FEATURE

กราฟฟิตี้ ศิลปะ? ว่าด้วยการเมืองบนพื้นที่สาธารณะ

ในซอกมุมเล็กๆ ของทุกเมืองใหญ่ มักมีงานกราฟฟิตี้ หรือภาพวาด/ การขีดเขียนบนผนัง ให้คุณได้เห็นมากมาย … บางคนมองเห็นมันเป็น “งานศิลปะ” เป็น Street Art ที่อาจมีภาพสวยๆ ตัวอักษรแปลกตา ที่ดูรวมๆ แล้วก็มีเสน่ห์ แต่งแต้มพื้นที่รกร้างให้ดูมีสีสัน หรือแม้แต่ตั้งใจสื่อความหมายในทางสังคม หรือการเมือง ในขณะที่บางคนมองเห็นเป็นเพียงผลงานที่ “คนมือบอน” ทำทิ้งไว้ ขีดๆ เขียน ไม่มีความหมายหรือคุณค่าใด … วันนี้ The Reporters จะพาคุณไปรู้จักกับ กราฟฟิตี้ เพื่อหาคำตอบว่า ที่แท้แล้วมันคืออะไร ….

ความหมายและนิยามของกราฟฟิตี้

มีข้อถกเถียงอยู่มากมายว่าการขีดเขียนบนกำแพงหรือพื้นที่สาธารณะรูปแบบไหนที่จัดเป็นกราฟฟิตี้ แล้วกราฟฟิตี้แบบไหนกันที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง หรือรูปแบบไหนกันที่สามารถเรียกได้ว่าเป็นศิลปะที่ผู้คนยอมรับได้มากกว่าการเป็นการเขียนเพื่อทำลายทรัพย์สินเพียงเท่านั้น ดังนั้นเราจึงต้องเริ่มจากทำความเข้าใจกันก่อนว่า ความหมายหรือนิยามเบื้องต้นของคำว่ากราฟฟิตี้ มีลักษณะอย่างไรกัน

กราฟฟิตี้ ในภาษาอิตาลีมาจากคำว่า “sgraffiato” ซึ่งหมายถึงลักษณะของการขูด ตัด หรือสลัก (Lockett, 2010) รวมถึงอาจเป็นการประกอบออกมาเป็นสิ่งต่าง ๆ ทั้งรูปภาพ อักษร ภาษา หรือสัญลักษณ์ ที่มีการวาด ทาสี สลัก หรือขีดเขียน บนพื้นผิวที่เปิดเผยต่อสาธารณะได้ (โดยส่วนใหญ่จะเป็นกำแพง) ด้วยอุปกรณ์การเขียนต่าง ๆ การพ่นสี หรืออุปกรณ์สำหรับใช้แกะสลัก (Klingman and Shalev, 2001)

แม้ลักษณะการขีดเขียนบนพื้นที่สาธารณะจะเหมือนกัน เป็นลักษณะของการกระทำผิดกฎหมายในเชิงทำลายทรัพย์สินเหมือนกัน แต่รูปแบบหรือลักษณะบางอย่างเป็นสิ่งที่ผู้คนยอมรับว่าเป็นการสร้างสรรค์ผลงานเชิงศิลปะมากกว่าการทำลายพื้นที่สาธารณะ สิ่งนี้เองที่ทำให้เกิดข้อสงสัยของนักวิชาการเพื่อหาคำตอบว่ารูปแบบใดกันที่ผู้คนยอมรับการกระทำและผลงานที่มีคุณค่าเชิงสังคมมากกว่ากัน

