A Time To Fly จากเรื่องราวของหม่อง ทองดี สู่การเติมเต็มความฝันแก่เด็กไร้สัญชาติในไทย
“โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร” เป็นวลีติดหูที่ใครต่อใครต่างเคยได้ยินมาตั้งแต่ครั้นยังเป็นเด็ก หากแต่ลองมองย้อนกลับไปว่าความฝันของเด็กบางคนกลับถูกจำกัดไว้จนเป็นเรื่องที่ทำให้ ‘ไม่กล้าที่จะมีความฝัน’ ซึ่งในสังคมยังมีเด็กอีกหลายกลุ่มที่กำลังเผชิญกับช่วงเวลาดังกล่าว รวมถึง ‘เด็กไร้สัญชาติ’ และนี่เป็นสิ่งที่ภาพยนตร์เรื่อง “A Time To Fly บินล่าฝัน” พยายามบอกเล่าให้ฟังผ่านเรื่องราวของ ‘หม่อง ทองดี’ อดีตเด็กไร้สัญชาติ ที่เคยเผชิญกับปัญหาดังกล่าว จนท้ายที่สุดก็สามารถเป็นตัวแทนของคนไทย ร่วมแข่งขันร่อนเครื่องบินกระดาษพับที่ประเทศญี่ปุ่นได้สำเร็จ
ภาพยนตร์ A Time To Fly โดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมด้วย อิเมจิแมกซ์ จัดจำหน่ายโดย ยูเจ็ดสอง สตูดิโอเป็นผลงานฝีมือการกำกับของ โส่ย–ศักดิ์ศิริ คชพัชรินทร์ โดยมีนักแสดงนำอย่าง โบกี้-ศุภัช ท้าวสกุล รับบทเป็น หม่อง ทองดี นอกจากนี้ยังได้นักแสดงมากฝีมืออย่าง เอ๋-มณีรัตน์ คำอ้วน และ แมน-ธฤษณุ สรนันท์ รับบทเป็นครูที่คอยช่วยเหลือ ผลักดัน และเติมเต็มความฝันให้เด็กคนหนึ่งกล้าที่จะมีความฝันอีกครั้งหนึ่ง
สิ่งที่หนังพยายามฝากไว้ ไม่ใช่เพียงประเด็นเรื่องของการสร้างความฝัน หรือการเติมเต็มความฝันแก่เด็กไร้สัญชาติเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการเปิดประตูครั้งสำคัญให้แก่เด็กไร้สัญชาติในการทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม เพื่อบรรลุความฝันในการเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์นั่นคือการได้รับบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมก้าวสู่การทำประโยชน์เพื่อประเทศไทยต่อไป โดยมีเรื่องราวของหม่อง ทองดี เป็นแรงบันดาลใจดังประโยคจากภาพยนตร์ที่ว่า
“หม่อง ทองดี ใช้เวลา 19 วินาทีในการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย แต่ใช้เวลาถึง 20 ปี กว่าจะบรรลุความฝันที่จะได้เป็นคนไทยโดยสมบูรณ์”
A Time To Fly เวที และกระบอกเสียงของเด็กไร้สัญชาติในไทย
โส่ย–ศักดิ์ศิริ คชพัชรินทร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ A Time To Fly เล่าถึงที่มาที่ไปของหนังเรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากความสนใจในเรื่องความฝันของเด็ก โดยเฉพาะกรณีของ ‘หม่อง ทองดี’ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เคยเป็นข่าวดังมาก่อน พอได้เข้าไปค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมจึงเห็นว่ามีความน่าสนใจ ไม่เพียงแต่เรื่องของหม่องเท่านั้น แต่รวมไปถึงเด็กอีกหลายแสนคนที่ยังเป็นเด็กไร้สัญชาติ ซึ่งเด็กเหล่านี้ต่างก็มีความฝัน เพียงแต่ยังขาดโอกาสที่จะเติมเต็มความฝันได้สำเร็จ เรื่องราวของหม่องและภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเปรียบเสมือนกระบอกเสียงให้เด็กกลุ่มนี้
