ENVIRONMENT

นักวิจัย จุฬาฯ ชี้น้ำมันรั่วในทะเลชลบุรี อาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อปะการัง แนะติดตามใกล้ชิด

จากเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่จังหวัดชลบุรี สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ ร่วมกับภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ และศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกไปสำรวจเบื้องต้นพบว่ายังไม่มีพบผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากคราบน้ำมันถูกขจัดไปเกือบหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของทีมวิจัยที่ทำงานศึกษาผลกระทบของน้ำมันรั่วที่มีต่อระบบนิเวศปะการังในอดีตที่ระยองทั้งสองครั้ง พบว่าผลกระทบอาจจะยังไม่เกิดให้เห็นทันที แต่สิ่งมีชีวิตอาจใช้เวลาในการแสดงออกถึงผลกระทบที่ได้รับภายหลัง

ศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และศูนย์บริการวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า น้ำมันหรือคราบน้ำมันรวมทั้งสารขจัดคราบน้ำมันสามารถทำให้ปะการังเป็นหมัน โดยปะการังไม่สามารถปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ไข่และสเปิร์มได้ ถึงแม้จะปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ไข่และสเปิร์มได้ แต่คราบน้ำมันจะทำให้เซลล์สืบพันธุมีรูปร่างผิดปกติจนไม่สามารถปฏิสนธิได้ เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า ‘ปะการังเป็นหมันชั่วคราว’ อย่างไรก็ตาม ถ้าสิ่งแวดล้อมกลับมาเหมือนเดิม ปะการังส่วนใหญ่จะกลับมาเหมือนเดิมได้ แต่อาจจะไม่ 100%

ศาสตราจารย์ ดร.วรณพ วิยกาญจน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ต้องมีการตรวจติดตามอย่างใกล้ชิดว่าการรั่วไหลของน้ำมันในครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลบริเวณนั้นอย่างไร โดยเฉพาะเกาะค้างคาวและเกาะสีชึ่งห่างจากบริเวณที่น้ำมันรั่วประมาณ 1-2 กิโลเมตรเท่านั้น โดยขณะนี้ทีมนักวิจัยจากจุฬาฯ กำลังดำเนินการเก็บตัวอย่างและสำรวจอย่างละเอียดโดยใช้เรือจุฬาฯ วิจัย ออกไปเก็บตัวอย่างน้ำทะเลและดินที่อยู่บริเวณรอบ ๆ กลุ่มคราบน้ำมันเพื่อดูผลกระทบของน้ำมันที่รั่วและสารเคมีขจัดคราบน้ำมันต่อสิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อมบริเวณนั้น และจะนำมาศึกษาวิจัยในเชิงลึก เพื่อบ่งบอกถึงผลกระทบภายในของสัตว์ทะเล

ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2556 และเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2565 ที่ระยอง ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการประเมินถึงการรั่วไหลของน้ำมันดิบลงสู่สิ่งแวดล้อมโดยเข้าไปศึกษาปริมาณโลหะหนัก ปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ผลของน้ำมันและสารเคมีขจัดคราบน้ำมันต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล รวมทั้งการสะสมและส่งผ่านสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในห่วงโซ่อาหารทะเล

Related Posts

Send this to a friend