FEATURE

“ไครียะห์ ระหมันยะ” ย้ำเจ็บปวดทุกครั้งที่ต้องเห็นพี่น้องตัวเองออกมาต่อสู้กับอำนาจรัฐ

“ไครียะห์ ระหมันยะ” ลูกสาวแห่งท้องทะเลจะนะ ขึ้นกล่าวปาฐกถาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 เผยความอุดมสมบูรณ์ทางอาหาร วิถีชีวิต และความผูกพันของชาวจะนะกับท้องทะเล ย้ำเจ็บปวดทุกครั้งที่ต้องเห็นพี่น้องตัวเองออกมาต่อสู้กับอำนาจรัฐ

หนูรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้ง ที่เห็นพี่น้องของหนูได้ออกมาต่อสู้กับอำนาจรัฐ มันคล้ายกับว่าคนตัวเล็กกำลังต่อสู้กับยักษ์ใหญ่ ความยากลำบากเหล่านั้นที่พี่น้องของหนูต้องมาอยู่กรุงเทพมหานคร เมืองใหญ่ที่ไม่ใช่บ้านของพวกเรา ต้องมานอนกลางถนน ต้องมาสูดดมควันพิษ และต้องมาสร้างความไม่พอใจให้กับคนเมืองนี้บางคน นี่ถือเป็นความเจ็บปวดและเป็นสิ่งที่พวกเราไม่เคยต้องการเลย แต่เราก็ต้องทำ

นี่คือข้อความช่วงท้าย ของการกล่าวปาฐกถาของ “น้องยะห์” หรือ น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น จ.สงขลา ผู้เป็นลูกสาวแห่งท้องทะเลจะนะ ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ที่จัดขึ้นที่หอประชุมใหญ่ ทีโอที โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขร่วมฟังด้วย

ไครียะห์ ได้กล่าวถึงวิถีชีวิตของชาวประมงแห่งท้องทะเลจะนะ จ.สงขลา พื้นทีที่ภาครัฐจะเข้าพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม โดยไครียะห์ แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ทางอาหาร วิถีชิงตดั้งเดิมที่ทรงคุณค่า และความรัก ความผูกพันของคนท้องถิ่น ที่มีต่อพื้นที่ริมทะเลจะนะ พร้อมฝากถึงภาครัฐ ขอให้คืนลมหายใจให้ชาวจะนะ

ปาฐกถาโดย ไครียะห์ ระหมันยะ

“นกเขา ชวาเสียง สำเนียงสกอ วัฒนธรรมหล่อหลอม ออมทรัพย์เด่นดัง”

หนูเป็นลูกหลานชาวประมงแห่งทะเลจะนะ ทุกเชาตั้งแต่เด็กยันโต สิ่งที่เห็นเบื้องหน้าก็คือทะเล และเรือประมงพื้นบานที่จอดเทียบริมชายหาด เป็นภาพชีวิตที่เราเห็นชินตาอยู่ทุกวันของคนที่นี่

บ้านสวนกง เป็นชุมชนประมงพื้นบ้านเกือบ 100% อยู่ใน 3 ตำบล ที่ติดกับทะเลของอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เมื่อหลายปีที่แล้ว เจ๊ะ หรือว่าพ่อ เคยเล่าให้หนูฟังว่า เรือประมงพาณิชย์ ซึ่งเป็นเรือประมงขนาดใหญ่มักจะเข้ามาทำประมงอยู่ที่หน้าชาดหาดของทะเลจะนะ เข้ามาบุกรุกพื้นที่ทำกินหน้าทะเลในหลายหมู่บ้านของอำเภอจะนะ ทำให้การจัดสรรน้ำในยุคนั้นลำบากมาก จนกลายเป็นทะเลร้าง ทำให้ชาวบ้านบริเวณหน้าอำเภอจะนะไม่สามารถประกอบอาชีพประมงอยู่ได้ จนต้องเดินทางออกไปทำประมงที่ทะเลอื่น

