FEATURE

เตือน ผู้สูงวัยเลี้ยงหลานแบบตามใจ ปล่อยเด็กเล่นแท็บเล็ตเสี่ยงสมาธิสั้น

สิ่งที่พบได้บ่อยสำหรับการที่ผู้สูงวัยเลี้ยงหลาน คือการตามใจเด็ก โดยเฉพาะการที่ปล่อยให้ลูกหลานวัยอนุบาลเล่นแท็บเล็ต เพราะคิดว่าเด็กไม่ดื้อและจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำ แต่ผลที่ตามนั้นคือการที่ทำให้เด็กมีสมาธิสั้น หงุดหงิดง่ายและทำให้อดทนรอในสิ่งต่างๆไม่เป็น ดังนั้นการให้ผู้สูงวัยอยู่กับลูกหลานที่ใช้อุปกรณ์เหล่านี้ จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำจากลูกหลาน เพื่อให้คนวัยเก๋านั้นสามารถใช้งาน หรือคอนโทรลแท็บเล็ตได้ เพื่อเพิ่มการเรียนรู้ให้กับลูกหลาน และป้องกันปัญหาดังกล่าวในเด็กเล็ก เกี่ยวกับประเด็นนี้

The Reporters ได้สอบถามไปยัง “รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี” ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “บันทึกหมอเดว” ได้ให้คำแนะนำผู้วัย ในการรับมือกับการสปอยเด็ก เพื่อป้องกันเด็กเล็กติดแท็บเล็ต ส่วนหนึ่งเพื่อลดปัญหาเด็กสมาธิสั้น การไม่ยอมสื่อสารกับผู้อื่น หรือแม้แต่การรอในสิ่งต่างๆไม่ได้ และมักจะตามมมาด้วยพฤติกรรม การเอาแต่ใจ หรือลงไปนอนดิ้นเมื่อถูกผู้ใหญ่ขัดใจ หากไม่ได้สิ่งที่เด็กต้องการ

รศ.นพ.สุริยเดว ให้ข้อมูลว่า “อันที่จริงแล้วบ้านเรามีจุดอ่อน ของการใช้แท็บเล็ตในกลุ่มของเด็กเล็ก เช่น วัยอนุบาล ยิ่งโดยเฉพาะการที่เด็ก อยู่กับผู้สูงวัยเล่นอุปกรณ์เหล่านี้ ประการสำคัญนั้นผู้สูงวัยจะไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับการแท็บเล็ต ที่สำคัญราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้มีคำแนะนำว่าเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปีไม่ควรเล่นแท็บเล็ต ส่วนเด็กที่เข้าสู่วัยอนุบาลนั้น ควรใช้สื่ออนไลน์ จากมือถือหรืออุปกรณ์สมาร์ทโฟนต่างๆ ให้เป็นไปในแง่ของเครื่องมือ ที่ช่วยเสริมการเรียนรู้ ที่สำคัญต้องมีผู้ใหญ่อยู่ด้วย เพื่อคอยให้การแนะนำลูกหลาน เช่น ปู่ย่าตายายใช้เสียงเพลงในแท็บเล็ต ในการช่วยเสริมการเล่านิทานให้เด็กฟัง”

“หรือ เกมที่เด็กเล่นในแท็บเล็ต ก็จำเป็นต้องฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก และกล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้กับเด็ก เช่น เกมวาดรูปในอุปกรณ์ดังกล่าว หรือแม้แต่การเล่นเกมง่ายๆที่ผู้สูงอายุ และเด็กสามารถเล่นด้วยกันได้ ทั้งนี้เพื่อให้เด็กกับปู่ย่าตายายเล่นด้วยกัน เพื่อเพิ่มการเรียนรู้ให้น้องๆหนูๆ แต่ทั้งนี้ลูกหลานจะต้องสอนวิธีการเปิด-ปิด แท็บเล็ตให้กับผู้สูงวัย เพื่อที่จะใช้อุปกรณ์ดังกล่าวร่วมกับหลานเล็กๆ ส่วนระยะเวลาในการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ เพื่อช่วยฝึกพัฒนาการให้เด็ก ก็ควรอยู่ที่ประมาณ 30 นาที หลังจากนั้นให้พักเบรคไปทำกิจกรรมอื่นร่วมกัน โดยสรุปแล้วเด็กไม่ควรเล่นแท็บเล็ตนานเกินวันละ 1 ชั่วโมง สิ่งที่หมอกล่าวมานี้ ถือว่าเป็นมุมของครอบครัว ที่ทุกคนมีส่วนร่วมในเรื่องนี้ได้ดี”

“แต่ในกรณีครอบครัวที่ไม่ได้เป็นเหมือนข้างต้น อีกทั้งปู่ย่าตายายที่ไม่สามารถดูแล ขณะที่หลานเล่นแท็บเล็ตได้ หรือไม่มีลูกหลายคอยแนะนำ การใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฟนให้ท่าน ก็แนะนำว่าอย่าพึ่งให้เด็กวัยอนุบาลเล่น หรือให้ลูกหลานถอยห่างจากแท็บเล็ต แต่ให้ผู้สูงอายุชวนลูกหลานเล่นตามวิถีธรรมชาติ หรือเล่นในสิ่งที่มีอยู่ในบ้าน แต่ไม่ใช่สิ่งของมีคม เช่น หากมีพื้นที่สวนก็ให้ชวนเด็กปลูกผัก หรือปลูกต้นไม้ หรือ ให้เด็กดูวิธีทำอาหารจากคุณตาคุณยาย เป็นต้น”

