DEEPSOUTH

ยะลา เปิดรับซื้อทุเรียน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ล็อตแรกช่วงโควิด-19 ตั้งเป้าส่งออกจีน ให้ได้ 160 ล้าน

จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นช่วงเวลาเดียวกับผลผลิตทุเรียน 3 จังหวัดชายแดนใต้พร้อมที่จะจำหน่าย ก่อนหน้าที่มีความกังวลเรื่องตลาดส่งออกทุเรียนของไทยไปประเทศจีนจะได้รับผลกระทบ แต่ล่าสุดประเทศจีน มีความพร้อมสำหรับการนำเข้าทุเรียนจากประเทศไทยจำนวนมาก ทำให้เกิดความมั่นใจกับเกษตรกรว่า ทุเรียนจะสามารถจำหน่ายได้ โดยเฉพาะทุเรียนคุณภาพที่ผ่านการพัฒนาอย่างต่อเนื่องโดยความร่วมมือของทางจังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี

ล่าสุดวันนี้ (15 ก.ค. 64) จังหวัดยะลาร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เปิดแหล่งรับซื้อและกระจายทุเรียนฤดูกาลปี 2564 เป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม ณ ตลาดกลางยางพาราจังหวัดยะลา อ.เมือง จ.ยะลา โดย นางพาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ปีนี้ทุเรียนยะลา มีผลผลิตออกสู่ตลาด ประมาณ 63,000 ตัน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดในกลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ รองจากจังหวัดชุมพร

สำหรับโครงการทุเรียนคุณภาพ มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส มีการตั้งเป้า 1,655 ตัน ในปีนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 564 ราย ประกอบด้วย ยะลา 410 ราย นราธิวาส 73 ราย และปัตตานี 81 ราย ซึ่งบรรยากาศการเปิดตลาดรับซื้อวันแรก ที่มีระบบการรับซื้อออนไลน์ และมาตรการในการรับซื้อ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ตามกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ภาพรวมระบบการบริหารจัดการรับซื้อวันแรก เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ทางด้าน นายคุณเวทย์ พยนรัตน์ หัวหน้าแหล่งรับซื้อ โครงการทุเรียนคุณภาพฯ เปิดเผยว่า ปีนี้ตั้งเป้า การรับซื้อผลผลิตทุเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ประมาณ 1,655 ตัน สำหรับการรับซื้อวันนี้ ซึ่งถือเป็นวันแรก มีทุเรียนปริมาณ 15 ตัน จากเกษตรที่เข้าร่วมโครงการ 30 ราย สำหรับคุณภาพของทุเรียนปีนี้ มีการพัฒนาตั้งแต่กระบวนบำรุงดูแลต้น ให้คำปรึกษาแก่เกษตรกร ทุกกระบวนการและขั้นตอนการผลิต 4 ระยะ ตั้งแต่ระยะเตรียมต้น ระยะดอกระยะผล และระยะเก็บเกี่ยว เกษตรกรได้มีการพัฒนาจากทุเรียนหนามแดง เป็นทุเรียนหนามเขียว การให้ราคา มีการอ้างอิงตามกลไกการตลาด โดยให้ราคาสูงกว่าตลาดในพื้นที่ ทั้งนี้ตั้งเป้าว่าจะสามารถส่งออกจีนและมีรายได้ 160 ล้านบาท

ขณะที่ นายอังคาร เลิศฤทธิ์ภูวดล ทีมโครงการเถ้าแก่เล็ก เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ ดูกระบวนการผลิตทุเรียนคุณภาพของเกษตรกร ตามโครงการปิดทองหลังพระ รวมทั้งดูในเรื่องของการเก็บเกี่ยวทุเรียน การขนส่ง ในฐานะตัวแทนของบริษัท CPเครือเจริญโภคภัณฑ์ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปิดทอง ทุเรียนปีนี้มีคุณภาพ มีมาตราฐานในการผลิตที่ดี ทุเรียนที่เปิดรับซื้อในวันนี้ ผลผลิตเป็นทุเรียนที่แก่จัด เนื้อแห้ง เปอร์เซ็นต์แป้ง อยู่ที่ 36 ซึ่งเป็นทุเรียนคุณภาพ สามารถนำไปทำตลาดได้ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลาดปีนี้ของบริษัท บริษัท CPเครือเจริญโภคภัณฑ์ จะเน้นการทำตลาดภายในประเทศเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคทุเรียนที่มีคุณภาพ และมั่นใจว่า คุณเรีียนคุณภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะขายดีอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม คาดการณ์คุณภาพทุเรียนปีนี้จะดีกว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกษตรกรตระหนักถึงเรื่องคุณภาพมากขึ้น และเอาจริงเอาจังกับการดูแล มีการปฏิบัติตามคู่มือทุเรียนคุณภาพอย่างเคร่งครัดมากขึ้น เนื่องจากเห็นผลดีของการทำทุเรียนให้ได้คุณภาพ ขณะที่ตลาดมีการแข่งขันกันมากขึ้นในเรื่องคุณภาพ และคุณภาพของทุเรียนในโครงการ ได้รับการยอมรับและเป็นที่ต้องการของตลาด

Related Posts

Send this to a friend