ENVIRONMENT

WWF เปิดโครงการ ‘สหพันธ์ช้างอาเซียน’ อนุรักษ์การสูญเสียถิ่นที่อยู่ช้าง ลดภาวะเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เปิดตัวสหพันธ์ช้างอาเซียนระดับภูมิภาค หรือ Asian Elephant Alliance (AEA) ในกรุงเทพฯ เพื่อร่วมอนุรักษ์การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยของช้าง และถิ่นที่อยู่ที่ถูกตัดขาดออกจากกัน เพื่อให้จำนวนประชากรช้างป่ามีความคงที่ รวมถึงเพื่อให้คนและช้างสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

นาตาลี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร WWF ประเทศไทย กล่าวว่า สหพันธ์ช้างอาเซียน ก่อตั้งขึ้นตามเจตนารมณ์ของวันช้างโลก ซึ่งทุกฝ่ายมีความเห็นพ้องกันว่า ความท้าทายต่าง ๆ ที่ช้างกำลังเผชิญอยู่ในภูมิภาคนั้น ไม่สามารถถูกแก้ไขได้โดยลำพัง

ทั้งนี้ ช้างเอเชียทั่วโลก กำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศจีน ซึ่งมีช้างป่าเอเชียเพียงประมาณ 8,000-11,000 ตัวกระจายอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีนตอนใต้ อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ไทย และเวียดนาม การสูญเสียที่อยู่อาศัย การแตกกระจายของถิ่นที่อยู่อาศัยของช้างป่า รวมถึงความขัดแย้งระหว่างช้างกับมนุษย์ การล่าและรุกล้ำพื้นที่ของช้างป่า ส่งผลให้จำนวนประชากรช้างลดลงอย่างรวดเร็ว บางประเทศอาจมีเพียงหลักร้อย

แลน เมอร์คาโด ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคของ WWF ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ช้างเอเชียเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมและความเป็นตัวตนของภูมิภาค จึงต้องร่วมกันลดแนวโน้มการสูญพันธุ์ โดยเน้นการการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างช้างกับประชาชนในพื้นที่เดียวกัน โดยต้องมี ”พันธมิตรช่วยช้าง” เพื่อหยุดการลดลงของจำนวนประชากรช้าง และสร้างสภาพแวดล้อมของการอยู่ร่วมกันกับมนุษย์

นิลังกา ชัยสิงห์ ผู้ประสานงานเพื่อช้างเอเชียของ WWF กล่าวว่า ช้างเป็นสัตว์ที่อยู่คู่ภูมิภาคเอเชียมานับพันปี และมีสิทธิโดยกำเนิดที่จะมีชีวิตอยู่รอดตามธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นสัตว์ใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ และมีคุณค่ามากในฐานะที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบกขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย การอนุรักษ์ช้างจึงไม่เพียงเป็นการรักษาสมดุลระบบนิเวศและคุณค่าทางวัฒนธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็นการมอบโอกาสในการอยู่รอดและเจริญเติบโตตามธรรมชาติ

WWF ทำงานด้านการอนุรักษ์ช้างป่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และจีนมาหลายปี โดยเฉพาะในโครงการ Asian Rhino and Elephant Action Strategy (AREAS) ตั้งแต่ปี 2543 ถึง 2558 สหพันธ์ช้างอาเซียนจะนำโปรแกรมไปต่อยอดเพื่อปกป้องที่อยู่อาศัยของช้าง ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างมนุษย์และช้าง ป้องกันการล่าช้าง และเพิ่มความเข้าใจในสถานะปัจจุบันของช้างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศจีนให้ดียิ่งขึ้น

Related Posts

Send this to a friend