FEATURE

รับมือกับค่าดัชนีความร้อนพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าจากสภาวะที่ไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อนเต็มตัวแล้ว ตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ. ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งถือว่าเป็นปีที่ร้อนเร็ว และมีอุณหภูมิที่ร้อนจัด โดยมีบางวันที่มีอุณหภูมิทะลุไปถึง 40 องศาเซลเซียส ทั้งทางภาคเหนือและภาคกลาง ขณะที่ช่วงวันที่ 4 มี.ค. เป็นต้นมา ประเทศไทยจะยังคงร้อนอย่างต่อเนื่องไปจนถึงช่วงวันที่ 8-10 มี.ค. เนื่องจากมีฝนเข้ามาบ้าง แต่เป็นเพียงฝนในปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น

อุณหภูมิที่ร้อนจัดในประเทศไทย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) ที่เกิดขึ้นในปีนี้ โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA อธิบายว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ เกิดจากกระแสลมมีกำลังอ่อนและเปลี่ยนทิศทางพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปฟิซิกไปด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปฟิซิก ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปยังทวีปอเมริกาใต้แทน ส่งผลให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย ขาดฝน เกิดความแห้งแล้ง

แม้ไทยจะได้รับอิทธิพลของเอลนีโญในระดับปานกลาง แต่ก็ส่งผลให้ความชื้นลดลงจนทำให้ปริมาณฝนลดลงตามไปด้วย หลายพื้นที่ต้องเผชิญกับภาวะอุณหภูมิที่ร้อนจัด โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่บ่ายโมงเป็นต้นไป ขณะที่ความร้อนจะสมสะสมมากที่สุดในช่วง 16.00 น. ของแต่ละวัน ซึ่งเชื่อว่าหลายคนอาจจะสังเกตถึงอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้จากการใช้ชีวิตประจำวัน สิ่งที่น่ากังวลคืออุณหภูมิที่สูงขึ้น อาจส่งผลให้ ‘ดัชนีความร้อน’ พุ่งสูงขึ้นในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้

กรมอุตุนิยมวิทยา อธิบายว่าดัชนีความร้อน คือ อุณหภูมิที่ร่างกายของมนุษย์รู้สึกได้ในขณะนั้นว่ามีความร้อนอย่างไร ซึ่งการตรวจวัดค่าดัชนีความร้อนมาจากการนำค่าอุณหภูมิของอากาศที่ตรวจวัดได้ และค่าความชื้นสัมพัทธ์มาวิเคราะห์ ทั้งนี้ ค่าดัชนีความร้อนจะมีค่าสูงกว่าอุณหภูมิของอากาศที่ตรวจวัดได้เสมอ อย่างไรก็ตาม ดัชนีความร้อนเป็นเพียงการคาดการณ์ ซึ่งอาจมีปัจจัยด้านต่าง ๆ ที่ทำให้ผลลัพธ์อาจคลาดเคลื่อนได้ เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง รวมถึงชนิดของเสื้อผ้าที่แต่ละบุคคลใส่

อย่างไรก็ดี ดัชนีความร้อนเป็นการตรวจวัดเพื่อใช้ในการประเมินถึงระดับของการเฝ้าระวังที่อาจส่งผลต่อสุขภาพ โดยระดับดัชนีของค่าดัชนีความร้อนในระดับเฝ้าระวังจะอยู่ที่ 27-32.9 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่ต้องระวังเรื่องการทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน จนอาจส่งผลให้ร่างเกิดอาการอ่อนเพลีย ปวดหัว เป็นผื่น รวมถึงตะคริวความร้อน

ค่าดัชนีความร้อนในระดับเตือนภัย อยู่ที่ 33.0-41.9 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจเกิดโรคเพลียแดด (heat exhaustion) ค่าดัชนีความร้อนในระดับอันตราย คือระดับค่าตั้งแต่ 42.0-51.9 องศาเซลเซียส จะต้องระวังเกิดรวมถึงโรคลมร้อน หรือโรคฮีทสโตรก(heat stroke) เพิ่มขึ้น ขณะที่ระดับอันตรายมาก ตั้งแต่ 52.0 องศาเซลเซียส เป็นต้นไป ซึ่งต้องระวังโรคจากแดดที่มีความเสี่ยงเกิดขึ้นสูงมาก

ทั้งนี้ ประเทศไทยตั้งแต่ช่วงวันที่ 4 มี.ค. ตรวจพบว่าค่าดัชนีความร้อนอยู่ในระดับอันตรายในบางพื้นที่ และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยวันนี้ (5 มี.ค. 67) ค่าดัชนีความร้อนพุ่งสูงอยู่ที่ 50.6 องศาเซลเซียส ซึ่งใกล้เคียงกับระดับอันตรายมาก จึงต้องระวังการทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลาติดต่อกันนาน ขณะที่กรุงเทพมหานคร มีค่าดัชนีความร้อนสูงถึง 48.1 องศาเซลเซียส

