FEATURE

นักจิตวิทยาจุฬาฯ แนะการปรับ Mindset ช่วยเผชิญความชราอย่างสง่างาม

อ.ดร.นิปัทม์ พิชญโยธิน ประธานแขนงวิชาจิตวิทยาพัฒนาการ และผู้เชี่ยวชาญศูนย์จิตวิทยาพัฒนาการ และความสัมพันธ์ระหว่างวัย (Life Di) คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้คำแนะนำ เกี่ยวกับการเผชิญความชราอย่างสง่างาม หรือ Aging Gracefully เพื่อรับสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา (มีประชากรวัย 60 ปีขึ้นไป กว่า 20% ของประชากรในประเทศ)โดยเฉพาะผู้ที่กำลังจะก้าวสู่สังคมสูงวัย

เพื่อให้มีความมั่นใจทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต แม้ว่าการมีชีวิตยืนยาวจะหมายถึงสัญญาณ ของการมีสุขภาพที่ดี แต่อายุที่เพิ่มขึ้นก็เต็มไปด้วย ความรู้สึกกดดันทางอารมณ์ด้วยเช่นกัน อาทิ ความกังวลต่อรูปลักษณ์ภายนอกที่เปลี่ยนไป ความกลัวที่จะสูญเสียความสามารถ ในการดูแลตัวเอง หรือกลัวต้องเจ็บป่วยรุนแรงเมื่อเข้าสู่วัยชรา

อ.ดร.นิปัทม์ กล่าวว่า “ในการศึกษาด้านจิตวิทยาพัฒนาการ นักจิตวิทยาพบว่าความเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับวัยไหน ความยากง่ายหรือเร็วช้าในการปรับตัว จะขึ้นอยู่กับบุคคลเสมอ ซึ่งในแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันออกไป มองได้ทั้งแบบที่เป็นปัญหาและไม่เป็นปัญหา แต่จากประสบการณ์ของตัวอาจารย์เอง ผู้ใหญ่หรือผู้สูงวัยมักจะมาพร้อมกับการปรับตัวที่ดี บางคนที่มีองค์ความรู้ในการดูแลตัวเอง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ และยิ่งมีทุนทรัพย์ในการดูแลรูปลักษณ์ภายนอก ก็อาจจะสามารถชะลอความเปลี่ยนแปลง ให้เกิดขึ้นช้าลงได้ เทรนด์ที่เกิดขึ้นก็คือ คนส่วนใหญ่จะไม่รอให้เกิดขึ้นก่อน แล้วจึงค่อยแก้ปัญหา แต่จะเริ่มสนใจหาข้อมูลตั้งแต่ในวัยทำงาน เกี่ยวกับศาสตร์ชะลอวัยต่างๆมากยิ่งขึ้น”

“เรื่องของ Aging Gracefully นั้น สามารถมองได้ในหลายมิติ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะให้คุณค่ากับเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก ยกตัวอย่างเช่น ดารานักแสดงบางคนที่จะไม่แต่งหน้าเลย หรือปล่อยให้ผมขาว เพราะเขารู้สึกพอใจกับความเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นโจทย์ตั้งต้นควรจะเป็นคำถามที่ว่า คำว่า gracefully ในความหมายของแต่ละคน เหมือนหรือต่างกันอย่างไร เพราะแต่ละคนก็มีจุดมุ่งหมายไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะเช็คตัวเองในกระจกทุกวัน เพราะรักในรูปลักษณ์และการดูแลตัวเองเป็นอย่างดี แล้วนำมาซึ่งความภูมิใจในตัวเอง แต่กลับบางคนอาจจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอกขนาดนั้น หลายๆคนเป้าหมายในชีวิตของเขา ไม่ได้อยู่ที่เรื่องของความสวยความงาม แต่ให้คุณค่ากับเรื่องอื่นๆแทน ดังนั้น Aging Gracefully จึงไม่ได้หมายถึงการที่เราอายุเพิ่มขึ้น แล้วยังดูหนุ่มดูสาว หรือมีรูปลักษณ์ที่งดงามเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการใช้ชีวิตอย่างดีที่สุด มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ตามอายุที่เพิ่มขึ้นด้วยการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมด้วย”

“การเป็นผู้สูงวัยที่ประสบความสำเร็จ (Successful Aging) ซึ่งหมายถึงความสามารถ ที่จะคงความเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ของตนเอาไว้ แม้ในยามที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น โดยอัตลักษณ์ดังกล่าวเกิดจากแนวคิดที่ว่า ฉันมองตัวเองเป็นอย่างไร และอยากจะเติบโตไปเป็นผู้สูงวัยแบบไหน ทั้งนี้ผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จจะค่อยๆ นำพาตัวเองเข้าไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในอุดมคตินั้นๆ เพราะการสูงวัยไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจสำหรับเจ้าตัว มันเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้ว่าจะมัน จะต้องเกิดขึ้น และโดยธรรมชาติ ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่มักจะปรับตัวได้ แต่หากความเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน โดยที่เจ้าตัวไม่ทันได้สังเกต หรือเริ่มมีฟีดแบ็คจากข้างนอก เข้ามาสั่นคลอนข้างใน ก็อาจจะเกิดความหงุดหงิด สับสน และความทุกข์ใจได้เช่นกัน ซึ่งก็ต้องกลับไปดูในแต่ละเคสว่า ต้นตอของความรู้สึกไม่มั่นคงเหล่านั้นเกิดจากอะไร บางทีเราอาจจะเจอในรูปแบบของการถูกลดเกียรติ ถูกลดคุณค่า คือจากคนที่เคยทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ต้องมาพึ่งพาลูกหลาน ซึ่งเป็นเรื่องของการสูญเสียตัวตน ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ”

