลง มีบันไดขึ้นลงที่น้อยลง การจัดสิ่งของภายในบ้านให้เป็นระเบียบ เพื่อป้องกันผู้สูงอายุชนและหกล้ม และติดตั้งไฟส่องสว่างที่เพียงพอ ฯลฯ ซึ่งตรงนี้จะต้องมีค่าใช้จ่ายระดับหนึ่ง

2.ระบบแคร์กิฟเวอร์ หรือ คนดูแลผู้สูงอายุในศูนย์ดูแลผู้สูงอายุต่างๆ หรือจ้างมาดูแลผู้สูงวัยที่บ้านนั้น ก็ต้องมีศักยภาพและมีปริมาณที่เพียงพอ กับความต้องการในบ้านเราเช่นกัน เพราะคนดูแลผู้สูงอายุที่ดีนั้น มักจะถูกดึงตัวให้ไปทำงานในต่างประเทศ ที่มีค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ดีกว่าในเมืองไทย ที่สำคัญหากครอบครัว ที่มีผู้สูงวัยอาศัยอยู่ร่วมกัน การจ้างงานแคร์กิฟเวอร์เพื่อดูแลคุณตาคุณยาย ก็จะทำให้สมาชิกในครอบครัว สามารถไปทำงานนอกบ้านได้ และมีเงินเพื่อจ้างคนกลุ่มนี้ ให้มาดูแลพ่อแม่ได้เช่นกัน

“สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการทำให้ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะคนที่อายุ 70 ปี และกำลังจะเข้าอายุ 80 ปี เข้าใจว่าคอมมูนิตี้ เพื่อผู้สูงวัยในอนาคตนั้นดีอย่างไร และมีประโยชน์กับคนสูงอายุอย่างไรนั้น เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง และอายุที่ยืนยาวแบบสุขภาพดีนั้น คือการที่คนเจเนอเรชั่นนี้ หรือคนที่กำลังจะแก่ เช่น คนวัยเกษียณอายุ 60 ปี เข้าไปอยู่ร่วมกันแล้วดีอย่างไร หรืออยู่ในบ้านแล้วมีสุขภาพแย่อย่างไร หรืออยู่แล้วมีความสุข ทั้งกายและใจอย่างไร ตรงนี้จึงจะทำให้กระแสตอบรับที่อยู่อาศัยดังกล่าว เป็นที่ยอมรับของผู้สูงวัยในสังคมไทยได้ดียิ่งขึ้น หรือมีตัวอย่างในการอ้างอิง หรือเห็นภาพการอยู่อาศัยที่ชัดเจนขึ้นนั่นเอง เนื่องจากเราอยู่กันแบบครอบครัว มากกว่าสังคมเดี่ยวเหมือนในต่างประเทศ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้ความรู้กับผู้สูงวัยกลุ่มนี้ และต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปีหลังจากนี้ เพื่อปรับวิธีคิดและมุมมอง ของการอยู่ร่วมกัน ในสังคมของผู้สูงวัยที่มีอายุรุนราวคลาวเดียวกัน ”

โดยสรุปนั้นการที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้กับคนสูงวัยในสังคมไทย เปิดกว้างเรื่องการพักอาศัยในคอมมูนิตี้มออล์เพื่อผู้สูงอายุนั้น จำเป็นต้องแก้ตั้งแต่ ที่ระบบโครงสร้างประชากร เพราะปัจจุบันคนเกิดน้อยลง ทำให้ขาดแรงงานวัยทำงาน โดยเฉพาะแคร์กิฟเวอร์ที่จะดูแลผู้สูงอายุ ที่ปัจจุบันมีน้อยลง เพื่อรองรับสังคมสูงวัย และการดูแลสุขภาพของผู้สูงวัยให้แข็งแรง โดยการปรับที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัย อีกทั้งลูกหลายคอยดูแล และพาผู้สูงอายุพบแพทย์สม่ำเสมอ เพื่อเป็นต้นทุนในการใช้ชีวิตหลักวัยเกษียณ ได้อย่างมีความสุขและมีสุขภาพดี รับการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ที่พักอาศัยในอนาคตได้อย่างแท้จริง

Related Posts

Send this to a friend