ผลงานของ Banksy ในสหราชอาณาจักร / ภาพ: Jayne Thana

ในงานศึกษาของ Madeleynn Green (2014) เรื่อง A Beautiful Mess: The Evolution of Political Graffiti in the Contemporary City ซึ่งพูดถึงวิวัฒนาการของกราฟฟฟิตี้ทางการเมืองเริ่มมาจากอิทธิพลของ ‘Banksy’ ศิลปินผู้รังสรรค์ผลงานด้วยการพ่นสีสเปรย์ทั่วเมืองลอนดอนและบริสตอล ประเทศอังกฤษ หลังได้รับการต่อยอดมาจากสัญลักษณ์หรือข้อความอนาธิปไตย (anarchy) ซึ่งแสดงออกถึงการปฏิเสธการปกครองแบบจัดลำดับชั้น (hierarchy) กล่าวคือ Banksy ได้นำอิทธิพลจากกราฟฟิตี้แบบดั้งเดิมในลักษณะของการเขียนอักษรเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งมีที่มาจากฮิปฮอป (traditional graffiti) มาเป็นแรงบันดาลสู่การเป็นศิลปะบาทวิถี (street art) ด้วยการสร้างรูปภาพที่สะท้อนถึงการเมือง รวมถึงการวิจารณ์ระบบสังคม ก่อนจะกลายเป็นที่พูดถึงเป็นวงกว้างของผู้ที่สัญจรไปมาในฐานะของศิลปะร่วมสมัย

ผลงานของ Banksy ในสหราชอาณาจักร / ภาพ: Jayne Thana

ความแตกต่างที่เกิดขึ้นของรูปแบบการนำเสนอที่เปลี่ยนไป ทำให้กราฟฟิตี้ถูกพูดถึงในแง่ของศิลปะมากขึ้น เนื่องจากไม่ได้มีเพียงแค่การสลักตัวอักษรหรือสัญลักษณ์เพียงรูปแบบเดียว อีกทั้งรูปแบบการนำเสนอที่ Banksy ได้สร้างออกมากลายเป็นข้อถกเถียงถึงการนิยามกราฟฟิตี้ด้วยการแบ่งประเภทให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เส้นแบ่งระหว่างกราฟฟิตี้จึงเกิดเป็นสองลักษณะระหว่างผลงานที่ออกมาในเชิงศิลปะ และผลงานที่ออกมาในรูปแบบของการทำลายทรัพย์สิน

กราฟฟิตี้รูปแบบเดิม (traditional graffiti) ถูกยอมรับในสายตาสาธารชนน้อย เพราะทำให้นึกถึงภาพความเลอะเทอะของเมืองและรอยขูดขีดบนอาคารที่ทรุดโทรม และส่วนใหญ่เป็นเยาวชนที่ต้องการเรียกร้องพื้นที่ในสังคมที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าไม่มีตัวตนในสังคมนั้น (Madeleynn, 2014) โดยอาศัยวิธีการสลักชื่อ ที่อยู่ หรือสถาบันทิ้งไว้ (tagging) ซึ่งถูกจัดในหมวดหมู่ของการทำลายทรัพย์สิน ในขณะที่กราฟฟิตี้อีกรูปแบบที่ถูกเรียกว่า ศิลปะบาทวิถี กลับเป็นสิ่งตรงกันข้ามกัน ประกอบด้วยรูปภาพตามผนัง กำแพง ด้วยเทคนิดต่าง ๆ อาจปรากฏข้อความบางอย่างเข้าไปด้วย ถือว่าผลงานมีลักษณะของความเป็นศิลปะที่ผู้คนยอมรับ ทั้งนี้ Dickens (2008) ให้จุดสังเกตเพิ่มเติมว่า กราฟฟิตี้รูปแบบเดิม มีแกนสำคัญ (core) คือการสลักชื่อทิ้งไว้เพื่อสร้างตัวตนของพวกเขาในสังคม และกำลังถูกแทนที่ด้วยศิลปะรูปแบบใหม่ที่มีลักษณะของเครื่องหมายหรือรูปภาพเชิงสัญลักษณ์เข้ามาแทนที่ (street logo) Dickens เรียกสิ่งนี้ว่า “post-graffiti”

อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของผู้เขียนมองว่า ความหมายของกราฟฟิตี้ที่สื่อถึงการเมืองอาจไม่ได้จำเพาะอยู่เพียงรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ถึงแม้ว่าบางรูปแบบจะไม่เป็นที่ยอมรับในสายตาของใครหลายคน (และมีแง่มุมของการกระทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำลายทรัพย์สิน) แต่ผู้เขียนจะไม่ละเลยถึงประเด็นของกราฟฟิตี้ในฐานะที่เป็นการแสดงออกทางการเมืองรูปแบบหนึ่งที่ศิลปินทุกระดับสามารถใช้พื้นที่สาธารณะเป็นเสียงที่สะท้อนไปถึงความไม่พอใจ หรือความรู้สึกต่อการเมืองและสังคมที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ โดยใช้เทคนิคและกลยุทธ์ที่ต่างกัน แต่ขณะเดียวกันผู้เขียนจะให้น้ำหนักของศิลปะบาทวิถีในฐานะที่เป็นทั้งเครื่องมือแสดงออกทางการเมืองที่มาพร้อมกับการกลายเป็นสินค้า ซึ่งจะกล่าวถึงในช่วงท้ายของบทความ

กราฟฟิตี้: เสียงของคนตัวเล็ก สู่การแสดงออกทางการเมืองบนพื้นที่สาธารณะ

กราฟฟิตี้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการถ่ายทอดข้อความ และนำเสนอมุมมองของศิลปินให้แก่ผู้ที่พบเห็น ซึ่งมีทั้งผู้ที่มองว่าเป็นศิลปะรูปแบบหนึ่ง ในขณะที่บางคนอาจมองว่าเป็นปัญหาต่อสังคม เนื่องจากศิลปินมักจะใช้ผนังของสถานที่ต่าง ๆ สร้างผลงาน รวมไปถึงสิ่งที่พบได้ตามท้องถนน เช่น ป้ายรถเมล์ ไฟจราจร ม้านั่ง กำแพง เป็นต้น (Tapies, 2007) บางครั้งการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่พบเห็นได้ข้างทาง หรือพื้นที่สาธารณะบางพื้นที่ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ศิลปินตั้งใจส่งข้อความไปถึงคนบางกลุ่มรวมไปถึงผู้มีอำนาจในสังคมให้พวกเขาได้รับรู้ ดังนั้นเราจำเป็นต้องมองกราฟฟิตี้โดยไม่ละเลยเรื่องของพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่กราฟฟิตี้ปรากฏขึ้น (Lewisohn, 2008) เพื่อเข้าใจถึงบริบททางการเมืองที่เกี่ยวโยงกับพื้นที่สาธารณะแห่งนั้น

Schacter (2008) นักชาติพันธุ์วิทยา (ethnographer) ลงพื้นที่สำรวจศิลปินแนวบาทวิถี (street artists) ก่อนจะสรุปว่า ศิลปินเหล่านี้มองหาทางเลือกที่พวกเขาสามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ และสร้างผลงานศิลปะโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้เมืองที่พวกเขาอยู่เป็นพื้นที่ของการสนทนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงสังคมและการเมืองได้ ดังนั้นด้วยสภาพแวดล้อมแบบเมือง ศิลปะบาทวิถีจึงเป็นวิธีการที่ใครก็ตาม พยายามนำเสนอความคิดเห็นที่หลากหลาย เป็นพื้นที่ของการแสดงความคิดเห็นที่พวกเขาไม่พอใจสังคมหรือการเมือง ณ ขณะนั้น

Hanauer (2004) อธิบายถึงการทำหน้าที่ของกราฟฟิตี้ไว้ได้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า กราฟฟิตี้นั้นเป็นการอภิปรายทางความคิดให้สาธารณะได้รับรู้บางประเด็นที่สื่อกระแสหลักในสังคมได้เพิกเฉยต่อเสียงของพวกเขา เปิดโอกาสให้บุคคลหรือใครก็ตามได้แสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะ และเปิดพื้นที่ให้คนชายขอบแสดงตัวตนมากขึ้น

กราฟฟิตี้ที่ถูกใช้เพื่อแสดงออกทางการเมืองจึงสะท้อนถึงสภาพสังคมในปัจจุบันที่ศิลปินกำลังกังวล และเป็นการต่อต้านกับผู้มีอำนาจไปพร้อมกัน (Klingmanand and Shalev, 2001) ในขณะเดียวกัน กราฟฟิตี้ก็กลายเป็นวิธีการที่ศิลปินหรือใครก็ตามนำไปใช้เพื่อแย่งชิงพื้นที่ของความหมายจากผู้มีอำนาจหรือรูปแบบสังคม เช่น การเติมแต่งหรือขีดเขียนคำลงไปบนโลโก้ร้านอาหาร ยี่ห้อแบรนด์ดัง สะท้อนถึงมุมมองต่อบริโภคนิยมที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการป่วนทางวัฒนธรรม (Culture jamming) เพื่อต่อต้านวัฒนธรรมกระแสหลักในระบบทุนนิยม