“ข้อดีของคนเจน X และเจน Y ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยก็คือ มีการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆได้มากขึ้น ได้เห็นตัวอย่างของผู้สูงวัย ที่ประสบความสำเร็จในอดีตจำนวนมาก รวมถึงตัวอย่างอื่นๆ ทั้งที่ดีและไม่ดีในหลายๆมิติ ซึ่งก็กลับไปสู่คำถามที่ว่า เราอยากจะเป็นผู้สูงวัยแบบไหนในสายตาของตัวเองและคนรอบข้าง การไม่เปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น เป็นหลักทั่วไปอยู่แล้วในการมี well-being ที่ดี ในเรื่องของการสูงวัยก็เช่นเดียวกัน แต่ละคนก็มีต้นทุนมาไม่เท่ากัน แต่เชื่อว่าเมื่อเราอายุมากขึ้น การยอมรับในเรื่องความแตกต่างจะมีมากขึ้น และความคิดเปรียบเทียบจะไม่ใช่ประเด็นหรือปัญหาที่สำคัญอะไรขนาดนั้น”

ทั้งนี้การมี mindset เชิงบวกต่อภาวะสูงวัย เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการก้าวไปสู่ การเป็นผู้สูงวัยที่สง่างาม และต่อไปนี้คือตัวอย่างเล็กๆน้อยๆ ของกรอบความคิดเชิงบวก ที่จะช่วยให้ผู้ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุได้อย่างมีความสุขและสง่างาม

1.น้อมรับความเปลี่ยนแปลงเมื่ออายุมากขึ้น เราจะต้องพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงอีกมากมาย ทั้งทางร่างกาย รูปลักษณ์ และจิตใจของ การยอมรับและน้อมรับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ สามารถช่วยให้เราคิดบวกและจดจ่อ กับสิ่งที่เรายังสามารถทำได้ แทนที่จะใช้เวลาไปกับการกังวลถึงสิ่งที่เราเคยทำได้เมื่อยังแข็งแรงหรืออ่อนเยาว์กว่านี้

2.ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ การเรียนรู้สิ่งใหม่และการได้ทดลองประสบการณ์ใหม่ๆ จะทำให้เรารู้สึกกระตือรือร้นในชีวิต และสามารถสร้างการมีส่วนร่วม กับคนอื่นๆรอบตัว ซึ่งจะช่วยให้เรารักษาเป้าหมายของการเป็นผู้สูงวัย อย่างสง่างามและมีความสุขได้

3.รักษาเครือข่ายทางสังคมเอาไว้ การได้พูดคุยมีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัว เครือญาติ เพื่อน และคนอื่นๆในสังคม สามารถช่วยให้เรารักษาทัศนคติเชิงบวก และ emotional support หรือกำลังใจที่ดีได้

4.มีความสำนึกรู้คุณ (gratitude) ต่อสิ่งต่างๆ ฝึกขอบคุณตัวเองและคนรอบตัว เห็นคุณค่าของการมีชีวิตและการเติบโตเป็นผู้สูงวัย ชื่นชมประสบการณ์ที่ผ่านมา และพอใจในสิ่งที่มี โดยการมุ่งเน้นไปที่พลังบวกในชีวิต ก็จะสามารถช่วยให้เรารักษา mindset ที่ดีเอาไว้ได้เหมือนกัน

5.ดูแลสุขภาพร่างกายอย่างดีที่สุด รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และตรวจสุขภาพเป็นประจำ จะช่วยให้เรารู้สึกดีกับตัวเอง และยังสามารถพึ่งพาตัวเองได้แม้เมื่ออายุมากขึ้น

ทั้งนี้ Mindset เชิงบวกต่อภาวะสูงวัยโดยสรุปก็คือ การมองโลกในแง่ดี การมีส่วนร่วมและเชื่อมโยงตัวเองกับชุมชนและสังคม การมุ่งความสนใจไปที่สิ่งที่ทำให้เรามีความสุข และภูมิใจในตัวเอง เพื่อให้เรามีอายุยืนยาว และมีความสุขกับทุกสถานการณ์ในชีวิต ดังนั้นการได้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆดังกล่าว ก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้ปรับตัวได้ดียิ่งขึ้น

Related Posts

Send this to a friend