ART & CULTURE

ดร.ธรณ์ แนะเลือกกระทงแบบไหนรักษ์โลก รักน้ำ รักษ์สัตว์น้ำ อย่างแท้จริง

ชี้ แค่กระทงไม่พอควรดูแลการใช้ถ้วย-ถุงพลาสติกป้องกันขยะลงสู่แม่น้ำลำคลอง แนะผู้จัดการร่วมกันดูแลการจัดการขยะหลังจบงาน

พรุ่งนี้จะเป็นเทศกาลลอยกระทงแล้ว ประเทศไทยมีการรณรงค์ให้ใช้ ‘กระทงรักษ์โลก’ มาช่วงหนึ่งแล้ว หลายคนสร้างสรรค์กระทงที่ไม่ใช้วัสดุสังเคราะห์ย่อยสลายยาก อย่างพลาสติกหรือกระดาษ แต่ยังคงมีคำถามที่ถามกันทุกปีว่ากระทงเหล่านี้ ‘รักษ์โลก’ จริงหรือไม่

วันนี้ The Reporters ได้พูดคุยกับ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกี่ยวกับกระทงรักษ์โลก ซึ่ง ดร.ธรณ์ ให้ความเห็นว่าการที่จะดูว่าเป็นกระทงรักษ์โลกจริงไหมนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยไม่ใช่เฉพาะวัสดุที่ใช้ทำกระทง

“เช่น “กระทงขนมปัง” หากกระทงขนมปังมีอยู่จำนวนมาก และอยู่ในแหล่งน้ำปิด อาจทำให้น้ำเน่าได้ หรือแม้แต่อยู่ในลำธารหรือเขตที่มีระบบนิเวศบอบบาง อาจส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำได้ แต่ถ้าหากกระทงขนมปังไม่ได้มีจำนวนมาก และลอยในแม่น้ำกว้างๆ ที่ไม่ใช่แห่งน้ำปิดอย่าง หนอง บึง อีกทั้งกระทงขนมปังไม่ได้มีเป็นแสนๆ ชิ้น ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำแต่อย่างใด” ดร.ธรณ์ กล่าว

ส่วน “กระทงน้ำแข็งใส่ดอกไม้” ดร. ธรณ์ บอกว่ามีความปลอดภัยต่อสัตว์น้ำ และไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำแข็งขั่วโลกแต่อย่างใ

“มันเป็นไปไม่ได้ที่กระทงน้ำแข็งจะทำให้อุณหภูมิในน้ำมีความเย็นมหาศาล พูดง่ายๆ คงไม่มีใครลอยกระทงน้ำแข็งพร้อมกันทีเดียวเป็นแสนกระทง ที่สำคัญดอกไม้ที่อยู่ในกระทงน้ำแข็ง หรือแม้แต่ “กระทงดอกไม้ที่ทำจากดอกลีลาวดี” ก็ไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะปกติแล้วในแม่น้ำลำคลองนั้น ก็จะมีดอกไม้และใบไม้ตกอยู่ในแม่น้ำลำคลองอยู่แล้ว จึงไม่กระทบต่อสัตว์น้ำแม้ว่าดอกลีลาวดี จะมีพิษต่อสัตว์น้ำก็ตาม ก็ถือเป็นเรื่องปกติครับ”

ส่วนกระทงที่ทำจากหยวกกล้วย แม้จะมาจากธรรมชาติ ก็ยังต้องระวังส่วนประกอบอื่นที่ไม่ควรมองข้าม อาทิ ริบบิ้น ตะปู หรือมีส่วนประกอบของวัสดุเหล่านี้ ถือว่าเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำเนื่องจากไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ เพราะ ริบบิ้น และตะปูอาจตกลงสู่แหล่งน้ำ และไปทิ่มแทงสัตว์น้ำ หรือสัตว์น้ำกลืนกินริบบิ้นจนทำให้เกิดอันตราย ตรงนี้จึงบอกได้ว่าเป็นกระทงที่ไม่ได้ปลอดภัยต่อสัตว์น้ำ 100 % แม้แต่กระทงหยวกกล้วยที่ไม่ตกแต่งแต่ปักธูปเทียน โดยเฉพาะธูป เนื่องจากก้านธูปที่เหลือจากการจุดไฟ อาจตกลงไปในแหล่งน้ำและทิ้มแทงสัตว์น้ำได้เช่นกัน

“โดยสรุปแล้วการจะบอกว่า เป็นกระทงที่รักษ์โลกจริงหรือไม่ ก็ต้องพิจารณาว่ามันมีส่วนของพลาสติก หรือสิ่งแหลมคมต่าง ที่จะไปทำร้ายสัตว์หรือไม่”

ดร.ธรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกจากกระทงแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญคือการจัดงาน ที่ต้องมีความพร้อมในการแยกขยะจากกระทง เพื่อป้องกันดอกไม้ หยวกกล้วย ฯลฯ จากกระทง ตกค้าง หรือแช่อยู่ในแหล่งน้ำปิด (หนอง บึง) เป็นเวลานานๆ ซึ่งจะทำให้น้ำเน่า จนส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำได้

“นอกจากการเลือกกระทงที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติทุกส่วนแล้ว อยากฝากไปยังผู้จัดงานลอยกระทงว่า ขยะจากแก้วชาไข่มุก เครื่องดื่ม ถ้วยจานใส่อาหารที่ได้จากงานลอยกระทง และมักจะปนเปื้อนหรือถูกทิ้งลงในแม่น้ำลำคลอง ก็เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำได้เช่นกัน ผู้จัดควรมีการตั้งจุดทิ้งขยะจากพลาสติกเหล่านี้ ไว้ตามสถานที่สำคัญๆ เช่น ริมแม่น้ำที่จัดงาน และรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก หรือถุงหูหิ้วต่างๆ ด้วยครับ” ดร.ธรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

Related Posts

Send this to a friend