การใช้กราฟฟิตี้จึงเป็นผลงานที่ศิลปินใช้เพื่อแสดงออกทางการเมืองที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ โดยอาศัยการช่วงชิงพื้นที่สาธารณะเพื่อบอกเล่าเรื่องราวความคับข้องใจที่ปรากฎในสังคมด้วยการพยายามเข้ายึดพื้นที่ที่มีผู้คนครอบครองไว้ ไม่ว่าจะเป็นป้ายโฆษณาร้านอาหารที่ผูกติดกับบริโภคนิยมอันเกิดจากระบบทุนนิยม พื้นที่ของชุมชนที่เผชิญกับปัญหาสังคมแตกต่างกัน กำแพงบนพื้นที่สาธารณะและส่วนตัวที่พวกเขาอยากพูดถึงคนกลุ่มนั้น (ดังเช่นกรณีการใช้สีสเปรย์ฉีดพ่นกำแพงวัดพระแก้วของพระบรมมหาราชวัง) ซึ่งทั้งหมดนี้ยังถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการต่อต้านกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่เหล่านั้นไปพร้อมกัน

กราฟฟิตี้: การต่อต้าน และการท้าทาย ผู้มีอำนาจในสังคม

กราฟฟิตี้ที่ใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางการเมืองในที่สาธารณะจัดเป็นรูปแบบหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับจุลภาคซึ่งมักใช้โดยคนชายขอบของสังคมที่ไม่สามารถเข้าถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองในรูปแบบอื่น หรือผู้ที่ไม่เชื่อว่าการเมืองสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงตามที่ต้องการได้ (Dobratz and Waldner, 2013) กราฟฟิตี้จึงกลายเป็นกลยุทธ์ของการต่อต้านที่ท้าทายต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจ (Buechler, 1999) ระหว่างปัจเจกบุคคล (ส่วนใหญ่จะเป็นคนชายขอบของสังคม) ที่ต้องการสื่อสารบางอย่างไปถึงรัฐหรือสถาบันซึ่งอยู่ในระดับมหภาค

แม้กราฟฟิตี้จะเป็นรูปแบบหนึ่งของการแสดงออกทางการเมืองที่ไม่รุนแรงเท่ากับการก่อจราจล หรือรูปแบบของการชุมนุมที่มีการเข้าปักหลักหรือยึดครองพื้นที่สาธารณะในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกสลายการชุมนุมหรือการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ และอาจรุนแรงถึงขั้นเกิดการประท้วงขึ้น แต่กราฟฟิตี้ก็เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ใช้สะท้อนถึงความขัดแย้งทางสังคมที่เกิดขึ้น (Dobratz, 2012) ผ่านข้อความที่เขียนต่อต้านโดยตรง หรืองานศิลป์ที่อาศัยทักษะต่าง ๆ และถูกตีความโดยผู้พบเห็นอีกขึ้นหนึ่ง (Jorgensen, 2008) ถึงแม้ว่าทั้งสองรูปแบบจะมีความแตกต่างกัน แต่ทั้งหมดคือความพยายามที่จะเข้าควบคุม (take over) พื้นที่และความหมายแทนที่วาทกรรมหลักที่เกิดอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามในบางกรณีกราฟฟิตี้ก็ถูกมองว่าเป็นการใช้เพื่อโจมตีรัฐ และถูกรัฐตอบโต้โดยใช้รุนแรงกลับ (Chmielewska, 2007)

