BUSINESS

อนันดาฯ ออกเอกสาร ชี้แจง 5 แนวทางแก้ปัญหา ‘แอชตัน อโศก’ พร้อมเปิดแนวทางช่วยเหลือ

บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ออกเอกสารแจ้งความคืบหน้าแนวทางการแก้ไขปัญหาโครงการแอชตัน อโศก ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการสำหรับเจ้าของร่วม โดยแบ่งเป็น 5 แนวทาง ประกอบด้วย

1.การยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ โดยการซื้อ หรือหาที่ดินเพิ่มเติม โดยหารือร่วมกับสำนักการโยธากรุงเทพมหานคร (สนย.) เพื่อาดำเนินกรให้เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ซึ่งระบุว่า “ที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องมีด้านใดด้านหนึ่งยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะฯ” ปัจจุบันบริษัทฯ จัดหาที่ดิน โดยพิจารณาทั้งการซื้อ หรือหาที่ดิน หรือได้รับสิทธิตามกฎหมายในที่ดิน

ทั้งนี้ ภายหลังการหารือ บริษัทฯ ประเมินขั้นตอนการดำเนินงาน รวมถึงระยะเวลาในการแก้ไขและขอใบรับแจ้งก่อสร้างอาคารฯ ใหม่ มีรายละเอียดดังนี้

1.1 เสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อพิจารณา และอาจต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน
1.2. เมื่อได้ EIA ฉบับสมบูรณ์แล้ว จะยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารฯ ตามมาตรา 39 ทวิ ซึ่ง สนย.จะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาออกใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคารฯ ตามมาตรา 39 ทวิ ประมาณ 14 วันทำการ
1.3 เมื่อได้ใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคารฯ ตามมาตรา 39 ทวิ จะก่อสร้างเพื่อแก้ไขทางเข้าออกโครงการใหม่ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน
1.4 เมื่อก่อสร้างนเรียบร้อยแล้ว สนย.จะตรวจสอบการก่อสร้าง และออกใบรับรองการก่อสร้างฯ (อ.5) โดยใช้ระยะเวลาพิจารณาออกใบรับรองการก่อสร้างฯ ประมาณ 14 วันทำการ

2.การยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 75 ที่กำหนดเหตุในการขอพิจารณาพิพากษาคดีใหม่ โดยบริษัทฯ กำลังพิจารณาเหตุในการยื่นคำร้องเพื่อพิจารณาคดีใหม่ ซึ่งมีอยู่หลายกรณี เช่น กรณีมีความคลาดเคลื่อนในการแสวงหาข้อเท็จจริง การรับฟังพยานหลักฐานในกระบวนพิจารณาของศาล และกรณีที่ในอนาคตกฎหมายที่ใช้ในการพิจารณาพิพากษามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น คาดว่าจะยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ศาลปกครองมีคำพิพากษา

3.ประสานเจ้าของเดิมให้ขอคืนที่ดินที่ถูกเวนคืนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งบริษัทฯ อยู่ระหว่างประสานเพื่อขอคืน ไม่ได้ใช้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดินฯ พ.ศ.2562 มาตรา 53 และกฎกระทรวงการขอคืนที่ดินที่ถูกเวนคืน พ.ศ.2564

4.เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่าน รฟม.เสนอผ่านกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อเสนอเรื่องให้รัฐสภาอนุมัติ โดยบริษัทฯ จะเสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ขยายขอบเขตให้ภาครัฐใช้ที่ดินที่เวนคืน และใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์อื่นอย่างเหมาะสม คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปี นับจากวันที่หน่วยงานของรัฐยกร่างเสนอแก้ไขกฎหมาย

5 เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผ่าน สนย.ไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ไปยังคณะรัฐมนตรี โดยบริษัทฯ จะเสนอให้ภาครัฐแก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 เพื่อแก้ไขให้เกิดความชัดเจน ให้ที่ดินที่ไม่มีด้านใดด้านหนึ่งติดถนนสาธารณะ แต่มีที่ดินอื่นที่สามารถใช้ประโยชน์เป็นทางเข้าออกของรถดับเพลิงได้ ไม่น้อยกว่า 12 เมตร ให้ใช้ที่ดินนั้นเป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษได้ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 3 เดือน นับจากวันที่หน่วยงานของรัฐยกร่างเสนอแก้ไขกฎหมาย

นอกจากนี้ บริษัทฯ มีแนวทางช่วยเหลือเรื่องการผ่อนชำระสินเชื่อเจ้าของร่วมที่มีภาระผูกพันกับสถาบันการเงิน โดยจะประสานงานกับสถาบันการเงินหลัก เพื่อบรรเทาการผ่อนชำระสินเชื่อ ซึ่งเจ้าของร่วมสามารถยื่นขออัตราดอกเบี้ยพิเศษ ไปยังสาขาของสถาบันการเงินที่ขอสินเชื่อ ทั้งนี้ ผลการพิจารณาจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง

Related Posts

Send this to a friend