ENVIRONMENT

ร่วมสืบชะตาแม่น้ำสาละวินคึกคัก วันหยุดเขื่อนโลก

ร่วมสืบชะตาแม่น้ำสาละวินคึกคัก วันหยุดเขื่อนโลก เยาวชนวอนผู้ใหญ่คำนึงถึงอนาคตลูกหลานก่อนคิดโครงการขนาดใหญ่สร้างผลกระทบท้องถิ่น ‘ครูตี๋’ แนะเหลือสาละวินให้เป็น ‘แม่น้ำแท้จริง’ นายก อบต.ชี้ไม่ควรซ้ำเติมสถานการณ์ความรุนแรง

วันนี้ (14 มี.ค. 66) ซึ่งเป็นวันหยุดเขื่อนโลก (International Day of Actions for Rivers) ที่กำหนดขึ้นหลังจากการประชุมผู้เดือดร้อนจากเขื่อนทั่วโลกครั้งแรก ที่เมืองคูริทิบา บราซิล ได้มีการจัดกิจกรรมสืบชะตาแม่น้ำสาละวินขึ้นที่บริเวณริมแม่น้ำสาละวิน หมู่บ้านสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน โดยมีชาวบ้านจากลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน เยาวชน และเด็กนักเรียนหลายร้อยคนเข้าร่วม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พิธีกรรมสืบชะตาแม่น้ำสาละวินครั้งนี้ชาวบ้านได้นำเหล้าพื้นบ้านและเนื้อหมูมาเซ่นไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิที่คุ้มครองแม่น้ำ นอกจากนี้ยังมีการลอยแพไม่ไผ่ที่มีป้ายเขียนว่า “NO DAM” ลอยไปตามลำน้ำเพื่อสะท้อนถึงจุดยืนคัดค้านเขื่อน ขณะที่ตัวแทนชาวบ้าจากลุ่มน้ำต่างๆได้อ่านแถลงการณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนผันแม่น้ำยวม ในโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่เขื่อนภูมิพล และแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน และเสนอมให้ปกป้องแม่น้ำสาละวินให้ไหลอย่างอิสระ

ทั้งนี้ลุ่มน้ำสาละวินบริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านร่วมกันเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนฮัตจี กั้นแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งห่างจากบ้านสบเมยไปตามลำน้ำ 47 กิโลเมตร โดยมีการร้องเรียนไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีและได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาผลกระทบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในราวปี 2551 และนำไปสู่ข้อสรุปให้ชะลอโครงการจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามล่าสุดได้มีความเคลื่อนไหวจากลุ่มนักลงทุนจีนผ่านนักการเมืองไทยที่ผลักดันแผนการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวินทางด้านใต้ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนในประเทศพม่า และเป็นเฟสที่ 2 ของโครงการผันแม่น้ำยวมในประเทศไทย โดยให้เหตุผลเรื่องการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำภาคกลางของไทย ขณะที่นักลงทุนจีนต้องการแหล่งพลังงานเพื่อใช้ในกิจการบ่อนคาสิโนในหลายพื้นที่ที่อยู่ตรงข้ามกับ อ.แม่สอด จ.ตาก

ก่อนหน้านี้ในช่วงเย็นวันที่ 13 มีนาคม ได้มีการจัดเวทีเสวนาเกี่ยวกับสถานการณ์แม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมวันหยุดเขื่อนโลก โดยนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่าบนแม่น้ำสาละวินมีความพยายามดำเนินการสร้างเขื่อนโดย กฟผ.แต่ได้รับการคัดค้านจากชาวบ้านและเครือข่าย ซึ่ง กฟผ.จ้างบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แต่สุดท้ายมีการตรวจสอบจากสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อคณะกรรมการมาลงพื้นที่ซึ่งนำโดยเจ้าหน้าที่กฟผ. ปรากฏว่ามีเสียงระเบิดเกิดขึ้นที่สบเมย เพราะเป็นพื้นที่ที่ยังมีความรุนแรง และเขาไม่อยากให้สร้างเขื่อน เมื่อโครงการชะลอส่งผลให้แม่น้ำสาละวินในวันนี้ยังมีระบบนิเวศที่ดี การไหลของแม่น้ำยังคงความเป็นธรรมชาติ