มองกลับมาที่ประเทศไทย ตัวอย่างกรณีของ Alex Face ศิลปินบาทวิถี ผู้ใช้งานศิลปะเป็นส่วนของการเรียกร้องให้กับชาวบ้านเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่ปักหลักอยู่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ด้วยผลงานกราฟฟิตี้บนตู้คอนเทนเนอร์ร่วมกับการปักหลักชุมนุม สร้างแรงกระเพรื่อมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกรณีดังกล่าวให้มาสนใจถึงปัญหาที่ชาวจะนะกำลังเผชิญและต้องการเรียกร้องถึงผลกระทบของโครงการที่จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบที่อยู่อาศัย

ถึงตรงนี้เราสามารถอธิบายได้ว่ากราฟฟิตี้ที่ใช้ในแนวทางการเมืองเป็นวาทกรรมทางการเมืองที่ใช้ต่อต้านวาทกรรมกระแสหลักหรือรัฐ ซึ่งมีทั้งการใช้ทรัพย์สินสาธารณะและส่วนตัว เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองในระดับจุลภาคจากล่างขึ้นบน กล่าวคือเป็นการเคลื่อนไหวโดยปัจเจกเพื่อต้องการไปให้ถึงสถาบัน รัฐ หรือกลุ่มผู้มีอำนาจ และในบางครั้งกราฟฟิตี้ก็ถูกใช้รวมไปพร้อมกับกิจกรรมอื่นในการเคลื่อนไหวทางสังคมไปพร้อมกัน นำมาซึ่งการท้าทายต่ออำนาจบนพื้นที่สาธารณะ

ผลงานของ Alex Face / ภาพ: ศุภสัณห์ กันณรงค์

จากศิลปะสู่การกลายเป็นสินค้า จากการต่อต้านสู่การฟื้นฟู

ย้อนกลับมาที่ผลงานของ Banksy ตามที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้า ถึงแม้ว่าผลงานของเขาจะสร้างการเปลี่ยนแปลงของการใช้ศิลปะบาทวิถีในการแสดงออกทางการเมืองสู่สายตาสาธารณชนไปแล้ว แต่ขณะเดียวกันผลงานของเขาที่อาศัยเทคนิคที่ทำให้สะดุดตาและสร้างความประทับใจต่อใครหลายคน กลายเป็นลักษณะหนึ่งของศิลปะในเมืองร่วมสมัยที่ค่อย ๆ เข้ามาแทนที่ลักษณะของกราฟฟิตี้ในแบบข้อความตัวอักษรเพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังส่งเสริมให้ย่านบางย่าง หรือพื้นที่ชายขอบบางแห่งที่เขาไปเข้าไปฝากผลงานไว้ กลายเป็นการสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ให้กับบริเวณสถานที่โดยรอบ จุดนี้เองที่ทำให้กราฟฟิตี้เริ่มถูกยอมรับมากขึ้นในฐานะของการเพิ่มมูลค่า ไม่ใช่การทำลายทรัพย์สินสาธารณะ (Madeleynn, 2014)

อีกตัวอย่างที่ควรกล่าวถึงคือผลงานของ Blek le Rat ศิลปินชาวฝรั่งเศสผู้เริ่มต้นจากการพ่นกราฟฟิตี้ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นการใช้ศิลปะผ่านลายฉลุ (stencil art) ซึ่งกลายเป็นอิทธิพลต่อศิลปินบาทวิถีในยุโรป ทำให้งานกราฟฟิตี้ในยุคหลังสมัยใหม่ (post-graffiti) เป็นที่นิยม พร้อมเป็นการโต้ตอบและปรับปรุงทัศนียภาพของสถานที่แวดล้อมไปในตัว ขณะเดียวกัน David Ley (2003) อธิบายถึงปรากฏการณ์การหลั่งไหลของศิลปินเข้าสู่เมืองและเปลี่ยนสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ให้เกิดความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจว่าเป็นวิวัฒนาการของศิลปะแบบเมือง “จากสิ่งไม่พึงประสงค์สู่การเป็นศิลปะ และศิลปะสู่การกลายเป็นสินค้า” จากศิลปะที่แสดงออกถึงการต่อต้าน เปลี่ยนเป็นสินค้าทางศิลปะที่มีคุณค่า