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ช่วยให้ค่าดัชนีความร้อนลดลง มาจากลมที่พัดเข้ามา รวมถึงฝนตกที่ช่วยอุณหภูมิลดลง แต่ถึงกระนั้น การป้องกัน และดูแลตนเองยังถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่มาพร้อมแดด โดยเฉพาะโรคเพลียแดด และโรคฮีทสโตรก ซึ่งรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้

ตามปกติแล้ว ร่างกายของคนเราจะสัมผัสกับความร้อนผ่านสิ่งแวดล้อมรอบตัว หากอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิที่สูงขึ้น อุณหภูมิในร่างกายจะสูงขึ้นกว่าระดับปกติ (37 องศาเซลเซียส) ดังนั้น เพื่อไม่ให้ร่างกายต้องมีอุณหภูมิที่สูงเกินไป ร่างกายจะมีกลไกเพื่อปรับอุณหภูมิให้ลดลงมาอยู่ในระดับปกติ อย่างไรก็ตาม หากร่างกายไม่สามารถปรับตัวต่อความร้อนที่สูงขึ้นได้ อาจนำไปสูงอาการต่าง ๆ ตามมา ซึ่งอาการเหล่านี้จะหนักขึ้นในกลุ่มเสี่ยง ประกอบด้วย เด็กแรกเกิด ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน และหญิงตั้งครรภ์

สิ่งที่ต้องระวังจากดัชนีความร้อนที่สูงขึ้น คือการอยู่ในพื้นที่ที่อากาศถ่ายเทไม่ดี หรือการดื่มเครื่องดื่มจำพวกชา กาแฟ น้ำอัดลม และแอลกอฮอล์ ประกอบกับการอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสูงจนร่ายกายปรับความร้อนในตัวไม่ทัน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดภาวะฮีทสโตรก

ฮีทสโตรก เกิดจากความร้อนที่สูงเกินไป จนร่ายกายเผาผลาญพลังงานสูงขึ้น นำไปสู่ทำภาวะไข้หรือความผิดปกติทางสมอง ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิในร่างกายได้ อีกทั้งสภาพแวดล้อมมีความชื้นสัมพัทธ์สูง จะทำให้ร่างกายของไม่สามารถขับเหงื่อออกมาได้ ส่งผลให้ให้ความร้อนในร่างกายสูงขึ้น

สำหรับข้อแนะนำในการป้องกันจากค่าดัชนีความร้อนที่สูงขึ้น คือการทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงอยู่ในระดับปกติ โดยกรมอนามัยได้แนะนำข้อควรปฏิบัติเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นด้วยวิธีดังนี้

1.สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน หลวม มีน้ำหนักเบาและระบายความร้อนได้ดี เนื่องจากเสื้อสีเข้มจำดึงดูดการรับแสงเข้ามามากกว่า ขณะที่การสวมเสื้อที่มีน้ำหนักเบา จะทำให้ร่างกายคลายความร้อน และลดอุณหภูมิได้ดี

2.หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แจ้ง หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน

3.ดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ ในระหว่างวัน ช่วยลดความร้อนภายในร่างกาย

4.กรณีที่อากาศร้อน ควรเปิดพัดลมส่าย และเปิดหน้าต่าง เพื่อระบายอากาศที่ร้อน

5.การอาบน้ำบ่อย ๆ จะช่วยลดดอุณหภูมิในร่างกายได้

ส่วนผู้ที่จำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน หรือไม่สามารถหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ ควรดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ ไม่ต้องรอกระหายน้ำ ที่สำคัญต้องหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เนื่องจากจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ หากเป็นได้ ควรหาเวลาพักผ่อนในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หรืออยู่ภายในอาคารที่มีเครื่องปรับอากาศ

ท่ามกลางสภาวะของอากาศที่มีอุณภูมิสูงขึ้น เลี่ยงไม่ได้ที่เราทุกคนต้องปรับตัว และพยายามรับมือเพื่อป้องกันผลร้ายที่ตามมาให้ได้มากที่สุด อีกสิ่งที่จำเป็นมากที่สุดคือการติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรับมือกับสภาพกาศที่อาจแปรปรวนได้ในบางครั้ง อย่างน้อยที่สุดการพยากรณ์อากาศก็เป็นวิธีที่ช่วยให้เรารู้จักเตรียมการ และรับมือไว้ก่อนล่วงหน้า เช่นเดียวกับกรณีของฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน เมื่อเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อสุขภาพ ก็จำเป็นต้องป้องกันเพื่อสุขภาพของตัวเองให้ได้มากที่สุด

อ้างอิง

https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=3312&lang=TH

https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/อากาศร้อนจัดต้องระวัง/

https://www.facebook.com/100064686520182/videos/1901373806987660

https://hia.anamai.moph.go.th/web-upload/12xb1c83353535e43f224a05e184d8fd75a/m_magazine/35644/3243/file_download/97d591f4485c568d39dffe07f00e3575.pdf

Related Posts

Send this to a friend