ENVIRONMENT

กรมอุทยานฯ แนะ พบสัตว์ป่าได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โทรแจ้งสายด่วน 1362

วันนี้ (16 ส.ค. 65) นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เปิดเผยว่า นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานภาคสนาม ติดตามสถานการณ์น้ำ และเตรียมความพร้อมเข้าดำเนินการช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม และน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ต่างๆ

โดยสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบนั้น อาจมีภาวะบาดเจ็บทั้งร่างกายและจิตใจ หรือมีปัญหาจากการหนีน้ำขึ้นที่สูง ทำให้มีสัตว์ป่าจำนวนไม่น้อยที่หนีน้ำเข้าสู่เขตชุมชน หรือบริเวณที่อยู่อาศัยของประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งที่ผ่านมา กรมอุทยานฯ ได้ฝึกอบรมและเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ของศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าทั้ง 3 แห่ง ในการช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม บาดเจ็บ หรือพลัดหลงเข้าไปยังเขตที่พักอาศัย หรือชุมชนต่างๆ

โดยศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 1 (นครนายก) จังหวัดนครนายก รองรับการช่วยเหลือสัตว์ป่าในเขตจังหวัดภาคตะวันออกและภาคกลาง , ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 ( กระบกคู่) จังหวัดฉะเชิงเทรา รองรับการช่วยเหลือสัตว์ป่าบริเวณเขตพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด , ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (ประทับช้าง) จังหวัดราชบุรี รองรับการช่วยเหลือสัตว์ป่าในเขตจังหวัดภาคตะวันตก ภาคกลางตอนล่างและภาคใต้ตอนบน และยังมีสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ทุกแห่งทั่วประเทศ เข้าร่วมดำเนินการในแต่ละพื้นที่รับผิดชอบ

ทั้งนี้ หากเกิดเหตุการณ์อุทกภัย สัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ เช่น งูชนิดต่างๆ เหี้ย ตะกวด ลิงป่า อาจหนีน้ำเข้ามาในเขตบ้านเรือนประชาชน หรือสัตว์อาจได้รับบาดเจ็บ ซึ่งสัตว์เหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศ และไม่ทำอันตรายต่อมนุษย์ เมื่อพบสัตว์ป่าพลัดหลง จึงควรปฏิบัติดังนี้

กรณีสัตว์เลื้อยคลาน เช่น งูชนิดต่างๆ เหี้ย ตะกวด ควรสำรวจบริเวณบ้าน เช่น โรงครัว ห้องเก็บของ พื้นที่รกชัก เพื่อไม่ให้เป็นที่อาศัยและหลบภัยของสัตว์เหล่านั้น , ควรหาที่เก็บสัตว์เลี้ยงให้ปลอดภัย ไม่ควรให้เด็กเล็กออกมาเล่นน้ำ เพราะนอกจากจะเป็นการป้องกันอันตรายจากสัตว์เลื้อยคลานแล้ว ยังเป็นการป้องกันโรคระบาดที่มาพร้อมน้ำท่วมด้วย แต่หากพบสัตว์ อย่าตกใจ อย่าขับไล่สัตว์ เพราะสัตว์อาจตื่นตกใจ และทำร้ายเราได้ ให้จดจำสถานที่พบสัตว์ดังกล่าว หรือขังไว้ในห้อง ไม่รบกวน และแจ้งเจ้าหน้าที่มาดำเนินการ

กรณีสัตว์อื่นๆ เช่น จระเข้ เนื่องจากเป็นสัตว์ที่สามารถทำอันตรายได้ จึงไม่ควรเข้าไปใกล้ตัวสัตว์ (จระเข้ที่อยู่บนบกจะโจมตีเมื่อเข้าไปใกล้ในระยะ 2-5เมตร ) และไม่ควรเข้าไปในพื้นที่ที่สงสัยว่ามีสัตว์หลบซ่อนอยู่ เช่น บริเวณริมตลิ่ง แหล่งน้ำนิ่ง และพงหญ้า หากมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางลุยน้ำในพื้นที่เสี่ยง ให้สวมรองเท้าบู๊ท หรือหากไม่มี ให้หาไม้หรือวัสดุใดก็ได้มีขนาดยาวอย่างน้อย ๒ เมตร ติดตัวไปด้วย เพื่อใช้ในการตีพื้นดินหรือพื้นน้ำให้เกิดเสียงดัง ซึ่งจะเป็นการไล่จระเข้ และสัตว์อันตรายชนิดอื่นๆ หากเดินทางในพื้นที่เสี่ยงยามค่ำคืน ต้องมีไฟฉายหรือวัตถุที่ทำให้เกิดแสงสว่างไปด้วย เพื่อเป็นการใส่สัตว์อันตรายอีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นจระเข้ สามารถประสานงานกับสำนักงานประมงจังหวัด สวนสัตว์ และฟาร์มจระเข้ในพื้นที่ใกล้เคียง

กรณีสัตว์ป่าจำพวกลิง ชะนี ค่าง หากสัตว์เข้ามาในเขตที่อยู่อาศัย ห้ามเข้าใกล้ เพราะสัตว์เหล่านี้เมื่อตกใจอาจเข้าทำร้ายได้ อาจใช้อาหารล่อสัตว์เข้ากรงดักหรือเข้าไปในห้องแล้วปิดประตูกักไว้ หากสัตว์อยู่ในพื้นที่เปิด พยายามเฝ้าติดตามการเคลื่อนที่ของสัตว์ จดจำจุดที่สัตว์อยู่ให้ชัดเจน และป้องกันฝูงชนไม่ให้มีการส่งเสียงไล่ต้อน และปาสิ่งของ และแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถประสานไปยังสายด่วนกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร 1362 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

Related Posts

Send this to a friend