FEATURE

สงกรานต์เดินทางปลอดภัย ต้องมีสติ-เตรียมอุปกรณ์จำเป็นให้พร้อม

การดูแลตัวเองให้ปลอดภัย ระหว่างเดินทางช่วงสงกรานต์เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการโดยสารในรถสาธารณะที่มีความแออัด ที่เสี่ยงต่อโรคฮีสโตรก หรือโรคลมแดด ที่เกิดขึ้นได้ง่ายในช่วงที่บ้านเราอากาศร้อนจัด และเป็นสิ่งที่กำลังรณรงค์อยู่ในขณะนี้ ดังนั้นก่อนการเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ ด้วยบริการสาธารณะหรือรถส่วนตัว จำเป็นต้องมีความรู้ เพื่อป้องกันตัวเองแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะครอบครัวไหน ที่มีทั้งผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ ย่อมจำเป็นต้องเซฟความปลอดภัยเป็นเท่าตัวในการเดินทาง

The Reporters ได้สอบถามไปยัง อ.ปิยฉัตร เทพรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานอบรมปฐมพยาบาล จากศูนย์ฝึกอบรมปฐมพยาบาลและสุขภาพอนามัย สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมในการเดินทาง ด้วยรถสาธารณะและรถยนต์ช่วงสงกรานต์ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยระหว่างการเดินทาง รวมถึงการรับมือเหตุการณ์ฉุกเฉิน ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้อื่นอย่างถูกวิธี จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ หรือแม้แต่การเซฟเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉิน ไว้ในโทรศัพท์มือถือของเรา นับเป็นการรับมือกับอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันได้ไม่น้อย

อ.ปิยฉัตร ให้ข้อมูลว่า “กรณีของการเดินทางด้วยรถตู้ หรือรถโดยสาธารณะนั้น การตระหนักเรื่องความปลอดภัยหรือ Safety First เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะความปลอดภัยในแต่ละจุดที่เราใช้บริการ และแต่ละจุดนั้นก็จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุที่แตกต่างกัน ดังนั้นไม่ว่าเราจะนั่งตรงจุดไหนบนรถที่โดยสารนั้น ก็ขอให้มีสติและคิดอยู่เสมอว่า มีอุปกรณ์เซฟตี้อะไรบ้างที่อยู่ใกล้ตัวเรา เช่น ถ้านั่งรถตู้ หรือรถทัวร์โดยสาร ก็ต้องสังเกตว่ามีค้อนสำหรับทุบกระจก ติดอยู่ข้างตัวหรือไม่ กรณีที่รถเกิดอุบัติ เพื่อพาตัวเราออกจากที่เกิดเหตุ หรือเวลานั่งตรงจุดไหนแล้ว จุดที่เรานั่งสามารถหลบ เพื่อป้องกันการกระแทกได้หรือไม่ หรือแม้แต่หากเรานั่งรถตู้บริเวณแถวกลาง หากรถเกิดอุบัติเหตุเราจะถูกกระแทกไปยังจุดใดของรถ ที่อาจเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงหรือไม่ หรือเวลาเลือกที่นั่งบนรถโดยสารสาธารณะ ควรเลือกนั่งใกล้ประตูหนีไฟ เป็นต้น สิ่งต่างๆเหล่านี้ผู้โดยสารจำเป็นต้องมีสติ และต้องคิดไว้อยู่เสมอ เพื่อความปลอดภัยขณะเดินทางค่ะ”

โรคฮีทสโตรกอันตรายจากรถโดยสารอบอ้าว รับมือด้วยการพกกระติกน้ำข้างตัว-เดินทางด้วยรถส่วนตัวไม่ลืมอุปกรณ์ฉุกเฉิน

“ทั้งนี้สิ่งที่ควรตระหนักเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมภายในรถโดยสาร เช่น รถตู้ที่หน้าร้อนนั้น อากาศภายในรถอาจจะไม่โปร่ง ประกอบกับผู้โดยสารที่นั่งกันแบบแออัด ดังนั้นให้เฝ้าระวังโรคฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด ซึ่งปัจจุบันเรากำลังรณรงค์ให้คนไทยดูแลสุขภาพ ให้ห่างไกลจากโรคนี้ ที่อาจเกิดจากอากาศภายในและภายในรถที่ร้อนอบอ้าว ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้นหากแอร์ไม่เย็น ก็ขอให้เราจิบน้ำเพื่อรักษาความสมดุลร้อนเย็นให้ร่างกาย ที่สำคัญแนะนำให้พกพัด และถ้าเป็นไปได้ช่วงหน้าร้อน ให้พกกระบอกน้ำเล็กๆติดตัว เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ เพื่อป้องกันโรคลมแดด”

“ส่วนใครที่เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวนั้น ให้เช็คความพร้อมรถยนต์ของเราว่าพร้อมหรือไม่ ที่สำคัญต้องเช็คสภาพร่างกาย ว่าพร้อมหรือไม่เช่นกัน หากนอนน้อย ก็แนะนำว่าไม่ควรขับรถเพราะอาจเกิดอันตรายต่อผู้อื่น ที่สำคัญภายในรถควรมีอุปกรณ์จำเป็น กรณีที่รถเกิดอุบัติเหตุหรือเสียระหว่างทาง เพื่อขอความช่วยเหลือผู้อื่น เช่น ป้าย 3 เหลี่ยมสะท้อนแสงฉุกเฉิน,สายพ่วงแบตเตอรี่,ไฟฉายขนาดกะทัดรัด,สายลากรถ เป็นต้น”