การทำให้ศิลปะบาทวิถีกลายเป็นสินค้า ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่พื้นที่เดิมที่เคยมีสภาพทรุดโทรมสู่การสร้างมูลค่าให้สถานที่ด้วยคุณค่า กลายเป็นคุณค่าใหม่ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับศิลปะบาทวิถี ฟื้นฟูสภาพชุมชนนำไปสู่การกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่รัฐ

สุดท้ายนี้ ในทัศนะของผู้เขียนมองว่ากราฟฟิตี้เป็นรูปแบบหนึ่งที่ถูกใช้เพื่อแสดงตัวตนบางอย่างของกลุ่มคนบางกลุ่มในสังคม ซึ่งบางครั้งอาจเป็นเพียงกลุ่มคนที่อยากมีพื้นที่ให้ตนเอง หรือกลุ่มของตน แต่ในบางครั้งก็เป็นการแสดงตัวตนถึงปัญหาทางสังคมที่พวกเขากำลังเผชิญผ่านการเขียนข้อความบอกเล่าเรื่องราว จนไปถึงการสร้างผลงานศิลปะบาทวิถีที่มีลูกเล่นเพื่อแสดงออกทางการเมืองในหลายระดับที่พวกเขาพยายามจะต่อต้าน ความน่าสนใจของกราฟฟิตี้จึงเป็นเรื่องกลวิธีที่พวกเขาใช้เพื่อพยายามเรียกร้องประเด็นต่าง ๆ ในสังคม หากเสียงของคนบางกลุ่มไปไม่ถึง อาจใช้วิธีการรวมตัวปักหลักหรือชุมนุม เพื่อให้เสียงของพวกเขาดังขึ้น แต่ขณะเดียวกันกราฟฟิตี้ก็เป็นเหมือนอีกกระบอกเสียงที่จะช่วยให้เสียงของพวกเขาดังขึ้นไปอีก ส่งไปถึงผู้คนหลายระดับในสังคม

ภาพ: พุฒิพงศ์ ธัญญพันธุ์

อ้างอิง

Buechler, Steven. (1999). Social Movements in Advanced Capitalism: The Political Economy and Cultural Construction of Social Activism. Oxford: Oxford University Press.
Chmielewska, Ella. (2007). Graffiti and Place. SAGE Journals. 10(2).
Dickens, L. (2008). Placing Post-graffiti: The Journey of the Peckham Rock. Cultural Geographies. 15(4), 471-80.
Dobratz, Betty A. and Lisa K. Waldner. (2013). Graffiti as a Form of Contentious Political Participation. Sociology Compass. 7(5), 377-389.
Dobratz, Betty A., Lisa K. Waldner and Timothy Buzzell. (2012). Power, Politics, and Society: An Introduction to Political Sociology. Boston, MA: Allyn and Bacon.
Hanauer, David I. (2004). Silence, Voice and Erasure: Psychological Embodiment in Graffiti at the Site of Prime Minister Rabin’s Assassination. Psychotherapy in the Arts. 31(1), 29–35.
Jorgensen, J. Normann (2008). Urban Wall Languaging. International Journal of Multilingualism. 5(3), 237–252.
Klingman, Avigdor and Ronit Shalev. (2001). Graffiti: Voices of Israeli Youth Following the Assassination of the Prime Minister. SAGE Journals. 32(4), 403–420.
Lewisohn, Cedar. (2008). Street art: the graffiti revolution. New York: Abrams.
Ley, David. (2003). Artists, Aestheticization, and the Field of Gentrification. SAGE Journals. 40(12).
Lockett, Christopher. (2010). Accidental History: Mass Culture and HBO’s Rome. Journal of Popular Film and Television. 38(3), 102–112.
Madeleynn, Green. (2014). A Beautiful Mess: The Evolution of Political Graffiti in the Contemporary City. Cornell International Affairs Review. 8(1).
Schacter, R. (2008). An Ethnography of Iconoclash: An Investigation into the Production, Consumption and Destruction of Street-art in London. Journal of Material Culture. 13(1), 35-61.
Tapies, Xavier A. (2007). Street Art and the War on Terror. London: Rebellion Books

เรื่อง: ณัฐภัทร ตระกูลทวีสุข

ภาพ: พุฒิพงศ์ ธัญญพันธุ์

Related Posts

Send this to a friend