AROUND THAILAND

ชาวบ้านแม่สามแลบขอรัฐบาลไทยนำ ‘ข้าวสารปริศนา’ ออกจากพื้นที่โดยด่วน หวั่นความปลอดภัย

ชาวบ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ระบุ จนถึงขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่า กองข้าวสาร 700 กระสอบ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสาละวิน เป็นของใคร ชาวบ้านห่วงความปลอดภัย หากเป็นของทหารพม่า ก็ขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการนำออกจากพื้นที่โดยเร็ว เพราะทาง KNU คัดค้านการส่งเสบียง หวั่นเกิดการปะทะที่ชายแดนไทย

นอกจากนี้ชาวบ้านยืนยันว่า จุดผ่อนปรน บ้านแม่สามแลบ ไม่อนุญาตให้มีการซื้อขายสินค้าข้ามแดน ไทย – เมียนมา ตั้งแต่ เดือนมีนาคม 2563 จากมาตรการโควิด-19 จึงเป็นไปไม่ได้ที่ชาวบ้านจะมีการซื้อขายสินค้ากัน โดยเฉพาะ ข้าวสารจำนวนมากขนาดนี้ไม่เคยส่งเข้ามาในพื้นที่มาก่อน จึงอยากให้รัฐบาลตรวจสอบให้ชัดเจน

วันนี้ (22 มี.ค. 64) กองข้าวสาร 700 กระสอบ รวมทั้งแกลลอนน้ำมัน ยังคงวางอยู่ริมแม่น้ำสาละวิน บ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน หลังมีการขนเข้ามาในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม และวางอยู่ด้านหลังจุดตรวจบ้านแม่สามแลบ ซึ่งเป็นจุดผ่อนปรนชายแดน ที่อยู่ตรงข้ามรัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา และมีฐานทหารพม่าตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม ไม่ไกลจากกองข้าวสาร ที่มีแม่น้ำสาละวินเป็นเส้นกันพรมแดน

ชาวบ้านแม่สามแลบ ที่มีอาการหวาดกลัวในการให้ข้อมูล ยอมรับว่า จนถึงขณะนี้อยากทราบให้แน่ชัดว่า กองข้าวสารจำนวนนี้เป็นของใคร หากเป็นของทหารพม่าจริง ตามที่มีการตั้งข้อสงสัย ชาวบ้านก็เป็นห่วงความปลอดภัย เพราะ ทหารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU ประกาศคัดค้านการส่งเสบียงให้กับทหารพม่า ในพื้นที่ของกองพล 5 และหากมีการปะทะกันจะส่งผลกระทบกับชาวบ้านโดยตรง จึงอยากให้นำข้าวสารเหล่านี้ออกไปจากพื้นที่โดยเร็วที่สุด

The Reporters ตรวจสอบจากชาวบ้านให้การตรงกันว่า เวลาประมาณ ตี 5 ของวันที่ 20 มีนาคม รถบรรทุก 3 คันที่สอบถามระบุว่ามาจากอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก นำข้าวสารมาถึงที่บ้านแม่สามแลบ แต่นำรถขนาดใหญ่เข้ามาริมแม่น้ำไม่ได้ จึงนำใส่รถกระบะขนมายังจุดผ่อนปรน โดยมีชายพูดภาษาเพื่อนบ้านมาด้วย ทำให้ชาวบ้านเป็นกังวลเรื่องสถานการณ์โควิด และไม่รู้ว่าข้าวเหล่านี้จะนำไปไหน จึงได้มีการร้องเรียนผ่านสื่อ ซึ่งหากจะเป็นการซื้อขายชายแดน ตามที่ กองทัพภาคที่ 3 ระบุว่า เป็นการที่ทหารพม่าประสานงานซื้อผ่านกลไกล คณะกรรมการชายแดนหรือ TBC ทำไมถึงทำได้ เพราะชาวบ้านไม่สามารถเดินเรือขายสินค้าในแม่น้ำสาละวิน ผ่านจุดผ่อนปรนมานาน 1 ปี ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปีที่แล้ว จากมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 จึงอยากให้รัฐบาลไทยชี้แจงให้ชัดเจน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ข้าวสารเหล่านี้จะนำมาเองโดยชาวบ้าน เพราะเป็นสินค้าจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยเข้ามาในพื้นที่

ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงกลาโหม ระบุว่าว่าภาพที่ออกมา จริงๆ แล้วเป็นคนละกรณีกันทั้งหมด เพราะพื้นที่บริเวณนี้ เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว พื้นที่ดังกล่าวมีฐานทหาร มีประชาชนชาวเมียนมา มาอยู่บนเส้นเขตแดน อยู่บนพื้นที่สูง จนมีการเจรจาผ่านกลไกที่มีอยู่ให้ขยับไปข้างล่างทั้งหมด ทำให้การสัญจรไปมาในฝั่งตรงข้ามเป็นไปได้ยาก ส่วนใหญ่จึงมีการเข้ามาซื้อของในฝั่งไทย แต่ตกลงกันว่าต้องไปอยู่พื้นที่ข้างล่างให้หมด ซึ่งทางฝั่งเมียนมาก็ยินยอม แต่ขอสั่งอาหารจากฝั่งไทย ซึ่งเป็นเรื่องของมนุษยธรรม และความมั่นคงตามแนวชายแดน เพราะพื้นที่เขตแดนไม่ชัดเจน และการสั่งซื้อดังกล่าวเป็นการสั่งซื้อโดยตรงจากพ่อค้า จึงอย่าให้เป็นประเด็น หรืออย่ามาพาดพิง ว่าไทยสนับสนุนรัฐบาลเมียนมา

แต่สำหรับพื้นที่ ที่กองข้าวสารตั้งอยู่ ฝั่งตรงข้ามบ้านแม่สามแลบ ไม่มีหมู่บ้านชาวพม่า มีเพียงฐานทหารพม่า ส่วนหมู่บ้านที่ตั้งน้ำสาละวิน มีเพียงผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยง ที่ค่ายอพยพอิตูท่า ห่างขึ้นไปประมาณ 40 กิโลเมตร และพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงบริเวณนี้อยู่ในคุ้มครองของกองพล 5 KNU ที่ยังคงมีการปะทะกับทหารพม่าด้วย และวันนี้ ในช่วงประมาณ 16.00 น.มีภาพชายกลุ่มหนึ่งนั่งเรือข้ามฝั่งมาที่บ้านแม่สามแลบ มาที่กองข้าวและมาซื้อของที่ด่าน ชาวบ้านจึงอยากให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและชี้แจงถึงที่มาของข้าวรวมทั้งนำข้าวกองนี้ออกจากพื้นที่โดยเร็ว

Related Posts

Send this to a friend