เด็กและผู้สูงวัยเดินทางปลอดภัย-เตรียมอาหารน้ำดื่ม และไม่ลืมคาดเข็มขัดนิรภัย

“ไม่ว่าจะเป็นวัยไหนทั้งเด็กหรือผู้สูงอายุ หรือแม้แต่วัยหนุ่มสาว กรณีที่เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ก็ควรเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม โดยเฉพาะเด็กที่มีความสามารถ ในการทนความร้อนได้น้อยกว่าอื่นๆ ดังนั้นจึงเตรียมพกน้ำดื่ม หรือแม้แต่นมไว้ให้เด็ก รับประทานขณะอยู่บนรถ ส่วนผู้อายุที่มักมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ดังนั้นการเตรียมกระติกน้ำหวานขนาดเล็ก ลูกอม หรือขนหวาน หรือแต่ยารักษาโรคประจำตัว ก็เป็นสิ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อม ก่อนออกเดินทาง”

“ที่ขาดไม่ได้คือการคาดเข็มขัดนิรภัย ทั้งคนที่นั่งโดยสารด้านหน้าและด้านหลังรถ เนื่องจากในต่างประเทศจะให้ความสำคัญ กับการคาดเข็มขัดนิรภัย ของผู้โดยสารทั้งหน้าและหลังรถ อีกทั้งมีการติดตั้งคาร์ซีทสำหรับเด็ก ดังนั้นจึงอยากให้คนไทยคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดทั้งคัน เพื่อความปลอดภัยของทุกคนค่ะ ส่วนครอบครัวไหนที่มีสัมภาระจำนวนมาก ที่เสี่ยงต่อการที่อุปกรณ์ต่างๆ เช่น ขวดน้ำดื่มตกลงไปกีดขวางเบรครถ ที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ตรงนี้จึงแนะนำให้วางของที่ไม่จำเป็น ไว้โซนท้ายรถ แนะนำเพียงของจำเป็นติดตัวไว้เท่านั้น เช่น กระเป๋าสตางค์ หรือกระเป๋ายา เป็นต้น”

เซฟเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินไว้ในมือถือ-หลักการช่วยเหลือที่ดีต้องครบหลัก 3 ประการ

“กรณีรถเกิดอุบัติเหตุช่วยเหลือผู้อื่นอย่างไร ทั้งนี้หลักการช่วยเหลือผู้อื่นขณะโดยสารอยู่บนรถนั้น เช่น หากเรานั่งหลับและรถเกิดอุบัติเหตุ หากตัวเราไม่ได้บาดเจ็บรุนแรง อันดับแรกให้ตั้งสติ หลังจากนั้นให้ดูสิ่งแวดล้อมรอบว่าปลอดภัยหรือไม่ หรือเราสามารถที่จะหนีออก จากอุบัติเหตุนั้นได้หรือไม่ เพื่อขอความช่วยเหลือ ถ้าไม่สามารถออกมาได้ แนะนำให้โทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ 191 ในตอนนั้นเลย หรือสายด่วนการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หมายเลข 1543 หรือรถกู้ชีพฉุกเฉิน โทร 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือ หรือเบอร์โทรศัพท์รถพยาบาลต่างๆ ซึ่งเบอร์โทรศัพท์เหล่านี้ ควรบันทึกไว้ในมือถือของเรา”

“ทั้งนี้การตัดสินใจในการช่วยเหลือผู้อื่นนั้น มีหลักง่ายๆคือ 1.คนช่วยเหลือปลอดภัยหรือไม่ 2.สิ่งแวดล้อมรอบที่เกิดอุบัติเหตุปลอดภัยหรือไม่ 3.ตัวของผู้ที่จะช่วยเหลือปลอดภัยหรือไม่ ทั้งนี้หากครบทั้ง 3 องค์ประกอบก็สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ แต่หากเรายังมีสติและไม่มั่นใจว่าจะช่วยผู้ประสบอุบัติเหตุคนอื่นได้หรือไม่ แนะนำให้โทรหารถกู้ชีพฉุกเฉิน 1669 ทั้งนี้เจ้าหน้าจะตั้งคำถามไกด์ไลน์ให้ผู้ช่วยเหลือ เป็นแนวทางว่าเราควรจะช่วยผู้อื่นอย่างไร เช่น เจ้าหน้าจะถามว่าตอนนี้ให้การช่วยเหลือเบื้องต้นกับผู้บาดเจ็บแล้วหรือยัง? หรืออาการของผู้บาดเจ็บเป็นอย่างไร? กระทั่งผู้ช่วยเหลือรู้ว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป และสิ่งที่ลืมไม่ได้นั้นคำว่า “ช่วยเหลือผู้อื่น” เราไม่จำเป็นต้องสัมผัสตัวผู้ประสบอุบัติ เช่น ผู้ประสบอุบัติเหตุหัวแตก ซึ่งเราทำแผลไม่เป็นหรือไม่มีความรู้ด้านการปฐมพยาบาล แนะนำว่าให้โทรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาช่วยเหลือ ก็ถือว่าเป็นช่วยเหลือผู้ประสบเหตุแล้ว”

Related Posts

Send this to a friend