ขณะนั้น ชาวประมงในอำเภอจะนะ 1 ครอบครัว ต้องแบ่งออกเป็น 2 หม้อข้าว หม้อข้าวหนึ่งคือคนที่เป็นสามาีที่ต้องออกไปทำอาชีพประมงเพื่อที่จะเลี้ยงดูครอบครัวคนในอำเภอจะนะ และอีก 1 หม้อข้าวก็คือ หม้อข้าวที่อยู่ที่บ้านที่คนเป็นภรรยาต้องดูแลลูกที่อยู่ที่บ้าน ในเวลานั้น เป็นเวลาอยู่ระะหนึ่ แต่สำหรับชาวบ้านที่นั่น มันเป็นเวลาที่แสนทรมานมาก นอกจากนั้น เรายังได้รับการกลั่นแกล้งจากพี่น้องในพื้นที่ที่เราไปทำมาหากินด้วย

วันนี้ ทะเลจะนะมีความอุดมสมบูรณ์มาก จากที่หนูได้เห็นเจ๊ะ และพวกผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน พยายามฟื้นฟุและรักษาทะเลหน้าบ้านเรามาตั้งแต่จำความได้ เราได้ใช้ชีวิตกันอย่างเรียบง่าย รุ่งเช้าทุกคนออกทะเล ใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่แตกต่างกันไปตามความถนัด และตามฤดูกาล จนเที่ยง เรือทุกลำทยอยกันเข้าฝั่ง ทุกคนที่บ้านคอยลุ้นว่า วันนี้เจ๊ะจะได้อะไรกลับมาให้พวกเราบ้าง จะเป็นกุ้ง หอย ปู ปลา ในขณะที่ มะ ก็เตรียมหุงข้าว ทำอาหาร จากสัตว์น้ำที่เจ๊ะจับมาได้ ส่วนที่เหลือก็จะนำไปขายที่ตลาด เพื่อที่จะเอาเงินมาใช้จ่ายในครัวเรือน นี่คือชีวิตปกติของพวกเราที่นี่ จนถึงทุกวันนี้ พวกเรายังช่วยกันดูแลรักษา ฟื้นฟูทะเลกันมาอย่างต่อเนื่อง มีการวางกติกาในการจัดสรรน้ำระหว่างพวกเรากับชาวประมงพื้นบ้าน และชาวประมงพาณิชย์ด้วย อันเป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น ถึงแม้จะไม่ได้แก้ไขปัญหาหมด แต่ก็็ถือว่ายังดีกว่าเมื่อก่อนมากขึ้น

อำเภอจะนะบ้านเรา ยังมีของดีอีกมากมาย ถือเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายสูงมาก ลักษณะภูมิประเทศแบบเขา ป่า นา และทะเล เป็นฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่เกื้อหนุนกัน และสามารถเลี้ยงพวกเราชาวจะนะให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างยาวนานจนถึงตอนนี้

จะนะยังเป็นมืองแห่งนกเขาชวาเสียง มีการแข่งขันระดับอาเซียน แหล่งนกเขาทั้งหมดจะอยู่ที่อำเภอจะนะ มูลค่าของนกเขา จะอยูที่หลักพันบาท จนถึงหลักล้านบาท และท่ีมีมูลค่ามากกว่านั้นก็คือ ภูมิปัญญา ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ การเลี้ยงดูนกเขา มีมูลค่ามากมายมหาศาล การที่มีนกเขามูลค่ามากมายมหาศาลขนาดนี้ ไม่ใชว่าจะมีใครเลี้ยงกันได้ง่ายๆ จะต้องมีการสืบทอดการลี้ยงดูมาตั้งแต่บรรพบุรุษ อีกทั้งการทำกรงนกเขา และการทำตะขอนกเขา สามารถที่จะสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนได้อีก เบ็ดเสร็จทั้งหมดมีมูลค่ามากกว่า 1,500,000,000 บาทต่อปี

