ENVIRONMENT

เครือข่ายสิ่งแวดล้อม ฟ้อง คกก.สิ่งแวดล้อม – รมว.ทส. – รมว.อุตฯ แก้ PM2.5 ล่าช้า

เครือข่ายสิ่งแวดล้อม ฟ้อง คกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ – รมว.ทส. – รมว.อุตฯ แก้ PM2.5 ล่าช้า กระทบสุขภาพประชาชน

วันนี้ (22 มี.ค. 65) ผู้แทน Greenpeace Thailand , มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม , มูลนิธิบูรณะนิเวศ , สภาลมหายใจเชียงใหม่ , สภาลมหายใจภาคเหนือ , ชมรมแพทย์ชนบท และ กลุ่ม Climate Strike Thailand ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ต่อศาลปกครองกลาง ฐานละเลยต่อหน้าที่ หรือปฎิบัติหน้าที่ในการป้องกันแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ฝุ่นละออง PM 2.5 ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน ล่าช้าเกินสมควร ส่งผลให้พื้นที่ กทม.และภาคเหนือ มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 สูงกว่ามาตรฐาน และทำใหัประชาชนต้องประสบปัญหาสุขภาพอย่างรุนแรง

ผู้ฟ้องได้ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ออกประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไป ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล คือ ค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงของฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ที่ 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กับ รมว.ทส. ออกประกาศค่ามาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียประเภทฝุ่นละออง PM 2.5 จากโรงงานอุตสาหกรรมและกิจการประเภทอื่นๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM 2.5 ตาม พ.ร.บ.พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล

นอกจากนี้ ยังขอให้ รมว.อุตสาหกรรม ออกประกาศกำหนดค่าปริมาณของสารเจือปนในอากาศที่ระบายสิ่งแวดล้อม ให้มีค่าปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ไม่เกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด และเทียบเท่ามาตรฐานสากล พร้อมกับออกประกาศกำหนดประเภทสารมลพิษหรือสารเคมีที่โรงงานต้องจัดทำรายงานข้อมูล ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2563) ออกตามความใน พรบ.โรงงาน พ.ศ. 2535 โดยมีการรายงานฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ในบัญชีมลพิษและสารเคมีเป้าหมาย และจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษรวมถึงมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนภาคประชาสังคม สามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบและป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้

ผู้ประสานงานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน Greenpeace Thailand กล่าวว่า จะแก้ปัญหา PM2.5 ให้ได้ผล กระทรวงทรัพฯ และกระทรวงอุตฯ มีหน้าที่ต้องกำหนดมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด เพราะการป้องกันไม่ให้ปลดปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดย่อมจัดการง่ายและใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่าการจัดการที่ปลายเหตุ แต่ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพฯ และกระทรวงอุตฯ ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลักในการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ตามมติที่ครม. ปี 2562 กลับดำเนินการล่าช้าและไม่เป็นไปตามแผน

Related Posts

Send this to a friend