นายหาญณรงค์กล่าวว่า แม่น้ำสาละวินมีความหลากหลายชาติพันธุ์ จุดยืนของชุมชนมในการอนุรักษ์ทรัพยากรทำให้สาละวินหลุดรอดจากการสร้างเขื่อนมาได้ เพราะผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่มไม่สามารถฮั้วกันได้ ตนเคยไปที่ปากแม่น้ำสาละวิน ในรัฐมอญ พบว่าชาวบ้านไม่ได้รับข้อมูลแบบตรงไปตรงมา เสนอว่าควรให้แม่น้ำไหลอิสระต่อไป และการวางแผนในโครงการพัฒนาใดๆ จำเป็นต้องเคารพสิทธิชุมชน

นางสาวลาหมึทอ ดั่งแดนวิมาน เยาวชนบ้านท่าตาฝั่ง ริมแม่น้ำสาละวิน กล่าวว่าตั้งแต่เด็กตนเห็นความพยายามเข้ามาสร้างเขื่อน แต่ผู้ผลักดันโครงการไม่สามารถตอบคำถามชาวบ้านได้ว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไร จะเยียวยาชุมชนได้อย่างไรหากระบบนิเวศถูกทำลาย จึงคิดว่าเราต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กันในฐานะลูกหลานที่ต้องปกป้องแม่น้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตเรามา ตนและเด็กรุ่นใหม่จึงร่วมกันทำงานสืบต่อจากคนรุ่นเดิม เราต้องตะโกนดังๆ ให้ผู้ใหญ่รับฟังว่าพวกเรา ลูกหลานของแม่น้ำสาละวินต้องการอนาคตอย่างไร เพราะการดำเนินการของคนรุ่นนี้มีผลกับคนรุ่นต่อไป

นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกสมาคมฟื้นฟูลุ่มน้ำสาละวิน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่สามแลบ อ.สบเมย กล่าวว่า ภาพของแม่น้ำสาละวินในทางสาธารณะดูน่ากลัว ว่าเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน แต่หากใครได้มาสัมผัสจริงๆ จะเห็นสิ่งดีๆ ธรรมชาติที่งดงาม ลุ่มน้ำสาละวินมีเรื่องราวมากมาย มีผู้คนที่อาศัยอยู่จำนวนมากแต่มักถูกมองข้าม หากเกิดอะไรขึ้นกับแม่น้ำสายนี้ก็จะส่งผลกระทบกับคนจำนวนมาก ที่สำคัญการจะเกิดสันติภาพในสาละวินได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับความเข้าใจและการอยู่ร่วมกัน ดังนั้นเมื่อเกิดโครงการขนาดใหญ่ชาวบ้านจึงต้องออกมาคัดค้าน หากมีการสร้างเขื่อนฮัตจี ความสวยงามที่เห็นอยู่ก็หายไป

“ทุกวันนี้มีเด็กอีกฝั่งหนึ่งของสาละวินไม่รู้กี่แสนคนต้องอยู่แบบหลบๆ ซ่อนๆ ตามป่าเขาเพราะไม่รู้ว่าระเบิดหรือปืนใหญ่จะมาลงหมู่บ้านเมื่อไร คนไหนดวงดีก็รอด ดวงไม่ดีก็ประสบอันตราย เมื่อถูกโจมตีคนเฒ่าคนแก่อายุ 70-80 ปีต้องให้ลูกหลานแบกหนีข้ามแม่น้ำมาอยู่ฝั่งไทย แบกกันไปมาบางทีต้องเสียชีวิตระหว่างทาง ผู้หญิงหลายคนต้องคลอดลูกอยู่ในป่า หลายครั้งที่ทารกต้องเสียชีวิต สิ่งเหล่านี้คือสถานการณ์ในปัจจุบัน เรื่องมนุษยธรรมจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องช่วยกัน ดังนั้นการพัฒนาโดยเฉพาะโครงการใหญ่ต้องไม่กระทบซ้ำเติมพวกเขา” นายพงษ์พิพัฒน์ กล่าว

นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)กล่าวว่า มีการร้องเรียนเรื่องโครงการผันน้ำยวมซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำสาละวิน คาดว่า กสม.จะพิจารณาแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ และจากการตรวจสอบอีไอเอโดยเฉพาะเรื่องกระบวนการการมีส่วนร่วมโดย กสม.ได้ลงพื้นที่และสอบถามข้อเท็จจริงจากชาวบ้าน นอกจากนี้การผันน้ำจากภาคเหนือไปสู่ลุ่มน้ำภาคกลางเกี่ยวกันกับสิทธิชุมชนด้วย และยังมีเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (Business and Human Rights) ซึ่ง กสม.ได้พิจารณากติกาสากล