จะนะยังเป็นเมืองที่มีการทำเกษตรอินทรีย์ ทำข้าวลูกปลา เป็นข้าวที่ขึ้นชื่อของอำเภอะจะนะ เป็นที่นิยมกันมากมาย ทำสวนปาล์ม สวนยางพารา และปลูกฟักทอง ปลูกแตงโม วึ่งการปลูกแตงโมเราจะปลูกกันปีละครั้งเท่านั้น แต่ปีละครั้งนั้น เราได้รายได้กันถึงหลักแสนบาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม อำเภอจะนะก็ยังเป็นเป้าหมายในการพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมท่ีรัฐบาลส่วนกลางพยายามท่ีจะเปลี่ยนพื้นที่แห่งนี้ ตามแบบที่พวกเขาหรือกลุ่มคนภายนอกต้องการ กว่า 20 ปีที่พวกเราและชาวอำเภอจะนะจะต้องประสบกับวิบากกรรมขาดทรัพยากรและต้นทุนทางสังคมของพวกเรา เจ๊ะเคยเล่าให้หนูฟังว่า โครงการโรงแยกก๊าซไทยและมาเลเซีย ได้มีชาวบ้านในพื้นที่ออกมาคัดค้านจำนวนมาก เพราะหลายคนห่วงกังวลว่า ความเปลี่ยนแปลงจากโครงการเหล่านี้จะนำไปสู่ความสูญเสีย สูญเสียที่ดิน และที่ทำมาหากิน ทะเล แม้การลุกขึ้นมาต่อสู้ของชาวบ้านในครั้งนั้น จะไม่สามารถต้านโครงการนั้นได้ และทำให้โครงการถูกสร้างขึ้น แต่ไม่สามารถจะสร้างโรงงานอื่นเพิ่มขึ้นได้มาจนถึงทุกวันนี้

จนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทางกรมเจ้าท่า พยายามที่จะใช้พื้นที่บ้านของหนู ตรงหาดสวนกง เพื่อที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่สอง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่พวกเราบ้านสวนกง ยังไม่ทันได้คาดคิดมาก่อน อยู่ดีๆ มีนักวิชาการมาจัดการศึกษา EIA หรือการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมซึ่งพวกเขาพยายามที่จะบอกว่าพื้นที่ตรงนี้มีความเหมาะสม ด้วยว่ามีชายหาดที่ทอดยาว จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านมากนัก และยังย้ำอีกว่าทะเลจะนะมีปลาเม่นกับปลาหลังเขียวเพียงแค่ 2 ชนิด ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ประมงก็ยังงงๆ และสงสัยว่า ทะเลจะนะทั้งทะเลจะมีปลาเม่นกับปลาหลังเขียวแค่สองชนิดได้อย่างไร พวกเราก็เลยจัดทำข้อมูลขึ้นมา ซึ่งข้อมูลนี้พวกเราสามารถเก็บข้อมูลสัตว์น้ำได้กว่า 157 ชนิด และยังมีสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ มีคุณค่าทางระบบนิเวศ เช่น ปลาโลมา เต่า และปูลม

จากการทำข้อมูลดังกล่าวของพวกเราชาวอำเภอจะนะทุกคน ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้ทราบถึงการทำข้อมูลของเรา จนทำให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาอยากที่จะให้ทะเลจะนะได้รับการคุ้มครองให้เป็นแหล่งทะเลอาหารของคนสงขลาทั้งจังหวัด ท่านจึงได้ลงมาในพื้นที่บ้านของหนูและทำข้อตกลงกับชาวบ้าน เพื่อหวังว่าจะสร้างยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านอาหารของคนสงขลาและอาเซียน

จริงๆ แล้ว การที่พวกเราได้ทำข้อมูลจนกลายมาเป็นยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับคนสงขลาและอาเซียน พวกเราก็เคยได้รับรางวัลจากสมัชชาสุขภาพเช่นเดียวกัน และในช่วงสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ในทุกประเทศมีการปิดประเทศหมด และสายการบินหยุดหมดทุกประเทศ โรงงานปิด เครื่องจักรหยุด มีโรคระบาดร้ายแรง เศรษฐกิจล้มเหลว ในพื้นที่หาดใหญ่ พี่น้องอำเภอจะนะของเราได้ทำข้าวกล่องเป็นอาหารทะเลเพื่อที่จะไปบริจาคให้กับคนในเมืองหาดใหญ่ และคนสามตำบลที่อยู่ติดกับริมทะเล ได้รวบรวมอาหารทะเลทั้งสามตำบลเพื่อที่จะไปบริจาคให้กับโรงพยาบาลจะนะ ตอนนั้นเรารวบรวมกันได้ 80 กว่ากิโลเลย

พวกเราเองมีการทำงานกันอย่างต่อเนื่องทุกเดือน พวกเราพยายามที่จะศึกษาและติดตามสภาพแวดล้อมของชายหาด ทั้งเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพ เรื่องขยะ รวมถึงการสำรวจแหล่งทรัพยากรอื่นๆ เช่น พืชพันธุ์ไม้บนชายหาด และความหลากหลายทางระบบนิเวศ โดยรวมภูมิปัญญา โดยเฉพาะภูมิปัญญาที่มีความน่าสนใจ เพราะพบว่าชุมชนของเรามีการดำรงชีวิตภายใต้ภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษได้สืบทอดให้กับพวกเรามา

