FEATURE

เลี้ยงลูกให้ภูมิใจในตัวเอง ปรับบทบาทพี่ดูแลน้อง-ชดเชยในสิ่งที่ขาด

ทุกปัญหาย่อมมีทางออกเสมอ และส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูแลของพ่อแม่ โดยเฉพาะการแสดงออกของผู้ปกครอง ที่สามารถช่วยลดความรู้สึกไม่น้อยใจ ให้กับลูกหลานได้ กรณีของการที่ครอบครัวไหนมีลูกมากกว่า 1 คน โดยลูกคนโตมักจะรู้สึกน้อยใจ ที่พ่อแม่ดูแลลูกคนเล็กมากกว่า ยกตัวอย่างโลกออนไลน์กรณีที่ลูกสาวคนโตเขียนจดแม่ถึงแม่ ในลักษณะของอาการตัดพ้อ ที่แม่ตักอาหารและหยอกล้อน้องคนเล็กมากกว่า ในขณะที่ลูกสาวคนโตมีคุณป้าคอยตักอาหารให้ เพราะนั่งฝั่งเดียวกัน ส่วนลูกคนเล็กนั่งฝั่งเดียวกับแม่ ด้วยอายุที่ยังน้อย น้องคนเล็กจึงตักอาหารเองไม่ถึงแม่จึงตักให้น้อง แต่ระหว่างแม่ก็คอยถามลูกคนโต ว่าต้องการอะไรหรือเปล่า แต่แม่สังเกตว่าลูกคนโตน่าจะน้อยใจไปแล้ว จากกรณีดังกล่าวสอดคล้องกับอีกหลายเคส เช่น ดาราคนดังที่มีลูกคนที่สอง และมีการแจ้งผู้มาเยี่ยมว่า ให้นำของขวัญมาให้ลูกคนโตด้วยเช่นกัน และทักลูกคนโตก่อน เพื่อป้องกันเด็กน้อยใจน้องคนเล็กที่พึ่งเกิดใหม่ ซึ่งถือเป็นหลักจิตวิทยาในการรับมือปัญหานี้ในเด็กวัยกำลังโต สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ก็ว่าได้

The Reporters ได้สอบถามไปยัง “รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี” ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กุมารแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์วัยรุ่น และเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “บันทึกหมอเดว” ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีรับมือปัญหาดังกล่าว เพื่อป้องกันปัญหาลูกคนโตน้อยใจผู้ปกครอง ที่ดูแลน้องคนเล็กมากกว่าตัวเอง เพื่อลดปัญหาการที่พี่แกล้งน้อง และนำมาซึ่งการตั้งกฎกติกา ในการอยู่ร่วมกันระหว่างพี่น้อง และส่วนหนึ่งเพื่อลดปัญหาพี่คนโตก้าวร้าว และไม่เชื่อฟังคำสอนของพ่อแม่ อีกทั้งหันไปหาเพื่อนมากกว่า เพราะคิดว่าพ่อแม่ไม่รัก

รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวว่า “อันที่จริงแล้วปัญหาพ่อแม่เอาใจลูกคนใดคนหนึ่ง เกิดจากการที่ทั้งพ่อและไม่ได้เจตนาที่จะทำอย่างนั้น เพื่อให้ลูกคนโตเกิดความรู้สึกน้อยใจน้องคนเล็ก เพียงแต่วิธีปฏิบัติของผู้ปกครอง อาจจะผิดเพี้ยนไปบ้าง โดยทำให้ลูกเข้าใจว่าแม่ไม่สนใจตัวเอง โดยไปให้ความใส่ใจน้องคนเล็กมากกว่า สำหรับมุมมองเหล่านี้ ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจบทบาทของการทำหน้าที่ ของพ่อแม่อย่างเหมาะสม เช่น การช่วยกันเลี้ยงลูกซึ่งถือว่ามีประโยชน์อย่างมาก ยกตัวอย่างว่าถ้าพ่อติดงาน ไม่สามารถพาลูกๆทั้งสองคน ไปเที่ยวหรือไปกินข้าว กระทั่งทำกิจกรรมร่วมกันได้ สิ่งสำคัญเลยผู้ปกครองจำเป็น ต้องแตะมือกับใครสักคน เช่น พี่ป้าน้าอา หรือปู่ย่าตายาย เพื่อทำให้เด็กหรือพี่คนโตไม่รู้สึกว้าเหว่ และทำให้ลูกคนโตรู้สึกว่าตัวเองนั้นก็เป็นจุดสนใจของญาติๆ หรือคนที่อยู่รอบข้างตัวเช่นกัน และที่สำคัญนั้นครอบครัวยุคใหม่ มักจะมีลูกห่างกันประมาณ 3 ปี ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ลูกโตอายุครบ 3 ขวบเต็ม และเป็นวัยที่กำลังหวงข้าวของทุกอย่าง รวมถึงแม่ของตัวเองด้วย เพราะก่อนหน้านี้เขาเคยได้แต้มความรักจากแม่เต็ม 100 %”