“โดยส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะเป็นเรื่องที่กำหนดมาจากส่วนกลางแล้วมากระทบต่อชาวบ้านในท้องถิ่น เราต้องดูว่าเป็นการพัฒนาที่เอามาลงนั้นเป็นการพัฒนาแบบยังยืนหรือไม่ หากตรวจสอบแล้วเสร็จ ชาวบ้านสามารถใช้ข้อมูลขับเคลื่อนต่อไปได้ อยากเป็นกำลังใจให้ชาวบ้านซึ่งจำเป็นที่ผู้ได้รับผลกระทบต้องออกมาส่งเสียงดัง เพราะคนอื่นอาจไม่รู้หรือเข้าใจ กสม.จะทำข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล”

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า วันหยุดเขื่อนโลกเรามาที่แม่น้ำสาละวินในทุกๆ ปี โดยมีเหตุผลว่าเราเป็นลูกแม่น้ำโขงได้รับความเจ็บปวดจากเขื่อนมา 25 ปี เราไม่อยากให้เกิดความเจ็บปวดเช่นนี้กับพี่น้องของเรา จึงต้องมาย้ำบอกว่าหากมีเขื่อนเกิดขึ้น แม่น้ำสาละวินและโขงเป็นพี่น้องพ่อแม่เดียวกัน ผลกระทบจากเขื่อนแม่น้ำโขงย่อมเกิดที่แม่น้ำสาละวินหากมีการสร้างเขื่อน การผันผวนของน้ำจะเกิดขึ้น ความเสียหายต่อระบบนิเวศที่หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตชุมชน หากเกิดเขื่อน แม่น้ำสาละวินจะหลุดออกจากอ้อมกอดของประชาชนเหมือนกับที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขง เราหวังว่าอย่างน้อยมีสัก 1 สายน้ำที่ยังบริสุทธิ์ยังคงอยู่ เราอยากเห็นว่าแม่น้ำในธรรมชาติจริงๆ เป็นอย่างไร

“เราเชื่อมร้อยทำงานร่วมกันระหว่างโขงและสาละวิน มีครั้งหนึ่งแม่น้ำโขงแห้งเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้เรือข้ามไม่ได้ เพราะเขื่อนตัวที่ 4 ในจีนกักเก็บน้ำ นักวิชาการต่างโทษว่าเกิดจากสภาวะโลกร้อน แต่เราไม่เชื่อเพราะแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงยากจากผลกระทบในธรรมชาติ เมื่อเรามาแม่น้ำสาละวินในตอนนั้น กลับไม่มีปัญหาผลกระทบอะไรเลย ทั้งๆ ที่เป็นแม่น้ำที่มีระบบนิเวศทุกอย่างคล้ายกัน มีอย่างเดียวที่แตกต่างกันมากคือสาละวินไม่มีเขื่อน แต่แม่น้ำโขงมีแล้ว ดังนั้นสาละวินจึงมีความหวัง พวกท่านต้องยืนหยัดปกป้องแม่น้ำสายนี้ไว้ให้ได้ ตอนนี้มีหวังเพราะเยาวชนคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาปกป้องสาละวิน มีคนถามว่าครูตี๋ยังมีความหวังกับแม่น้ำโขงอยู่หรือ ผมตอบว่ายังมีความหวังเพราะเราเห็นวิธีคิดของเด็ก ผมไม่หวังแล้วกับคนแก่เพราะคิดเหมืดนเดิมที่จ้องแต่ทำลาย เราต้องรีบมอบเรื่องสังคมสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในมือของเยาวชนโดยเร็วที่สุด” นายนิวัฒน์ กล่าว

นส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ภูมิภาค องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) กล่าวว่าขณะนี้กระแสอนุรักษ์ระดับนานาชาติให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิของแม่น้ำ และสิทธิของธรรมชาติ (Rights of Rivers) เพราะเหลือแม้น้ำไม่กี่สายในโลกที่ยังคงความเป็นธรรมชาติและมีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ แม่น้ำสาละวินก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ไหลจากต้นธารบนเทือกเขาหิมาลัยสู่ทะเลอันดามันโดยปราศจากการรบกวน ปัญหาสิ่งแวดล้อมในขณะนี้หลายฝ่ายหันมามองการใช้ธรรมชาติเป็นทางออก และการให้ความสำคัญแก่ชุมชนและผู้หญิงในการร่วมจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน

Related Posts

Send this to a friend