“ตอนที่เราได้คุยกับคุณหม่องว่า เราจะอยากแทนกลุ่มที่อยู่ทางชายขอบ ด้วยความที่คุณหม่องเป็นเด็กเมือง เด็กเชียงใหม่ แต่เราก็รู้สึกว่าเด็กที่มีปัญหามันอยู่ตามตะเข็บชายแดน เราอยากได้ภาพอารมณ์เป็นหนังอยู่บ้านนอก อยู่ในภูเขา บังเอิญเราเลือกโรงเรียนนี้ปุ๊บ ชนเผ่าเขาเป็นปกาเกอะญอ ก็เลยเอาเรื่องของคุณหม่องมาแล้วแทนปัญหาของเด็กหลายแสนคน” โส่ย–ศักดิ์ศิริ กล่าว
สำหรับเนื้อเรื่องภายในหนังพยายามแบ่งการดำเนินเรื่องออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือส่วน outside story ซึ่งจะเป็นการแข่งร่อนเครื่องบินกระดาษ และ inside story เป็นเรื่องของการต่อสู้เพื่อที่จะได้มาซึ่งบัตรประชาชน ดังนั้นแล้วตัวหนังจึงพยายามสื่อให้เห็นเรื่องราวของเด็กคนหนึ่งที่มีความฝัน โดยมีคนหลากหลายกลุ่มเข้ามาช่วยเหลือขับเคลื่อนให้ความฝันของเด็กไร้สัญชาติคนหนึ่งกลายเป็นจริง และหนึ่งในตัวละครสำคัญที่ช่วยเติมเต็มความฝันของเด็กคนหนึ่งก็คือ คุณครู ที่คอยอยู่เคียงข้างและผลักดันให้เรื่องราวของเด็กคนหนึ่งไปได้ไกลยิ่งขึ้น
แมน-ธฤษณุ สรนันท์ นักแสดงผู้รับบทเป็นครูวีระ เล่าให้ฟังว่าบทบาทของคุณครูนั้นสำคัญต่อเด็กมากไม่ว่าจะในหนังหรือชีวิตจริง อย่างกรณีของครูวีระคือผู้ที่คอยประคับประคอง เป็นพี่เลี้ยง พี่ชาย ที่แนะนำ และไกด์ให้หม่องไปถึงฝั่งฝันได้สำเร็จ
“เมื่อถึงช่วงวัยวัยหนึ่ง เด็กคนหนึ่งก็อาจจะได้อยู่กับคุณครูอาจจะเยอะกว่าที่อยู่กับผู้ปกครองด้วยซ้ำ การที่เด็กคนนึงโตขึ้นมาเป็นยังไง ครูก็มีบทบาทสำคัญมาก” แมน-ธฤษณุ กล่าว
นอกจากครูวีระแล้ว เอ๋-มณีรัตน์ คำอ้วน ซึ่งรับบทเป็นครูอีกคนในเรื่อง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานที่หม่องควรจะได้รับในฐานะของเด็กที่ไล่ตามความฝันเพื่อไปแข่งขันในฐานะตัวแทนของประเทศไทยที่ญี่ปุ่น ดังนั้นแล้วหนังเรื่องนี้จึงบอกเล่าถึงบทบาทของครูที่มีส่วนสำคัญต่อเด็กในหลายมิติ
“คุณครั้งสองท่าน เหมือนผู้ที่ประคองปีก (ของเครื่องบินกระดาษ) ที่ง่อนแง่น ๆ ทั้งสองข้างให้บินขึ้นไป” โส่ย–ศักดิ์ศิริ กล่าว
โส่ย–ศักดิ์ศิริ เล่าเพิ่มเติมว่า ภายในเรื่องยังพูดถึงบทบาทของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งนักกฎหมาย นักข่าว นักการเมือง ที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือในฐานะของมนุษย์คนหนึ่ง หนังเรื่องนี้จึงสร้างขึ้นมาเพื่อสดุดีพวกเขาเหล่านี้ที่ช่วยให้ความฝันของเด็กคนหนึ่งเป็นจริงขึ้นมา ดังนั้นหนังเรื่องนี้จริงเป็นเวทีที่เป็นปากเป็นเสียงแก่เด็กไร้สัญชาติไปพร้อมกับการขอบคุณคนหลากหลายกลุ่มที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือเด็กที่ไม่มีโอกาสเหมือนคนอื่นในฐานะของมนุษย์คนหนึ่ง
