DEEPSOUTH

ชี้ รัฐต้องสื่อสารกระบวนการสันติภาพให้มากขึ้น สร้างพื้นที่ถกเถียงสาธารณะ คุ้มครองเสรีภาพความคิดเห็น

วันนี้ (28 ก.พ. 67) นายอายุบ เจ๊ะนะ ผู้อำนวยการสมัชชาภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ จังหวัดชายแดนใต้ ในฐานะกรรมาธิการ กมธ.สันติภาพ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ The Reporters ในโอกาสวันครบรอบ 11 ปีกระบวนการสันติภาพ 28 กุมภาพันธ์ บอกว่า 11 ปีที่ผ่านมายังไม่เห็นพัฒนาการที่สามารถอธิบายถึงความต่อเนื่องของกระบวนการให้คนพื้นที่ได้รับรู้ได้ และแม้ว่าปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนผ่านเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและมีผู้นำเป็นพลเรือนแล้วก็ยังเห็นปัญหาเรื่องการสื่อสารอยู่ คนในพื้นที่และคนในประเทศยังไม่รับรู้ข้อมูลความคืบหน้ากระบวนการพูดคุยเจรจาสันติภาพหรือรับรู้ถึงความสำคัญ จนกระทั่งการนำข้อมูลมาเป็นแนวทางในการยุติปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่

นายอายุบ กล่าวว่า คนในพื้นที่ให้ความสนใจกับเรื่อง Public Consult หรือการปรึกษาหารือสาธารณะ ซึ่งจำเป็นต้องทำให้คนเข้าใจในเรื่องการปรึกษาหารือ และตนมองว่าเราไม่สามารถกำหนดลิมิตหรือเพดานในประเด็นการหารือในพื้นที่ความขัดแย้งได้ และหากต้องการให้เกิดความครอบคลุมหรือเข้าถึงแก่นกลางของปัญหาของคนในพื้นที่และคนนอกพื้นที่ ต้องให้พวกเขาสามารถสื่อสารได้อย่างอิสระไม่มีเพดานในการจำกัดกรอบความคิด ดังนั้นการสร้างพื้นที่ปรึกษาหารือสาธารณะ อันดับแรกจำเป็นต้องสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นหรือต้องมีสถานะความคุ้มครองบางอย่างทั้งในโต๊ะเจรจาและคนในพื้นที่ ไม่เช่นนั้นจะเป็นกระบวนการที่ไม่มีประสิทธิภาพหากพูดแล้วกระทบต่อความมั่นคงนำไปสู่การดำเนินคดี

นายอายุบ กล่าวว่า ภาคประชาสังคมในพื้นที่สนับสนุนกระบวนการสันติภาพ แต่ก็อยากเห็นกระบวนการที่เป็นรูปธรรมมากกว่าการจัดฉาก และทำให้คนในพื้นที่รู้สึกว่ากระบวนการสันติภาพมีความสำคัญต่อชีวิตและสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ในฐานะภาคประชาสังคมเราจำเป็นต้องเสนอและสะท้อนปัญหาทั้งหมด ทั้งสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงความคืบหน้าของกระบวนการสันติภาพ เราจึงให้ความสำคัญและสนับสนุนกระบวนการพูดคุยมาโดยตลอด เราติดตามและประเมินสถานการณ์เป็นช่วงๆไป จึงเสนอให้ปรับปรุงเรื่องการสื่อสารเพราะเป็นปัญหาที่มีการสื่อสารน้อยเกินไป จำเป็นต้องเพิ่มการรับรู้ต่อคนในพื้นที่และคนทั้งประเทศ เพื่อเปิดให้มีพื้นที่ถกเถียงได้ว่ากระบวนการสันติภาพมีจุดอ่อนหรือจุดแข็งตรงไหน และสังคมจะร่วมหนุนเสริมกระบวนการได้อย่างไร

เมื่อถามว่าอยากสื่อสารถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่กำลังลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้อย่างไร นายอายุบ กล่าวว่า การแก้ปัญหาในพื้นที่ไม่สามารถมองเฉพาะมิติเศรษฐกิจได้เพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องมองปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีปัญหา ในพื้นที่ไม่ได้มีเฉพาะปัญหาความยากจนที่จำเป็นต้องใช้นโยบายทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องวิเคราะห์ถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง เรื่องการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่มีมากน้อยแค่ไหน และยังมีอีกหลายมิติที่จำเป็นต้องได้รับความเข้าใจ

“คนอาจมองว่าถ้าปากท้องดีขึ้นการแก้ปัญหาอื่นก็จะดีขึ้นไปด้วย ผมมองว่ามันไม่เสมอไป เพราะปัญหารากเหง้ายังถูกซ่อนไว้เป็นระยะเวลานาน ผมคิดว่าจำเป็นต้องถูกหยิบยกและนำมาแก้ไขพร้อมกัน” นายอายุบ กล่าวทิ้งท้าย

Related Posts

Send this to a friend