ENVIRONMENT

10 องค์กรภาคประชาสังคม เสนอนโยบายต่อพรรคการเมืองก่อนเลือกตั้ง 66

10 องค์กรภาคประชาสังคม เสนอนโยบายต่อพรรคการเมืองก่อนเลือกตั้ง 66 หวังตอบสนองความท้าทายสิ่งแวดล้อมรอบด้าน

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 Thai Climate Justice For All ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กลุ่มการเมืองสิ่งแวดล้อม สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมฯ และ The Reporters จัดเวทีนโยบายสาธารณะ ข้อเสนอภาคประชาสังคม 10 แห่ง ในด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ต่อ 11 พรรคการเมือง ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร โดยมี ฐปณีย์ เอียดศรีไชย เป็นผู้ดำเนินรายการ

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ นำเสนอข้อมูลว่า ปัญหามลพิษฝุ่นควัน PM 2.5 ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ รัฐบาลชุดนี้พิสูจน์แล้วว่าแก้ไม่ได้ จึงฝากรัฐบาลชุดหน้า อาทิ ให้มีข้อมูลวิชาการ องค์ความรู้ที่ถูกต้อง รอบด้าน เปิดเผยต่อสาธารณะ สร้างการรับรู้ความเข้าใจปัญหาต่อประชาชน ให้มีนโยบายการสนับสนุนการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขฝุ่นควันแบบกระจายอำนาจ ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นแกนหลัก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นตัวประสาน และงานวิชาการเป็นตัวสนับสนุน

นางสาวพรพนา ก๊วยเจริญ กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch Thai) นำเสนอนโยบายว่า ให้มีการเพิ่มบัญญัติสิทธิที่ดินและที่อยู่อาศัยให้เป็นสิทธิของประชาชนไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้ทบทวนแนวทางนโยบายป่าไม้แห่งชาติและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้ผลักดันกฎหมายคุ้มครองสิทธิที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ ให้ปรับปรุงแผนบริหารจัดการที่ดิน (สคทช.) ให้ยุติการอนุญาตให้เอกชนเช่าที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ให้สนับสนุนให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินและมาตรการทางภาษีเพื่อลดการกระจุกตัวของที่ดิน และให้เร่งรัดการจัดทำแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ

ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า หัวหน้าศูนย์เฝ้าระวังอุทกภัยเพื่อนพึ่งภาฯ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ในวันนี้ ทั่วโลกเกิดภัยพิบัติ เช่นกันกับในประเทศไทยที่เกิดอุทกภัย พนังแตก ผันน้ำข้างเดียว ไปจนถึงการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่คาดการณ์ว่าในช่วง 10 ปีจากนี้พื้นที่กรุงเทพฯ จะถูกน้ำท่วมทั้งหมดหากไม่ทำอะไรเลย ดังนั้น จึงเสนอให้รัฐบาลจัดการน้ำที่สมดุลบนวัตถุประสงค์หลายอย่าง จัดการน้ำที่ไม่ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำของผู้คน จัดการน้ำที่ตอบโจทย์กับบริบทประเทศไทยที่เปลี่ยนไป จัดการน้ำที่ตอบโจทย์ภัยจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

“ลด ละ เลิก การขับเคลื่อนนโยบายด้านน้ำแบบ ‘คุณพ่อรู้ดี คุณพี่จัดให้’ มาเป็นรัฐที่มีบทบาท ‘ผู้สนับสนุน’ ให้ประชาชน เอกชน ท้องถิ่น แก้ปัญหาด้านน้ำของตนเองได้ดียิ่งขึ้น เก่งขึ้น ทั้งสนับสนุนงบประมาณ บุคลากร ความรู้ด้านเทคนิคและวิชาการ ปรับกฎ กติกา ระเบียบ ให้เอื้อให้เขาทำได้” ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าว

นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ มูลนิธิอันดามัน นำเสนอนโยบายประเด็นทะเลและชายฝั่ง อาทิ ปรับปรุงกฎหมายการเดินเรือในน่านน้ำไทย กฎหมายอุทยานแห่งชาติ กฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าให้รับรองสิทธิชุมชน ดำเนินการอย่างจริงจังกับการประมงด้วยเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน อันตรายต่อสัตว์ทะเลสำคัญ ส่งเสริมการจัดทำพื้นที่คุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพในทะเลโดยชุมชน ยุติการนำเข้าเศษพลาสติกและขยะพลาสติกทุกประเภท พัฒนาพื้นที่ชายฝั่งอย่างยั่งยืน ตลอดจนตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกรวน

นายมนตรี จันทวงศ์ กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง นำเสนอนโยบายเกี่ยวกับสถานการณ์แม่น้ำโขงผันผวน อาทิ ยุติการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำโขงทั้งหมด โครงการผันน้ำ โครงการก่อสร้างประตูน้ำปิดกั้นปากแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง จัดการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน โดยต้องมีการเปิดเผยและรับฟังความคิดเห็นต่อสาธารณะ จัดการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศแม่น้ำโขง จัดการเจรจาระดับทวิภาคีกับจีนและลาวในเรื่องการชดเชยเยียวยาผลกระทบเขื่อนน้ำโขง โดยการบูรณาการหน่วยงานของไทยร่วมกับภาคประชาชน และมีนโยบายสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน

ผศ.ประสาท มีแต้ม กรรมการนโยบายด้านบริการสาธารณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค นำเสนอข้อกังวลและคำถามต่อแต่ละพรรคการเมืองว่า จะมีนโยบายและมาตรการด้านการลดโลกร้อนและ PM 2.5 อย่างไร และจะมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีสิทธิใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์อย่างไร

นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ นำเสนอนโยบายว่า รัฐบาลต้องมองเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ บูรณาการเรื่องนี้ให้สมดุล และผนวกเข้ากับการจัดทำนโยบายต่าง ๆ โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การดูแลด้านสุขภาพ และการศึกษาของประชาชน ควบคุมการขยายตัวอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ก่อมลพิษสูง และกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีเก่า มีการวางแผนการคุ้มครอง และป้องกันความเสียหายทางสิ่งแวดล้อม

ดร.กฤษฎา บุญชัย Thai Climate Justice For All เสนอนโยบายด้านความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ บัญญัติหลักการสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี ใช้แนวคิด Degrowth แทน GDP ยืนหยัดในหลักการผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้รับผิดชอบเลิกการปล่อยมลพิษของตนเองและต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น และไม่เอาประชาชนมาเป็นแรงงานรับจ้างจัดการสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ก่อมลพิษอย่างคาร์บอนเครดิต

นายสุรชัย ตรงงาม มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เสนอนโยบาย อาทิ แก้ไขรัฐธรรมนูญ กำหนดเพิ่มสิทธิในการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี และสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการดำเนินการใด ๆ ที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้มีการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อร่างกฎหมายที่สนับสนุนสิทธิและความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชน ตลอดจนยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559

นายภูริณัฐ เปยานนท์ กลุ่มการเมืองสิ่งแวดล้อม นำเสนอนโยบายสิ่งแวดล้อมจากมุมมองคนรุ่นใหม่ อาทิ ยุติการฟอกเขียว ปรับปรุงนโยบายตลาดคาร์บอน ปฏิรูปกฎหมาย EIA EHIA การเกษตรนิเวศเพื่ออนาคต กำกับแหล่งอาหารจากโรงงาน (Farm Factory) และสนับสนุนเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ โดยชุมชนเป็นเจ้าของร่วม

สำหรับผู้แทนจากพรรคการเมือง มีการตอบรับโดยสรุป ดังนี้

นายมูฮัมหมัดกัดดาฟี กูนา ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ปัตตานี เขต 3 พรรคเป็นธรรม กล่าวว่า พรรคเป็นธรรมมีข้อเสนอทางนโยบายในด้านสิทธิชุมชน เช่น ควรให้ความสำคัญกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ควรมีการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องจริงจังเรื่องการกระจายอำนาจ ต้องมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง ยกเลิกและแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม

“ผมเชื่อว่าคนในพื้นที่รักแผ่นดิน รักบ้านเกิด การพัฒนาจึงควรเกิดขึ้นจากคนในพื้นที่ คนในพื้นที่ควรมีอำนาจในการตัดสินใจ … ยกระดับสันติภาพที่กินได้และการพัฒนาที่ยั่งยืน” นายมูฮัมหมัดกัดดาฟี กล่าว

นายสุรพงษ์ พรมเท้า พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวตอบรับว่า พรรคชาติไทยพัฒนา ให้ความสำคัญกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว สิ่งที่ภาคประชาสังคมนำเสนอในวันนี้สอดคล้องกับนโยบายพรรคเราอยู่แล้ว จึงจะนำกลับมาคิดทบทวนด้วย อยากจะให้คำมั่นสัญญาว่าเราจะทำในสิ่งที่ท่านนำเสนอ

“ไม่ต้องเป็นห่วงเลยว่าพรรคจะทำอะไร โดยเฉพาะเมื่อคุณท็อป วราวุธ เข้ามาเป็นรัฐมนตรี ได้ส่งเสริมเรื่อง Carbon Credit ตรงนี้เป็นเรื่องที่ล้ำนำสมัย” นายสุรพงษ์ กล่าว

วาดดาว แต่งเกลี้ยง หัวหน้าพรรคสามัญชน กล่าวตอบรับว่า เราไม่เห็นด้วยกับ BCG การฟอกเขียว การผลิตล้นเกินจนผลักภาระให้สิ่งแวดล้อมต้องดูแลอีกครั้ง เราเห็นด้วยกับการจัดการให้ฟากทุนนิยม อุตสาหกรรมการผลิต รับผิดชอบในพื้นที่ของเขาเอง โดยไม่ผลักภาระให้ป่าเขาหรือประเทศที่สาม จึงต้องรื้อฟื้นความเข้าใจในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชน ประชาชนเข้าใจและหลงว่า Carbon Credit คืออนาคต แต่เรายื้ออนาคตได้เพียง 100 ปี ตราบใดที่การผลิตจากทุนนิยมยังส่งผลอยู่

พรรคสามัญชน ผลักดันกฎหมายอากาศบริสุทธิ์ สร้างกลไกการตัดสินใจให้อยู่กับชุมชนท้องถิ่น พื้นที่ที่แตกต่างหลากหลายต้องจัดการตนเองได้ เราหยุดเหมืองมาหลายรอบแล้ว และที่สำคัญเราต้องการทุบเขื่อนด้วย เพราะเป็นอุปสรรคสำคัญจากนโยบายใหญ่ของภาครัฐ ที่สำคัญที่สุดต้องหยุดการฟ้องร้องปิดปาก (SLAPP) ด้วย

นายทันธรรม วงษ์ชื่น ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. พรรคเส้นด้าย กล่าวตอบรับว่า การจัดการสิ่งแวดล้อมจะให้เป็นหน้าที่ของเอกชนหรือประชาชนไม่พอ รัฐมีหน้าที่ สำคัญในการจัดการ เพราะรัฐของเราเดินด้วยกฎหมาย เราต้องการคนที่กล้าเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านด้วยทั้งเรื่องเขื่อนและฝุ่นควัน

“ถ้าสิ่งแวดล้อมดี เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวก็ดีขึ้นด้วย” นายทันธรรม กล่าว

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเพื่ออนาคต หรือ Think Forward Center พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญมาก ภาพรวมของการกระจายอำนาจต้องพูดเรื่องงบประมาณเสมอ พรรคก้าวไกลเสนอจัดงบประมาณให้ตำบลจัดการเอง

“เราต้องการกระจายอำนาจและงบประมาณสู่ท้องถิ่น ต้องแก้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ต้องควบคุมการดำเนินธุรกิจกลุ่มทุนไม่ให้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องส่งเสริมโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ และเราต้องการกระทรวงการต่างประเทศเชิงรุก” ดร.เดชรัต กล่าว

