POLITICS

‘พีระพันธุ์​‘ เดินหน้าแก้กฎหมายพลังงาน คืนอำนาจกำหนดเพดานภาษีน้ำมัน​ หวังคุมราคา​

‘พีระพันธุ์​‘ ยัน​ กฤษฎีกา​ ไม่มีความเห็นในครม.ออกมาตรการช่วยประชาชนลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน​ บอก ช่วยเหลือประชาชนไม่ดีตรงไหน ชี้ เดินหน้าแก้กฎหมาย คืนอำนาจกระทรวงพลังงานกำหนดเพดานภาษีน้ำมัน​ หวังควบคุมราคา​

วันนี้ (8 พ.ค. 67) นายพีระพันธุ์​ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานข่าวว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้แสดงความคิดเห็นประกอบ การพิจารณาการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ประชาชน​ ว่า ”ไม่มี ไปตามข่าวมาจากไหน ผมนั่งอยู่ใน ครม.“

ผู้สื่อข่าวสอบถามว่าในเอกสารมีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าการใช้เงินไปอุดหนุน​บ่อยๆ อาจจะเป็นการบิดเบือน ในส่วนของกระทรวงพลังงานยังยืนยันว่าจะเดินหน้าช่วยเหลือประชาชนต่อไปอยู่ใช่หรือไม่ นายพีระพันธุ์​ กล่าวว่า “ช่วยเหลือประชาชนไม่ดีตรงไหน”

ส่วนกรณีที่สมาคมรถบรรทุกออกมาให้ความเห็นว่าหากมีการปรับเพดานราคาน้ำมันดีเซลไปอยู่ที่ 33 บาทต่อลิตร อาจจะกระทบกับค่าขนส่งนั้น​ นายพีะพันธุ์​ กล่าวว่า เราก็ยังคงตรึงราคาให้เขามาตลอด และขณะเดียวกันก็ได้รับการร้องเรียนมาเหมือนกัน ว่าเวลาเราลดราคา​ เหตุใดผู้ประกอบการจึงไม่ลดให้กับประชาชน

การตรึงราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 33 บาทต่อลิตรหมายความว่ารัฐบาลจะพยายามไม่ให้ราคาสูงเกินกว่าที่กำหนดใช่หรือไม่ นายพีระพันธ์ุ​ ระบุว่า ก็พยายาม​และที่ผ่านมาก็พยายามตรึงเท่าที่จะตรึงได้ และที่ผ่านมาตรึงได้แค่ 30 บาทต่อลิตร แล้วที่ผ่านมา 50 กว่าปี​ ก็ใช้วิธีการตรึงราคาด้วยเงิน เมื่อเงินในกระเป๋ามีมากก็ตรึงได้มาก เงินในกระเป๋ามีน้อย​ ก็ตรึงได้น้อย พอเก็บเงินได้ใหม่ก็ตรึงได้อีก ส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยกับระบบนี้ ซึ่งวิธีการใช้เงินไปตรึงราคาน้ำมัน​ ตนเองมองว่ามันไม่ใช่ ต้องมีการปรับระบบใหม่ ซึ่งตนเองกำลังทำอยู่ และขณะนี้กำลังมีการเขียนกฎหมายใหม่อยู่ ซึ่งอาจจะใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากเสร็จไปแล้วในระดับหนึ่ง

นายพีระ​พันธุ์​ ยังยืนยันด้วยว่า การของบกลางมาช่วย ในมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ประชาชน​ ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวสอบถามว่าเงินในกองทุนน้ำมัน จะสามารถช่วยดูแลราคาน้ำมันได้อีกนานใช่หรือไม่ นายพีระพันธุ์ อธิบายว่า เดิมการดูแลเรื่องราคาน้ำมัน มาตั้งแต่ปี 2516 มีการตั้งกองทุนน้ำมัน ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับ และเพิ่งมีกฎหมายรองรับ ยกฐานะกองทุนน้ำมัน เมื่อปี 2562 ซึ่งก่อนหน้านั้นใช้คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547 มาโดยตลอด ซึ่งให้อำนาจทางกองทุนดูแลตรึงราคา หรือควบคุมระดับราคาน้ำมันได้ 2 ขา โดยขาหนึ่งใช้เงินในกองทุน และอีกขาหนึ่งให้อำนาจในการกำหนดเพดานภาษี ซึ่งขณะนี้กองทุนน้ำมันไม่มีอำนาจเก็บภาษีแต่มีอำนาจกำหนดเพดานภาษี เพราะฉะนั้นเราสามารถใช้ 2 ขานี้ตรึงราคาช่วยดูแลประชาชนได้ และนอกจากจะใช้เงินแล้ว ก็ใช้เพดานภาษีมาเป็นตัวคุมราคาได้ด้วย ซึ่งเราเป็นคนกำหนดเพดานภาษี แต่คนเก็บคือกระทรวงการคลัง

แต่เมื่อออกกฎหมายในปี 2562 มีการตัดอำนาจในการกำหนดเพดานภาษีออก เพราะฉะนั้นตัวเลขของกองทุนน้ำมันที่เป็นหนี้ขึ้นมาเรื่อยๆ​ก็ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา เนื่องจากการกำหนดเพดานภาษีของกองทุนน้ำมันนั้นไม่มีแล้ว ซึ่งที่ผ่านมาพยายามขอให้ทางกระทรวงการคลังพิจารณาปรับลดเพดานภาษีสรรพสามิตซึ่งเขาไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขต่อไป

นายพีระพันธุ์​ ยังมองว่า อำนาจในการกำหนดเพดานภาษีควรกลับมาเป็นแบบเดิม อำนาจในการจัดเก็บภาษี ไม่ใช่ของกระทรวงพลังงาน แต่เนื่องจากสินค้าตัวนี้ เป็นสินค้าที่กระทรวงพลังงานกำกับดูแล เพราะฉะนั้นอำนาจในการกำหนดเพดาน ควรที่จะอยู่กับกระทรวงพลังงาน ส่วนกำหนดแล้วจะจัดเก็บเท่าไหร่กระทรวงการคลังก็ไปดำเนินการจัดเก็บ ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งเดิมของ คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2547

Related Posts

Send this to a friend