ชาวปกาเกอะญอ 3 หมู่บ้าน ชุมนุมคัดค้านผนวกป่าจิตวิญญาณ 2.4 หมื่นไร่ เป็นเขตอุทยานฯ
ชาวปกาเกอะญอ 3 หมู่บ้านชุมนุมค้านผนวกป่าจิตวิญญาณ 2.4 หมื่นไร่เป็นเขตอุทยานฯ ยื่นหนังสือถึง ‘พล.อ.ประวิตร’ วอนยึดหลักการมีส่วนร่วมของชุมชน หวั่นอุทยานเบี้ยวข้อตกลง
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2565 ชาวบ้านใน 3 หมู่บ้าน (8 หย่อมบ้าน) บนดอยอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ซึ่ง ส่วนใหญ่มีเชื้อสายปกาเกอะญอ และมีภูมิลำเนาอยู่กับป่ามาช้านาน ได้เดินทางมายังที่ว่าการอำเภอสะเมิง เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและอีก 4 หน่วยงาน ผ่านนายณฐกร ภัทรวนนท์ นายอำเภอสะเมิง เพื่อยืนยันขอให้กรมอุทยานแห่งชาติ กันแนวเขตการเตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติออบขาน ออกจากพื้นที่ชุมชนบ้านแม่ลานคำและบ้านป่าคา ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง
ทั้งนี้ในหนังสือระบุว่า ชุมชนบ้านแม่ลานคำ หมู่ 6 และบ้านป่าคา หมู่ 11 ตำบลสะเมิงใต้ ในนามของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และสมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้ขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติออบขานทับพื้นที่ชุมชน จำนวน 24,513 ไร่ ซึ่งทับในพื้นที่ป่าชุมชนและพื้นที่ทำกินของชุมชนที่ใช้ประโยชน์ตามวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มาอย่างยาวนาน โดยชุมชนเห็นว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อหลักสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ สร้างความไม่เป็นธรรมต่อชุมชน และขัดต่อการดำรงวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนที่ได้รับการคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553
ในหนังสือระบุว่า ระหว่างวันที่ 16-28 ตุลาคม 2562 ตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่บ้านแม่ลานคำ-บ้านป่าคา และอุทยานแห่งขาติออบขาน (เตรียมการ) ได้มีการดำเนินการร่วมกันเดินสำรวจพื้นที่การใช้ประโยชน์ของชุมชนตามวิถีดั้งเดิมที่จะถูกทับซ้อนจากการเตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติ ออบขาน (เตรียมการ) จนได้ข้อสรุปเบื้องต้นร่วมกันว่า พบการใช้ประโยชน์ตามการเดินสำรวจร่วมกันในพื้นที่จิตวิญญาณกว่า 368 จุด กระจายรูปแบบการใช้ประโยชน์ทั้งพืชสมุนไพร เก็บหาของป่าตามฤดูกาล เลี้ยงสัตว์ตามวิถีชีวิตและพื้นที่พิธีกรรมทางความเชื่อบรรพบุรุษดั้งเดิม
จึงทำให้เห็นว่าข้อเท็จจริงชุมชนได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่โดยอาศัย พึ่งพิง เกื้อกูลรักษาธรรมชาติควบคู่กับการใช้ประโยชน์มาอย่างยาวนาน เป็นข้อเท็จจริงและข้อสรุปเหตุผลที่จะนำไปสู่การขอให้กันพื้นที่ชุมชนออกจากการเตรียมการประกาศอุทยานแห่งขาติออบขาน และให้ชุมชนได้บริหารจัดการที่ดินภายใต้สิทธิชุมชนในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากร
ในหนังสือระบุว่า จนเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2565 ชุมชนบ้านแม่ลานคำ และบ้านป่าคาได้รับหนังสือจากผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ในการเชิญชวนรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชนในการกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติออบขาน จังหวัดเชียงใหม่ โดยจะจัดขึ้นที่อำเภอสะเมิง ในวันที่ 18 ตุลาคม 2565 เวลา 13.30 – 16.30 น. ณ ที่ว่าการอำเภอสะเมิง ซึ่งชุมชนเกิดความกังวลใจ เล็งเห็นว่าจะไม่ทำตามข้อเสนอของชุมชน ที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาที่มีข้อเท็จจริงปรากฏบิดเบือนไป
หนังสือได้ระบุข้อเสนอดังนี้ 1.กระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชนในการกำหนดพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติออบขาน ต้องนำปัญหาข้อเท็จจริงในระดับพื้นที่ที่ได้ข้อสรุปเพื่อนำไปประกอบในการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน และยืนอยู่บนหลักการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ทั้งการกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการเข้าร่วม การเปิดพื้นที่ในการนำเสนอข้อเท็จจริงและนำไปสู่การสรุปที่ตรงประเด็นไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง
2.ชุมชนขอยืนยันให้กันพื้นที่ออกจาก การเตรียมประกาศเขตอุทยานฯ ออบขาน ที่จะทับซ้อนพื้นที่ออกจากชุมชน จำนวน 24,513 ไร่
3.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้หลักการนำไปปฏิบัติตามแนวทางการแก้ไขปัญหา ตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 และแนวทางการยกระดับรูปแบบโฉนดชุมชน
4.ชุมชนยืนยันแนวทางการแก้ไขปัญหารูปแบบโฉนดชุมชน ภายใต้ มติ ครม. 1 กุมภาพันธ์ 2565 เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จำนวน 15 กรณี
5.ขอให้สนับสนุนการเข้าถึงการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ได้แก่ น้ำ ไฟ ถนนและคุณภาพชีวิตราษฎร ภายใต้มติ ครม 1 กุมภาพันธ์ 2565
พะตีตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ปราชญ์ชาวบ้านและผู้นำทางจิตวิญญาณปกาเกอะญอบ้านสบลาน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้าน 3 หมู่บ้าน ที่จะได้รับผลกระทบจากการประกาศแนวเขตของอุทยานแห่งชาติออบขาน ได้ทำประชาคมหมู่บ้าน โดยทั้งหมดมีมติร่วมกันว่าไม่ต้องการให้พื้นที่ป่าจิตวิญญาณและพื้นที่ลุ่มน้ำขานเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานฯ เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านร่วมกันดูแลและรักษาป่ามาเป็นอย่างดี ป่ามีความอุดมสมูรณ์ เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่สำคัญ
ด้านนายณฐกร ภัทรวนนท์ นายอำเภอสะเมิง ได้รับหนังสือจากชาวบ้าน และกล่าวว่า ทางอำเภอขอรับเรื่องไว้ และจะประสานงานไปยังอุทยานแห่งชาติออบขาน ขอดูรายละเอียดในหนังสือก่อนแล้วจะส่งต่อไปยังหน่วยงาน ตนเป็นประธานในที่ประชุม แต่อำนาจหน้าที่นั้นอยู่ที่อุทยานแห่งชาติออบขาน ส่วนชาวบ้านสามารถแสดงความคิดเห็นได้ ย้ำว่าเป็นการประชุม ไม่ใช่การชี้ขาด ต้องว่าไปตามขั้นตอน