พวกเราสามารถศึกษาภูมิปัญญาได้ทั้งหมด 17 ภูมิปัญญา เช่น ภูมิปัญญาในการจับสัตว์น้ำที่พวกเราเรียกกันว่า ดูหลำ คือการฟังเสียงปลา ซึ่งมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะสามารถดำน้ำและฟังเสียงได้ว่า ทะเลบริเวณนั้นมีพันธุ์ปลาอะไรอยู่บ้างและมีปริมาณมากน้อยแค่ไหน ก่อนที่จะใช้เครื่องมือจับที่เหมาะสม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ เจ๊ะ หรือพ่อของหนูนั่นเอง

นอกจากนั้นแล้ว พวกเราพยายามนำเรื่องราว หรือข้อมูลต่างๆ ที่พวกเราค้นพบ ออกสี่อสู่สาธารณะอย่างเป็นระบบ และมีพี่ๆ ที่พยายามสร้างการเรียนรู้ให้กับพวกเราอย่างน่าสนใจ เช่น การเสริมศักยภาพให้กับเด็กในชุมชน ที่เพิ่มศักยภาพให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านเพื่อที่จะสามารถให้ช่วยเหลือตัวเองได้ และมีผู้ใหญ่ใจดีช่วยเหลือ ที่กำลังจะสร้างสรรค์เรื่องราวดีๆ ในหมู่บ้านของเรา เช่น สมัยตอนที่หนูเรียนประถมใหม่ๆ มีพี่กลุ่มหนึ่งได้เสนอให้พวกเราชวนเด็กๆ ในหมู่บ้านมาทำกิจกรรมเพื่อที่จะอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีการจัดทำค่ายในหมู่บ้านกันแบบง่ายๆ ซึ่งพวกเราทำกันเองเกือบทั้งหมด จัดกิจกรรมต่างๆ ทำให้พวกเราและเด็กๆ ในชุมชนมีความรักและความผูกพันมาจนถึงทุกวันนี้

พวกเราได้เรียนรู้เรื่องสาธารณะที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสมาตั้งแต่เด็กๆ จนทำให้ตัวของเราเองรู้สึกดีใจและตื่นเต้นมาก ที่ภาพของบ้านของเราได้ไปอยู่ในจอทีวี มันเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้หนูสนใจในเรื่องของการทำสื่อเป็นพิเศษ เพราะในบางครั้งหนูก็มีส่วนร่วมในการผลิตสื่อนั้นด้วย ถือเป็นการเรียนรู้ท่ามกลางการปฎิบัติจริง ทั้งนี้ รวมถึงการสื่อสารในโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยเฉพาะ Facebook การไลฟ์สด เรื่องราวต่างๆ ที่พวกเราได้ไปจำนวนหลายเรื่องมาก ดังนั้น เรื่องดีๆ ในหมู่บ้านของเราจึงมีโอกาสได้สื่อสารไปยังสังคมกว้างขวาง อย่างไม่เคยหยุดนิ่ง ทั้งงานอะโบ๊ยหมะ ซึ่งเป็นงานประจำปีของบ้านของเราที่จัดกันมาอย่างต่อเนื่องในหลายปี เรามีโอกาสได้นำเสนอเรื่องความสวยงามของเนินทราย 6000 ปี ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานนี้มาตลอด และยังเป็นงานที่พวกเราได้นัดหมายรวมพี่น้องทั้ง 3 ตำบลมาพบปะกัน นำเสนอเรื่องราวของบ้านตัวเอง และการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ ถึงเรื่องการแข่งขันเรือเกยหาด ที่กลายเป็นงานที่ชาวประมงพื้นบ้านในอำเภอจะนะรอคอย และเริ่มเป็นที่รู้จักในสาธารณะมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้คือความภาคภูมิใจของพวกเราทุกคน และยิ่งทำให้พวกเรามีความรักบ้านเกิด รักถิ่นฐาน รักฐานทรัพยากรธรรมชาติ และรักสิ่งแวดล้อมจนมาถึงทุกวันนี้

