ENVIRONMENT

เผยวิกฤตป่าไคร้-พันธุ์ปลาเสี่ยงสูญพันธุ์ ชาวบ้านกังวลสร้างเขื่อนเพิ่ม กระทบประมงพื้นบ้าน

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 67 กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขงและกลุ่มฮักเชียงคาน นำทีมคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามปัญหาและผลกระทบข้ามพรมแดน ที่เกิดจากโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน (โครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงตอนล่าง) รวมถึงอนาคตที่จะมีโครงการก่อสร้างเขื่อนสานะคาม ซึ่งเป็นโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายประธานแห่งที่ 6 เพื่อผลิตไฟฟ้าบริเวณแม่น้ำโขงตอนล่าง และโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากชม (ผามอง) บริเวณพรมแดนไทย-สปป.ลาว อ.เชียงของ ถึง อ.ปากชม จ.เลย ซึ่งปัจจุบันได้มีโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่เปิดดำเนินการแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ โครงการไซยะบุรี และโครงการดอนสะโฮง

ในช่วงเช้า กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง กลุ่มฮักเชียงคาน และคณะสื่อมวลชนเดินทางไปที่บ้านคกเว้า อ.ปากชม จ.เลย เพื่อสำรวจดูจุดก่อสร้างสันเขื่อนปากชมที่จะปิดกั้นแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีเกาะแก่งขนาดใหญ่ และมีช่องแคบที่สุดระหว่างช่องเขา จะส่งผลให้ชุมชนเหนือเขื่อนอาจถูกน้ำท่วมกว่า 10 หมู่บ้านและพื้นที่ทำกินเกษตรริมโขงของชาวบ้านก็จะถูกน้ำท่วมเช่นเดียวกัน รวมถึงชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงต้องถูกย้ายที่ออกไป

จากนั้นทั้งหมดเดินทางไปสำรวจบริเวณแก่งจันทร์ ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม ซึ่งเป็นจุดที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง ภายหลังมีการสร้างเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง ใน สปป.ลาว พร้อมดูสภาพระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงช่วงหน้าแล้งของแม่น้ำโขง และปรากฏการณ์น้ำใสไร้ตะกอน

นายมนตรี จันทวงศ์ กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง กล่าวว่า ความผันผวนของระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในแต่ละวัน ภายหลังการมีการปิดกั้นแม่น้ำโขง ทำให้ตะกอนน้ำหายไปร้อยละ 50 ส่งผลให้ป่าต้นไคร้ที่อยู่บนหาดทรายและโขดหินเสื่อมโทรม จนถูกพืชต่างถิ่น เช่น ต้นแขม ไมยราพยักษ์ เติบโตขึ้นมาปกคลุมแทนในพื้นที่ รวมถึงกลุ่มพืชเอเลี่ยนสปีชีส์รุกราน ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำและวิถีชีวิตของชุมชนริมน้ำโขง

“ตะกอนแม่น้ำที่หายไป โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่ถูกน้ำพัดพาเอาตะกอนออกไป ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่รากใช้ยึดเกาะหายไป ทำให้รากต้นไคร้และต้นไม้ในพื้นที่ ไม่สามารถยึดเกาะกับโขดหิน ต้องยืนต้นตาย ระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้ต้นไคร้เกิดใหม่โตไม่ทัน จากอดีตที่มีป่าไคร้ ต้นหว้า พลับพลึง เติบโตเขียวเต็มพื้นที่จำนวนมาก มีบุ่งหรือแอ่งน้ำเป็นแหล่งให้ปลาวางไข่และอาศัย ตอนนี้ต้นไคร้ค่อยๆ ตาย ทำให้แม่น้ำโขงมีสภาพแห้งแล้งเหมือนทะเลทราย” นายมนตรี กล่าว

นายทองอินทร์ เรือนคำ ชาวประมงพื้นบ้านเชียงคาน กล่าวว่า ตนเองเริ่มรู้ตัวว่าเกิดปัญหาในแม่น้ำโขง ที่ อ.เชียงคาน ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ปี 2554 เริ่มเกิดผลกระทบในเรื่องการหาปลา เนื่องจากตะกอนน้ำในแม่น้ำช่วงการสร้างเขื่อนไซยะบุรี มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้มีจำนวนปลาในแม่น้ำที่น้อยลง ต้นไคร้เริ่มหายไป
ทำให้ยากต่อการหาปลา เนื่องจากไม่มีที่ให้สำหรับปลาขึ้นไปวางไข่ได้ ตะกอนที่มีการทับถมอยู่ตามต้นหญ้า ต้นไคร้ ลดลงจำนวนมาก ทำให้ระบบนิเวศป่าไม้ริมแม่น้ำโขงถูกทำลายและล้มตาย ส่งผลให้การประกอบอาชีพประมงของชาวบ้านไม่สามารถยึดเป็นอาชีพหลักได้ดังเดิม

