เตือน 31 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก คลื่นลมแรง 26–29 ส.ค. 67

ปภ.แจ้งเตือน 31 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก คลื่นลมแรง ช่วงวันที่ 26–29 ส.ค. 67 หลังกรมอุตุฯ ประกาศเตือนฝนตกหนักทั่วไทย กำชับเจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมเผชิญเหตุตลอด 24 ชม.
วันนี้ (26 ส.ค. 67) เวลา 11.30 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 31 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 26–29 ส.ค. 67 พร้อมกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด และจัดทีมปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยามีประกาศฉบับที่ 1 (149/2567) ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2567 เวลา 17.00 น. แจ้งว่า ช่วงวันที่ 26-28 สิงหาคม 2567 ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก อีกทั้งช่วงวันที่ 27-29 สิงหาคม 2567 ทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 1-2 เมตร
สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม ระหว่างวันที่ 26-29 สิงหาคม 2567 ประกบอด้วย
1.ภาคเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน (อ.เมือง อ.ปาย อ.ปางมะผ้า) เชียงใหม่ (อ.แม่อาย อ.ฝาง อ.เชียงดาว อ.ไชยปราการ อ.พร้าว อ.จอมทอง อ.ฮอด) เชียงราย (อ.เมือง อ.แม่สาย อ.เชียงแสน อ.เชียงของ อ.แม่จัน อ.เวียงชัย อ.พญาเม็งราย อ.เวียงแก่น อ.ขุนตาล อ.เทิง อ.ป่าแดด อ.พาน) ลำปาง (อ.วังเหนือ อ.เมืองปาน อ.งาว อ.เสริมงาม) พะเยา (อ.ภูซาง อ.ปง อ.เชียงคำ อ.จุน อ.ดอกคำใต้ อ.ภูกามยาว)
แพร่ (อ.เมือง อ.สอง อ.เด่นชัย อ.วังชิ้น) น่าน (อ.เมือง อ.สองแคว อ.ทุ่งช้าง อ.เชียงกลาง อ.ท่าวังผา อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ปัว อ.บ่อเกลือ) อุตรดิตถ์ (อ.เมือง อ.ท่าปลา อ.ทองแสนขัน) ตาก (อ.เมือง อ.ท่าสองยาง อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด) สุโขทัย (อ.ศรีสัชนาลัย อ.ทุ่งเสลี่ยม) พิษณุโลก (อ.วังทอง อ.ชาติตระการ อ.วัดโบสถ์ อ.นครไทย) และเพชรบูรณ์ (อ.เมือง อ.หล่มเก่า อ.หล่มสัก)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ เลย (อ.นาแห้ว อ.ด่านซ้าย อ.ภูเรือ อ.ท่าลี่ อ.เชียงคาน) หนองคาย (อ.เมือง อ.สังคม) บึงกาฬ (อ.เมือง อ.บุ่งคล้า อ.เซกา อ.โซ่พิสัย) หนองบัวลำภู (อ.สุวรรณคูหา) และอุดรธานี (อ.นายูง อ.บ้านดุง อ.น้ำโสม)
ภาคกลาง 8 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี (อ.สังขละบุรี อ.ทองผาภูมิ) นครนายก (อ.เมือง อ.ปากพลี) ปราจีนบุรี (อ.กบินทร์บุรี อ.นาดี) ชลบุรี (อ.ศรีราชา อ.บางละมุง) ระยอง (อ.เมือง อ.แกลง อ.บ้านค่าย) จันทบุรี (อ.เมือง อ.เขาคิชฌกูฏ อ.สอยดาว อ.โป่งน้ำร้อน อ.มะขาม อ.ขลุง) ตราด (ทุกอำเภอ) และประจวบคีรีขันธ์ (อ.บางสะพาน อ.บางสะพานน้อย)
ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง (ทุกอำเภอ) พังงา (อ.เมือง อ.คุระบุรี อ.ตะกั่วป่า อ.กะปง อ.ท้ายเหมือง) ภูเก็ต (ทุกอำเภอ) กระบี่ (อ.เมือง อ.เหนือคลอง อ.อ่าวลึก อ.คลองท่อม อ.ปลายพระยา อ.เกาะลันตา) ตรัง (อ.เมือง อ.ปะเหลียน อ.นาโยง อ.กันตัง อ.สิเกา อ.ห้วยยอด อ.วังวิเศษ) และสตูล (อ.เมือง อ.ควนโดน อ.ควนกาหลง อ.ทุ่งหว้า อ.มะนัง)
ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ได้แก่ ระนอง (อ.เมือง อ.สุขสำราญ อ.กะเปอร์) พังงา (อ.เกาะยาว อ.ตะกั่วทุ่ง อ.ท้ายเหมือง อ.ตะกั่วป่า อ.คุระบุรี) และภูเก็ต (ทุกอำเภอ)
ทั้งนี้ กอปภ.ก แจ้ง 31 จังหวัด รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยภัย เตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณฝนที่ตกหนักบางพื้นที่ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง โดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ หากคาดว่าสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงหรือขยายวงกว้างมากขึ้น ให้จังหวัดเตรียมเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ เครื่องจักรกลสาธารณภัย และวัสดุอุปกรณ์ ให้พร้อมออกช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีที่เกิดสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามข้อมูล ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น