“ดังนั้นหากว่าเป็นคุณแม่ หรือคุณพ่อที่เลี้ยงเดี่ยว ก็สามารถรับมือปัญหานี้ได้ โดยการเลี้ยงลูกให้รู้จักภูมิใจในตัวเอง เช่น ให้พี่คนโตช่วยดูแลน้อง แม้ว่าบางครั้งเด็กจะช่วยได้ไม่เต็มที่ แต่พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว จะต้องไม่ตำหนิลูกคนโตในทันที ในทำนองว่า “อย่าวางน้องแรง” เพราะถ้าผู้ปกครองสื่อสารเช่นนั้นกับเด็ก ก็จะยิ่งเพิ่มความรู้สึกอิจฉาให้พี่คนโต แต่ก็ยังอยากช่วยแม่เลี้ยงน้อง ส่วนหนึ่งเพื่อให้แม่กลับมารักตัวเอง ดังนั้นเด็กก็จะรู้สึกสับสนในอารมณ์ของตัวเอง”

“ซึ่งพ่อแม่จะต้องตั้งสติเมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ โดยการบอกกับลูกคนโตว่า “หนูทำแบบนี้ดีกว่าไหม แม่เข้าใจว่าหนูรักน้อง เดี่ยวแม่แนะนำให้นะ” ทั้งนี้เพื่อให้ลูกคนโตเข้าใจว่าอันที่จริงแล้ว แม่ไม่ได้รักลูกคนไหนมากกว่ากัน แต่คือการที่แม่สอนให้ลูกคนโต ได้ร่วมกันดูแลลูกคนเล็ก ซึ่งจะทำให้พี่น้องรักกัน โดยสรุปแล้วประเด็นนี้อยู่ที่การสื่อสาร ระหว่างผู้ปกครองกับลูกๆ และบทบาทหน้าที่ของทั้งพ่อและแม่ ที่ต้องร่วมกันดูแลลูก เพราะถ้าปล่อยให้แม่หรือพ่อ เลี้ยงลูกสองคนสองวัยเพียงลำพัง โดยที่ไม่มีตัวช่วยก็จะลำบาก ดังนั้นการหาใครสักคน ที่จะมาแตะมือเพื่อช่วยดูแลเด็กจึงสำคัญ เช่น ปู่ย่าตายายพี่ป้าน้าอา แต่อย่างไรก็ตามหากว่าผู้ปกครองต้องเลี้ยงลูกเพียงลำพัง ก็จำเป็นต้องตั้งสติและทำอย่างที่หมอเกริ่นไปข้างต้น”

“เพราะถ้าปล่อยให้เด็กเกิดรู้สึกน้อยใจพ่อแม่แบบสุดโต่ง แน่นอนว่าเด็กจะเข้าสู่ภาวะอิจฉาน้อง และสุดท้ายพี่คนโตก็มักจะแสดงอาการต่างๆให้พ่อแม่ได้เห็น และทำให้รู้สึกปวดหัวในการเลี้ยงลูกเพิ่มมากขึ้น เช่น การที่พี่แกล้งน้อง และนำมาซึ่งการทะเลาะกันหรือแย่งของเล่นกัน สิ่งสำคัญเมื่อแม่หรือพ่อตัดสินใจเอียงไปทางใดทางหนึ่ง นั่นแปลว่าอีกฝั่งหนึ่งก็จะเป็นคนไม่เก่งหรือไม่ถูกรัก ดังนั้นถ้าพ่อแม่ไม่ต้องการให้ลูกคนโตอิจฉาน้อง ก็จำเป็นต้องทำให้ลูกภูมิใจ ในสไตล์ที่เป็นของตัวเอง ภายใต้การดูแลของพ่อและแม่”

