ENVIRONMENT

ผู้ว่ากรุงจาการ์ตา ทวิต “จะไม่อุทธรณ์ต่อศาล” หลังศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานละเลยสิทธิการเข้าถึงอากาศสะอาดของประชาชน

ผู้ว่ากรุงจาการ์ตา ทวิตข้อความ “จะไม่อุทธรณ์ต่อศาล” หลังศาลแขวงตัดสินและสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐ 7 นายรวมถึงประธานาธิบดีโจโค วิโดโด มีความผิดฐานละเลยสิทธิการเข้าถึงอากาศสะอาดของประชาชน

เดือนกรกฎาคม ปี 2562 ตัวแทนภาคประชาชนจากหลากหลายอาชีพ 32 คน ยื่นฟ้องรัฐบาลอินโดนีเซีย ว่าด้วยมลพิษทางอากาศ เพื่อให้ภาครัฐขยับและจัดการกับปัญหาดังกล่าว

การต่อสู้ในกระบวนการกฏหมาย ใช้เวลาถึง 2 ปี จนกระทั่งศาลอ่านคำพิพากษาว่า ผู้ถูกฟ้องกระทำความผิด ขัดต่อกฏหมายจริง แต่มิได้ก้าวล่วงประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ศาลมีคำสั่งให้ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด พร้อมรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่รัฐอีก 6 คน ออกคำสั่งบังคับใช้กฏหมาย เพื่อยกระดับคุณภาพอากาศ และตัดสินให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขบกพร่องต่อหน้าที่ เพื่อสื่อสารความเสี่ยงของมลพิษทางอากาศ โดยจะต้องทำงานกับกรุงจาการ์ตา เพื่อจัดทำแผนงานทั้งเชิงยุทธศาสตร์และปฏิบัติการและจัดทำข้อมูลประเมินจำนวนผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศที่จะลดลง เมื่อแผนที่ดำเนินการนั้นลุล่วง เพื่อให้เมืองหลวงของอินโดนีเซียมีอากาศที่สะอาดขึ้น

หลังคำตัดสินของศาล ผู้ว่ากรุงจาการ์ต้าได้ทวีตข้อความ “จาการ์ต้าจะไม่อุทธรณ์ต่อศาลและจะน้อมรับคำตัดสินของศาลมาปรับปรุงเพื่อให้เมืองมีคุณภาพอากาศที่ดีขึ้น”

แต่นาย Dasrul Chaniago ผู้อำนวยการด้านการจัดการมลพิษทางอากาศ กระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ ของอินโดนีเซีย กลับประกาศว่า จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาล เช่นเดียวกับโฆษกประธานาธิบดี ที่ออกมายืนยันว่า จะทำตามการตัดสินใจของกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้

ปีเดียวกันกับที่ชาวอินโดนีเซียฟ้องร้องคดีมลพิษทางอากาศต่อศาล ในประเทศไทยก็มีการฟ้องร้องต่อศาล กรณีมลพิษทางอากาศเช่นกัน นำโดยนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อน กับผู้ฟ้องอีก 41 คน โดยได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องที่ 1 และเจ้าหน้าที่อีก 3 คน ละเลยไม่ควบคุม ระงับ หรือบรรเทาความเสียหายจากมลพิษทางอากาศ PM2.5 (ขณะนี้ ยังไม่มีความคืบหน้าของคดี)

ต้นปี 2564 ศาลปกครองเชียงใหม่พิพากษาให้ประชาชนชนะคดี และมีคำสั่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย และแม่ฮ่องสอน เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษ ภายใน 7 วัน หลังศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด แต่ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี เพื่อให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่ง

Related Posts

Send this to a friend