“เพราะอย่าลืมว่าอันตรายจากการที่ผู้สูงวัย ปล่อยให้เด็กเล่นแท็บเล็ตเพียงลำพัง โดยที่มองว่าเด็กไม่ดื้อไม่ซน แต่ตรงกันข้ามเด็กจะมีสมาธิสั้น และการที่เด็กจดจ่ออยู่กับเกมในมือถือ ก็จะทำให้เด็กมีสายตาสั้นเทียม และเมื่อโตมาก็จะกลายเป็นคนที่สายตาสั้นแท้ อีกทั้งเมื่อเด็กจ้องอยู่กับเกมตลอดเวลา ก็จะทำให้กลายเป็นเด็กที่คุ้นเคยกับการติดหน้าจอ ทำให้เวลาใช้ชีวิตจริงมักจะหุนหันพลันแล่น สมาธิสั้น เมื่อไม่ได้อะไรดั่งใจก็มักจะระเบิดออกมาในเวลาอันสั้น หรือเวลาที่อยากได้อะไรแล้วไม่ได้ เช่น เด็กอยากได้โทรศัพท์มือถือ แต่พ่อแม่ไม่ซื้อให้ เด็กจะมีพฤติกรรมลงไปนอนดิ้นชักงอเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ แม้ว่าพฤติกรรมดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และก็เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองไม่อยากให้เกิดขึ้น ดังนั้นต้องไม่ให้ค่าหรืออย่าให้แต้มกับสิ่งนั้น”

“ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ให้แต้มลบ ซึ่งหมายถึงการดุด่าว่ากล่าว หรือลงมือทำร้ายทุบตีเด็ก ซึ่งตรงข้ามกับแต้มบวก คือ การชื่นชม เพราะเมื่อไรที่ผู้ปกครองทำให้แต้มลบกับเด็ก ด้วยทุบตีหรือด่าทอลูก เด็กจะยิ่งทำพฤติกรรมดังกล่าวด้วยการลงไปนอนบนพื้น และร้องไห้อาละวาด เพื่อเรียกคะแนนความสงสาร ทั้งนี้หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว แนะนำให้ผู้ปกครองจะต้องไม่ตกเป็นเหยื่อของลูก หรือต้องไม่ให้แต้มกับพฤติกรรมดังกล่าว ดังนั้นจึงควรนิ่งเฉยไว้ ตามตำราที่บอกว่านิ่งไว้จะได้ตำลึงทอง”

แนะพ่อแม่รับมือพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจด้วยการนิ่ง

“แต่การนิ่งนั้นผู้ปกครองจะต้องพิจารณา ว่าการที่ปล่อยให้เด็กนอนดิ้นบนพื้น เพื่อเรียกร้องความสนใจนั้น จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับเด็ก เป็นต้นว่าเด็กทำพฤติกรรมดังกล่าวไม่ได้อยู่ในครัว โดยมีมีดทำครัววางใกล้เด็กหรือไม่ เพราะเป็นอย่างนั้น ผู้ปกครองต้องรีบหยุด เพื่อไม่ให้เด็กทำพฤติกรรมดังกล่าวโดยทันที เพื่อป้องกันอันตรายกับตัวเด็ก แต่ถ้าเด็กนอนดื้นเรียกร้อง ความสนใจในห้องโถงโล่งๆ ก็ควรนิ่งเฉย และคอยมองดูว่าเขาปลอดภัยหรือไม่ และสุดท้ายแล้วเด็กก็จะหยุดพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจดังกล่าวไปเอง”

“แต่เมื่อไรที่เด็กหยุดร้องไห้ และหยุดแสดงพฤติกรรมดังกล่าวแล้ว ผู้ปกครองจะต้องไม่ตามใจ โดยการหยิบยื่นแท็บเล็ตหรือโทรศัพท์มือถือให้เด็กเล่น หรือให้ซื้อโทรศัพท์ราคาแพงให้เด็ก เพราะถ้าเด็กหยุดร้องไห้แล้ว และพ่อแม่ปู่ย่าตายายนำมือให้เด็กเล่น สุดท้ายแล้วเมื่อเด็กไม่ได้ดั่งใจ ก็จะเกิดพฤติกรรมลงไปนอนดิ้นบนพื้นอีก ตรงกันข้ามเมื่อเด็กหยุดร้องไห้ และวิ่งมาหาผู้ใหญ่ แนะนำให้นิ่งเฉย หรือเบี่ยงเบนความสนใจไปเรื่องอื่น เช่น การบอกว่าลุงหรือป้าน้าอาไม่ให้เด็กเล่นแท็บเล็ตอีก หรือเด็กๆเล่นแท็บเล็ตอีกไม่ได้แล้ว เพราะได้เวลาอาบน้ำ ทำการบ้าน เล่นกับน้อง หรือไปเดินเล่นที่สนามเด็กเล็กกันดีกว่า ตรงนั้นมีเพื่อนเยอะ ฯลฯ เป็นต้น ”

Related Posts

Send this to a friend