“เราให้โอกาส ให้เวทีกับคนที่เขาไม่มีโอกาสจริง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ในความรู้สึกของคนทำงานเราอยากจะให้เวทีนี้กับน้อง ๆ เค้า อย่างน้อยเป็นกระบอกเสียงให้กับคนไทยหลาย ๆ คน เหมือนผู้ใหญ่ที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขาได้ อย่างน้อยให้มีวิจารณญาณเป็น case by case ช่วยคน ๆ นึงให้เปลี่ยนชีวิตไป” โส่ย–ศักดิ์ศิริ กล่าวทิ้งท้าย
หม่อง ทองดี ก้าวสำคัญของเด็กไร้สัญชาติในไทย
สิ่งที่ภาพยนตร์ A Time To Fly บอกเล่าไม่ใด้เป็นเพียงการเติมเต็มความฝันให้แก่เด็กไร้สัญชาติเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นกระบอกเสียงให้พวกเขาได้เป็นที่พูดถึงขึ้นมาในสังคมอีกครั้ง โดยเฉพาะเประเด็นเรื่องของการได้มาซึ่งบัตรประชาชน อันเป็นสิ่งที่ยังคงผลักดันต่อไป เพื่อให้เกิดบรรทัดฐาน และการตีความคุณสมบัติของบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศ เพื่อได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดนสมบูรณ์ ดังเช่นที่หม่อง ทองดี เคยทำไว้
หม่อง ทองดี เป็นลูกของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย แม้ว่าทันทีที่เกิดภายในประเทศจะมีสิทธิในสัญชาติไทยแล้ว แต่การจะได้ถือบัตรประชาชนยังต้องรอให้ครบตามคุณสมบัติ อย่างไรก็ตาม ประเด็นสมัยที่หม่องได้เป็นตัวแทนไปแข่งเครื่องบินกระดาษพับ กลายเป็นประตูที่ทำให้การพูดถึงเรื่องของการคุณประโยชน์เพื่อได้มาซึ่งบัตรประชาชนของเด็กไร้สัญชาติเริ่มถูกพูดถึงมากขึ้น
ภายหลังจากปี พ.ศ.2559 มีการปฏิรูปมติ ครม.เรื่องเด็กที่เกิดในไทย นักเรียน นักศึกษาขึ้นอีกรอบ ทำให้มีความชัดเจนในเรื่องของการทำคุณประโยชน์ รวมถึงหากจบปริญญาตรีก็สามารถถือบัตรประชาชนในไทยได้เลย อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกทิ้งไว้ว่าจำเป็นต้องเฉพาะเด็กที่จบปริญญาตรีแล้วเท่านั้นหรือไม่ จึงจะได้บัตรประชาชน รวมถึงต้องมีคุณสมบัติทำเพื่อประเทศระดับไหนจึงจะได้มาซึ่งบัตรประชาชนมา
ช่วงปี พ.ศ.2561 หลายภาคส่วนทั้งผู้เชี่ยวชาญจากกรมการปกครอง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงนักวิชากรจากภาคส่วนต่าง ๆ ได้ร่วมกันเสนอมาตรฐานเรื่องของการตีความในความหมายของคุณประโยชน์ โดยหยิบยกกรณีของ ‘หม่อง ทองดี’ มาใช้ โดยเฉพาะเรื่องของการเป็นตัวแทนคนที่ไปแข่งต่างประเทศ นั่นจึงทำให้หม่องกลายเป็นการวางบรรทัดฐานใหม่ให้กับคุณสมบัติว่า หากได้ไปทำคุณประโยชน์ที่ต่างประเทศ จึงถือว่าเข้ากับคุณสมบัติแล้ว
อย่างไรก็ตามยังมีความลักลั่นของการตีความเรื่องคุณสมบัติว่า จำเป็นจริง ๆ หรือ ที่ต้องทำคุณประโยชน์โดยการออกนอกประเทศเท่านั้น ขณะที่การทำคุณประโยชน์ให้ประเทศบางครั้งอาจไม่จำเป็นต้องไปไกลถึงนอกประเทศก็ได้ การทำภายในประเทศก็อาจตีความว่าได้ทำแล้วเช่นกัน ซึ่งคำถามที่ตามมาคือต้องระดับไหนถึงจะตรงตามคุณสมบัติดังกล่าว
