FEATURE

ดูแลสุขภาพจิตหน้าร้อน สำรวจสาเหตุ-ระงับด้วยความเข้าใจ

นอกจากรำคาญตัวแล้ว อากาศร้อนยังเป็นสาเหตุทำให้รำคาญใจ และมีส่วนทำให้อารมณ์ของผู้ป่วยทางจิต เกิดภาวะฉุนเฉียวได้ง่ายกว่าปกติ จนไปถึงการกระตุ้นให้เกิดการกระทำที่ไม่เหมาะสม หรือการระเบิดอารมณ์ร้ายๆ ออกมาได้ จนสร้างผลกระทบต่อคนรอบข้าง

The Reporters ได้สอบถามไปยัง “พญ.พรรณพิมล วิปุลากร” จิตแพทย์ และอดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีรับมือหน้าร้อน โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต อย่างโรคเครียดและโรคซึมเศร้าที่มักหงุดหงิดได้ง่าย รวมถึงอาการเกรี้ยวโกรธ ของคนที่ใช้รถใช้ถนน อันเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนระอุ ที่นอกจากการหาอุปกรณ์คลายร้อนแล้ว การสร้างความผ่อนคลายอย่างง่ายๆ ด้วยการดึงความสนใจ ออกจากตัวกระตุ้นอารมณ์ฉุนเฉียว เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถทำตามได้ไม่ยาก

พญ.พรรณพิมล ให้ข้อมูลว่า “โดยปกติแล้วอากาศไม่ใช่ตัวการหลัก ที่ทำให้ผู้ป่วยโรคเครียดและโรคซึมเศร้า มีภาวะของโรคที่เป็นมากขึ้นแต่อย่างใด แต่อากาศร้อนจะกระตุ้นให้ผู้ป่วย รู้สึกหงุดหงิดมากยิ่งขึ้น จากอารมณ์ที่ไม่ปกติหรือป่วยอยู่แล้ว ซึ่งมาเจอกับอากาศที่ร้อน ก็ยิ่งไปกระทบต่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้ป่วย ที่เกิดจากร่างกายรู้สึกไม่สบายตัวจากอากาศร้อน จึงทำให้คนกลุ่มดังกล่าวหงุดหงิดได้ง่ายกว่าเดิม เพราะโดยทั่วไปแล้วอุณหภูมิในร่างกายปกติ จะอยู่ที่ 37.5-38 องศาเซลเซียส แต่หากอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศา ก็จำเป็นต้องหาวิธีคลายร้อน โดยการทำให้เหงื่อออก แต่คนจำนวนมากมักจะไม่ชอบเหงื่อ เพราะทำให้รู้สึกเหนอะหนะตัว และมีกลิ่นตัว ดังนั้นหน้าร้อนจึงต้องระวังทั้งโรคลมแดด และอาการอ่อนเพลีย หรือการเป็นลมหน้ามืด ดังนั้นหากมีอาการดังกล่าวควรได้รับการป้องกัน โดยการลดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากในช่วงเวลาดังกล่าวอุณหภูมิมากกว่า 40 องศา หรือเตรียมอุปกรณ์คลายร้อน เช่น พัดลมเล็ก หมวก ร่ม และหมั่นจิบน้ำบ่อยๆเพื่อป้องกันการเสียเหงื่อ และอาการอ่อนเพลีย หรือบางคนจะใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดใบหน้าและตัว หรือ อาบน้ำก็ได้เช่นกัน ก็จะช่วยระบายความร้อนออกจากตัวได้ดี นั่นจึงเป็นวิธีในการลดอารมณ์ฉุนเฉียวทั้งในคนทั่วไป และผู้ที่มีภาวะเครียด รวมถึงผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้”

“วิธีรับมือกับสุขภาพจิต ในช่วงหน้าร้อนที่ง่ายที่สุดนั้น แนะนำให้เราดูพยากรณ์อากาศ เพื่อที่ว่าเราจะได้เตรียมตัวเตรียมใจ รับมือกับอากาศร้อน และหาอุปกรณ์ป้องกันตัวเอง จากอุณหภูมิที่พึ่งสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส เช่น อุปกรณ์กันแดด และการไม่อยู่ในที่โล่งแจ้ง หรือถ้าหากต้องทำกิจกรรมกลางแจ้ง ก็ให้หยุดมาพักโดยการอยู่ในร่มชั่วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อลดทั้งการเสียเหงื่อ และลดอารมณ์หงุดหงิดลง”

“ส่วนในกลุ่มผู้ที่ต้องขับขี่รถยนต์ ในช่วงที่มีอากาศอบอ้าวนั้น ทำให้หลายคนเกิดอาการโกรธหรือหงุดหงิดได้ง่ายเนื่องจากรถติด วิธีรับมือกับปัญหานี้ หมอแนะนำว่าถ้าเรารู้สึกหงุดหงิด ให้ดูสัญญาณอารมณ์ของตัวเอง เช่น หากว่าเรากำลังหงุดหงิดนั้น เรากำลังพุ่งเป้าไปที่อะไร หรือ อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้เราอารมณ์ไม่ดี เช่น การที่เราสนใจแต่เรื่องของสัญญาณไฟเขียว เพื่อจะได้รีบไป ดังนั้นวิธีผ่อนคลายตัวเอง จากอารมณ์ดังกล่าวนั้น ให้เราเปิดเพลง และฟังเพลง หรือหันมองไปรอบๆรถเพื่อดูรถยนต์คันอื่น หรือสิ่งแวดล้อมที่อยู่ข้างทาง ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกว่าคนอื่นนั้นก็รถติดเหมือนกับเรา เมื่อนั้นความรู้สึกฉุนเฉียวจะลดลง หรือ ใช้วิธีดึงความสนใจตัวเอง โดยการหันไปคุยกับผู้อื่นในเรื่องทั่วๆไป ตรงนี้จีงเป็นการพาตัวเอง ออกจากสิ่งที่ทำให้เกิดอารมณ์ด้านลบได้”

Related Posts

Send this to a friend