“หรือหากไม่ต้องการเห็นลูกทะเลาะกัน ก็แนะนำว่าให้พี่เลี้ยงหรือลุงป้าน้าอา ห้ามและแยกตัวเด็กๆออกจากก่อน ทั้งนี้เพื่อเป็นการตั้งสติลูกๆทั้งสองคน เมื่อเห็นว่าเด็กเริ่มสงบลงแล้ว แนะนำให้พ่อแม่คุยกับลูกคนโตในเชิงว่า “แม่รู้ลูกโกธร หนูแกล้งน้องเพราะอะไร ลูกบอกได้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้น?” ทั้งนี้เพื่อให้ลูกได้ระบายความสึกในใจออกมา โดยที่พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเออออ หรือไปกับผสมโรงกับลูก แต่แนะนำว่าให้ลูกได้เล่าความรู้สึก ของตัวเองออกมาเองจะดีที่สุด ทั้งนี้เมื่อลูกเล่าปัญหาจบลงแล้ว แนะนำให้แม่บอกกับลูกคนโตว่า “แม่ไม่อยากเห็นเหตุการณ์แบบนี้อีก แล้วลูกคิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป?” ซึ่งคำถามนี้จะให้ลูกคนโตได้คิดวิธีที่จะเล่นกับน้องคนเล็ก ในส่วนของลูกคนเล็ก ก็แนะนำให้ทำเช่นเดียวกัน โดยการใช้คำถามเดียวกัน เพื่อบอกว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทั้งนี้เพื่อหาข้อสรุปในการตั้งกฎกิติกา รวมถึงระเบียบวินัยอย่างง่ายๆในการอยู่ร่วมกันของเด็กๆ”

ด้าน นางศิริพร ลีลายุวัฒนกุล คุณแม่ลูกสองวัย 41 ปี กล่าวว่า “ปกติแล้วลูกสาวคนโตวัย 14 ปี ก็จะมีการน้อยใจ ลูกสาวคนเล็กอายุ 7 ปี อยู่ค่อนข้างบ่อย เช่น ที่แม่ตักข้าวให้น้องกิน เพราะห่วงความปลอดภัยน้องคนเล็กว่า อาจถูกน้ำร้อนลวก กินข้าวไม่อิ่มหรือกินข้าวน้อยเกินไป เนื่องจากยังเด็กจึงดูแลตัวเองได้ไม่ดีเท่าพี่คนโต จึงทำให้บางครั้งลูกคนโตมีอาการน้อยใจบ้าง ว่าทำไมแม่เอาใจใส่แต่น้อง แต่ ณ เวลานั้นแม่ก็จะอธิบายให้ลูกคนโตฟังด้วยเหตุและผล โดยเฉพาะการที่น้องยังเล็ก อาจจะได้รับความไม่ปลอดภัย เช่น หากปล่อยให้น้องกินข้าวเอง เพราะอาจถูกน้ำแกงลวกขณะกินข้าว หรือกินข้าวไม่หมดจานและกินไม่อิ่ม เพราะเด็กจะกินไปเล่นไป แต่ทั้งนี้แม่จะชดเชยอย่างอื่นให้ลูกคนโต ด้วยการให้อิสระกับเขา เวลาที่ขอไปดูหนังกับเพื่อนในวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ เพื่อไม่ให้ลูกคนโตรู้สึกว่าแม่รัก และดูแลแต่น้องมากเกินไป หรือจำกัดสิทธิ์ลูกในทุกเรื่องๆ เป็นต้นว่าอันนั้นก็ไม่ได้อันนี้ก็ไม่ได้ เพราะแม่รักลูกไม่เท่ากัน ทั้งที่ความจริงแล้วรักลูกทั้งคู่เท่ากัน”

Related Posts

Send this to a friend