ดร.ศิวนุช สร้อยทอง หัวหน้าคลินิกกฎหมาย มูลนิธิกระจกเงา อธิบายถึงการดำเนินงานเพื่อผลักดันประเด็นเรื่องการทำบัตรประชาชนให้แก่เด็กไร้สัญชาติที่เกิดในไทยว่า หม่องคือหนึ่งในคนที่ทำคุณประโยชน์ให้ประเทศไทย ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังคิดว่าจะทำอย่างไรให้รับรองคุณประโยชน์แก่เด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาของประเทศไทยต่อ แล้วเริ่มคิดว่าจำเป็นต้องไปต่างประเทศเท่านั้นหรือไม่ และถ้าหากมีใครสักคนที่ไม่เคยไปต่างประเทศ แต่ทำงานบริการสังคม ทำงานบริการทางวิชาการมาตลอดเกือบ 10 ปี ก็ (ควร) ต้องรับรองคุณประโยชน์หรือไม่
“การที่จะรองรับคุณประโยชน์ให้เด็ก ๆ ในสถานศึกษา อาจจะเริ่มต้นจากเด็กในมหาลัยก่อน แล้วค่อยย้อนลงไปเด็กมัธยม เด็กประถมว่าทำยังไง มันก็จะเป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้น แล้วก็จะทำให้ทุกคนมีช่องทางเหมือนที่หนังเรื่องนี้ (A Time To Fly) ทำ ที่เริ่มต้นจากการสร้างให้เด็กมีความฝัน แล้วทำให้เขาเดินต่ออย่างต่อเนื่อง จนมาถึงวันนึงเขาถือบัตรประชาชน” ดร.ศิวนุช กล่าว
ณัฐวี มาลีลักษณ์ หรือ โอ๋ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือกรณีที่ ดร.ศิวนุช และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในประเด็นของการทำคุณประโยชน์เพื่อสังคมในประเทศไทย โดยที่ไม่ต้องไปถึงนอกประเทศ
โอ๋ เป็นลูกของคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย และไม่ได้รับการจดทะเบียนการเกิดเช่นเดียวกับหม่อง แต่พ่อและแม่กลับไปอยู่ที่เมียนมา แต่สิ่งที่โอ๋ทำมาตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 คือการทำงานบริการด้านสังคมสงเคราะห์ พร้อมช่วยเหลืองานวิชาการให้กับมหาลัยธรรมศาสตร์ อีกทั้งยังทำงานร่วมกับ unicef รวมถึงการเป็นตัวแทนเยาวชนไทยเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นด้านการศึกษากับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)
กรณีของโอ๋ จึงเป็นความพยายามในการพิสูจน์ว่า เป็นหนึ่งในรูปแบบของการทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทย และหากเกิดขึ้นจริง จะเป็นการปูทางไปสู่บรรทัดฐานใหม่ให้แก่เด็กไร้สัญชาติ ไม่ใช่เฉพาะกับแค่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่รวมไปถึงมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ต่อไปในภายภาคหน้า
“ถ้าใบปริญญาเป็นเหมือนใบเบิกทางสำหรับคนไร้สัญชาติ บัตรประชาชนก็เหมือนใบเบิกทางที่จะทำให้สำเร็จในความฝันของเค้า ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม อยากให้บัตรประชาชนใบนี้เป็นอากาสที่ทำให้ความฝันของเขาไปถึงฝั่งฝัน” โอ๋ กล่าว
รายงาน: ณัฐภัทร ตระกูลทวีสุข