เมื่อไม่นานมานี้ ทุกท่านที่อยู่ในห้องนี้คงได้ติดตามพวกเรา คงได้ติดตามข่าวเรื่องของพี่น้องจะนะ ที่ได้ออกมาเพื่อปกป้องบ้านเกิดของเราอีกครั้ง จากความเดือดร้อนครั้งล่าสุดที่ภาครัฐกำลังจะยัดเยียดโครงการนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ให้กับพวกเรา ถือเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา จึงไม่ต้องพูดถึงว่าเราพอใจหรือ ในสิ่งที่เขาทำให้

กว่า 20 ปี จะนะต้องประสบกับวิบากกรรมในลักษณะเดียวกัน หนูไม่อยากพูดถึงรายละเอียดเหล่านี้ เพราะเชื่อว่าท่านทั้งหลายคงได้ติดตามข่าวไปบ้างแล้ว ตัวหนูเองยังมีข้อสงสัยต่อวิธีการทำงานและวิธีคิดของรัฐบาล และของหน่วยงานที่รับผิดชอบในโครงการ ว่าทำไมเขาถึงไม่ถามพวกเราเลยว่าพวกเราต้องการอะไร ต้องการอยู่แบบไหน ทั้งที่พวกเราพยายามเสนอทางเลือกหรือรูปธรรมต่างๆ ที่ทำกันมาให้พวกเขาได้รับรู้ ผ่านกิจกรรม หรือผ่านการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ มานานนับหลายปี แต่เหมือนพวกเขาจะไม่ค่อยสนใจพวกเราเลย

มันทำให้หนูรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้ง ที่เห็นพี่น้องของหนูได้ออกมาต่อสู้กับอำนาจรัฐ มันคล้ายกับว่าคนตัวเล็กกำลังต่อสู้กับยักษ์ใหญ่ ความยากลำบากเหล่านั้นที่พี่น้องของหนูต้องมาอยู่กรุงเทพมหานคร เมืองใหญ่ที่ไม่ใช่บ้านของพวกเรา ต้องมานอนกลางถนน ต้องมาสูดดมควันพิษ และต้องมาสร้างความไม่พอใจให้กับคนเมืองนี้บางคน นี่ถือเป็นความเจ็บปวดและเป็นสิ่งที่พวกเราไม่เคยต้องการเลย แต่เราก็ต้องทำ ต้องออกมาบอกให้รัฐบาล ให้พรรคการเมือง ให้กลุ่มนายทุนทั้งหลายได้รู้ว่า พวกเราเดือดร้อนและไม่ต้องการสิ่งที่เค้าจะหยิบยื่นให้

หลายครั้งหนูมีคำถามกับเจ๊ะ กับพี่น้อง และกับตัวเองมาตลอด ว่าทำไมพวกเราจะต้องมาเจอกับสภาวะแบบนี้ด้วย ความหวังดีที่พวกเขาอยากให้เราเจริญ ร่ำรวย มันเป็นความจริงหรือไม่ แต่ที่รู้ๆ คือ พวกเราไม่อยากจากบ้านของเรา เราไม่อยากให้ฐานทรัพยากรของเราต้องสูญเสียและหายไป และเราไม่ต้องการให้ญาติพี่น้องของพวกเราที่อยู่ร่วมกันมาเป็นชุมชนตั้งแต่โบราณต้องแตกสลายไปจากพื้นที่แห่งนี้ พื้นดิน พื้นบ้านของหนูที่พี่น้องทุกคนอยู่คือแผ่นดินจะนะ

จะนะต้องชนะ คืนลมหายใจให้กับพวกเรา ท้องทะเล และพื้นดิน

สิ่งที่อยากฝากเพิ่มเติมคือ ตอนนี้นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ผู้เป็นคนที่คอยสนับสนุนพวกเรา และคอยทำประโยชน์ทางสาธารณสุข คอยคุ้มครองพวกเรา ตอนนี้อยากบอกกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่าอยากจะให้คุ้มครองนายแพทย์สุภัทร หรือหมอจุ๊ก อยากให้คุ้มครองนายแพทย์คนนี้ ให้เหมือนกับที่นายแพทย์คนนี้ได้คุ้มครองพวกเราชาวจะนะทุกคน

Related Posts

Send this to a friend