ดร.พรชัย มาระเนตร์ คณะทำงานร่างนโยบาย พรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า พรรคชาติพัฒนากล้าเชื่อในตลาดเสรี เชื่อในเรื่องการแข่งขัน เรื่องทุนนิยมแบบก้าวหน้า การเปลี่ยนแปลงจึงต้องเกิดจากแรงจูงใจ แรงจูงใจที่สำคัญที่สุดคือเงินในกระเป๋า การกระจายอำนาจที่สำคัญที่สุดนอกจากการเลือกตั้งคือนำข้าราชการในท้องถิ่นกลับไปทำโครงการละเอียดในท้องถิ่นของตนเอง

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากพรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล 3 เรื่องยุทธศาสตร์ที่เราจะทำ คือ การใช้เทคโนโลยีทดแทนรัฐราชการ การเน้นแรงจูงใจมากกว่าบังคับให้เป็นภาระประชาชน และการผลักดันกฎหมายภาคประชาชน นักวิชาการ นักการเมือง ที่ปรับยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์

นายพงศา ชูแนม พรรคกรีน กล่าวตอบรับว่า โลกนี้มีปัญหา เอาเงินหรือน้ำใส่เข้ามาก็แก้ไม่ได้ แต่ส่วนตัวเชื่อว่าหากน้ำต้นไม้ใส่เข้ามาจะแก้ได้ คำตอบคือต้นไม้ อย่างที่ในภาคใต้เปลี่ยนอาชีพจากเกษตรเชิงเดี่ยวที่ต้องเผาเป็นเกษตรอย่างยั่งยืน คนที่เคยเป็นรัฐบาลทั้งที่เคยเป็นมาจนถึงปัจจุบันก็อย่าไปเชื่อ เพราะไม่เคยแก้ปัญหาป่าไม้ได้เลย

นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. กทม. พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า วันนี้เราพูดถึงภาวะโลกร้อน แต่การดำเนินการแก้ปัญหามันไม่มี ปัญหาที่นำเสนอนั้นแสดงให้เห็นความล้มเหลว การแก้ไขปัญหาที่ไม่บูรณาการจากภาครัฐ และการบังคับใช้กฎหมายมีปัญหา ดังนั้น หากไทยสร้างไทยเป็นรัฐบาล ต้องเอาจริงเอาจัง กล้าคุยกล้าพูด มีการเจรจากับกระทรวงมหาดไทย และ กทม. พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในอาคาร

“หากไทยสร้างไทยเป็นรัฐบาล โดยคุณหญิงสุดารัตน์ ผมคิดว่าเราสามารถทำได้แน่นอน” นายตรีรัตน์ กล่าว

ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานนโยบายสิ่งแวดล้อม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเห็นมนุษย์ เห็นประชาชนเป็นเจ้าของประเทศ เราตั้งเป้าหมาย 3 อย่างคือ ประชาชนทุกคนต้องมีชีวิตที่ดี ประชาชนทุกคนต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี และชีวิตคนไทยต้องปลอดภัย ดังนั้น สำหรับข้อเสนอเชิงนโยบายของภาคประชาสังคมที่กล่าวมานั้น พรรคเพื่อไทย จะถือว่า PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติ รับมือเหมือนโควิด และเห็นด้วยกับการมีส่วนร่วมของประชาชนตามที่ภาคประชาสังคมเสนอร้อยเปอร์เซ็นต์

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่สะกดว่ารัฐธรรมนูญ ที่จริงมันไม่ใช่ มันเป็นคัมภีร์ที่เขารักษาอำนาจให้มีมาก ๆ และอยู่นาน ๆ สุดท้ายหวังว่าประชาชนชาวไทยจะใช้สิทธิของท่านให้เต็มที่ เลือกพรรคที่มีนโยบายดีที่สุด และทำได้จริง ๆ ขจัดขยะพิษ และกำจัดขยะ คสช. ออกไปจากสังคมไทย” ดร.ปลอดประสพ กล่าวทิ้งท้าย

Related Posts

Send this to a friend