อนาคตหากมีการสร้างเขื่อนสานะคามขึ้น ก็ยิ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อชาวประมงในพื้นที่ ทำให้ยากต่อการหาปลา ปลาขนาดใหญ่เริ่มหายไป จะจับได้แต่ขนาดเล็กและหายากขึ้น ทำให้ชาวประมงจำนวนมากต้องเลิกอาชีพหาปลา จากเดิมที่เชียงคานเคยมีชาวประมงพื้นบ้าน 200-300 คน ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 20-30 คน ทำให้รายได้หลักของคนในชุมชนขาดหายไป ตนเองจึงอยากให้ภาครัฐมาช่วยผลักดันไม่ให้เกิดการทำเขื่อน เพราะมีผลกระทบต่อเกษตรและชาวประมง ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องเปลี่ยนอาชีพมาเป็นไกด์นำเที่ยวใน อ.เชียงคาน แทน

ด้านนายประยูร แสนแอ ชาวประมงพื้นบ้านเชียงคาน กล่าวว่า หลังจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรีเสร็จสิ้นในปี 2562 สภาพแวดล้อมและการ ผันผวนของน้ำก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน ทำให้ระบบนิเวศและสัตว์น้ำในบริเวณแม่น้ำโขงเปลี่ยนไปจากเดิม ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของคนในชุมชน

“ทำให้รู้ว่าผลกระทบของการสร้างเขื่อนลำบากมาก ถือเป็นผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดของในชีวิตของเรา ถ้ามาสร้างเขื่อนสานะคามอีก รับรองว่าคนเชียงคานอยู่ยากแน่นอน” นายประยูรกล่าว

นายประยูร กล่าวต่อว่า ตั้งแต่เกิดโครงการสร้างเขื่อนขึ้น ก็ไม่มีหน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานใดเข้ามาให้ความช่วยเหลือและให้ความสนใจแม้แต่น้อย ชาวบ้านก็เคยไปยื่นเรื่องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้าและเรื่องก็เงียบหายไป ตนเองจึงอยากฝากถึงภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ลงพื้นที่มาดูปัญหาของชาวบ้านบ้าง ดูว่าชาวบ้านมีความเป็นอยู่อย่างไร เดือดร้อนมากขนาดไหน มาให้กำลังใจพวกเรากันหน่อย

“ตั้งแต่มีโครงการก่อสร้างเขื่อนสานะคาม มีบริษัทเอกชนที่เคยเข้ามาพูดคุยและรับฟังปัญหากับชาวบ้านเพียงครั้งเดียว ตอนแรกบอกจะเข้ามาเยียวยาแต่สุดท้ายก็เงียบหายไป หากยังมีการสร้างเขื่อนปากชมหรือเขื่อนสานะคามขึ้น ส่งผลให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมโขง หลายหมู่บ้านต้องรื้อถอนออก เกิดน้ำท่วมเต็มไปหมด” นายประยูรกล่าว

นายประยูร กล่าวต่อว่า หลังเกิดผลกระทบจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ยึดอาชีพประมงเป็นอาชีพหลักในการหารายได้ ต้องเปลี่ยนไปประกอบอาชีพรับจ้าง ทำไร่ ทำสวน เป็นแม่บ้านที่โฮมสเตย์หรือโรงแรมในพื้นที่ ในอดีตรายได้จากการทำอาชีพประมงตกเดือนละ 30,000 บาท แต่ปัจจุบัน 10,000 เดียวก็ยังไม่ถึง บางคนออกไปหาปลาทั้งอาทิตย์ก็ไม่ได้ อีกทั้งยังต้องเสียค่าเดินทางค่าน้ำมัน ค่าอุปกรณ์ในการจับปลา จับไปก็ไม่คุ้มเสีย

ด้านนายชาญณรงค์ วงศ์ลา กลุ่มฮักเชียงคาน กล่าวว่า ผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเขื่อน ส่งผลต่อประมงธรรมชาติ และประมงพื้นบ้าน อย่างปีที่แล้วกลุ่มชาวประมงที่เลี้ยงปลากระชัง รายได้สูญหายไปกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเยอะมากสำหรับชาวบ้านที่ยึดถืออาชีพนี้เป็นหลัก รวมถึงกลุ่มเกษตรริมโขง ในอดีตสามารถปลูกกล้วย ปลูกข้าวโพดได้ แต่ขณะนี้ไม่สามารถที่จะปลูกอะไรได้เลย เนื่องจากไม่มีตะกอนและไม่มีดินที่เหมาะแก่การปลูก รวมถึงสภาพอากาศที่มีความร้อนสูง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ชาวบ้านในพื้นที่เหมือนถูกบังคับให้ปรับตัวและเปลี่ยนอาชีพจากชาวประมง มาประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยวแทน เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถเลี้ยงปากท้องคนในครอบครัวต่อได้

Related Posts

Send this to a friend