TCMA จับมือ สระบุรี สร้างจังหวัดต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำ ตั้งเป้าสู่เมืองอุตสาหกรรมสีเขียวอัจฉริยะ

สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) และจังหวัดสระบุรี พร้อม 21 หน่วยงาน ประกาศความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Partnership: PPP) พัฒนาจังหวัดต้นแบบ-สระบุรีเมืองคาร์บอนต่ำ ‘PPP-Saraburi Sandbox: A Low Carbon City’ โดยการสนับสนุนของ 7 กระทรวง ขับเคลื่อนโครงการต้นแบบ ตามสาขา Thailand NDC Roadmap ลดก๊าซเรือนกระจก ยกระดับสระบุรีสู่เมืองอุตสาหกรรมสีเขียวอัจฉริยะ สังคมแห่งคุณภาพชีวิต
ดร.ชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) กล่าวว่า ความร่วมมือของผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทย ภายใต้การทำงานของ TCMA อยู่ระหว่างขับเคลื่อนลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมาย Thailand 2050 NET ZERO Cement & Concrete Roadmap สอดคล้องกับนโยบายลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ โดยจำลองจังหวัดสระบุรี เป็นต้นแบบทดสอบการปฏิบัติลดก๊าซเรือนกระจก ผ่านโครงการต้นแบบต่าง ๆ ครอบคลุมทั้งภาคพลังงาน กระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ การจัดการของเสีย การเกษตร และป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน
การดำเนินการดังกล่าว มีเป้าหมายให้จังหวัดสระบุรีเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ มีการพัฒนาเติบโตอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง BCG ที่มุ่งการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า บนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ TCMA จึงพร้อมนำอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และคอนกรีตของไทยสนับสนุนจังหวัดสระบุรี และร่วมมือกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อน ‘สระบุรีแซนด์บ็อกซ์-เมืองคาร์บอนต่ำ’ ให้มีความก้าวหน้าและบรรลุเป้าหมาย
นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า สระบุรีมีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ เป็นแหล่งผลิตปูนซีเมนต์ที่สำคัญ จึงให้ความสำคัญในการพัฒนาจังหวัดแบบองค์รวม ตามแนวทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ยกระดับหวัดสระบุรี สู่เมืองอุตสาหกรรมสีเขียวอัจฉริยะ สังคมแห่งคุณภาพชีวิต สร้างสมดุลด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) และสอดคล้องกับนโยบายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ในปี 2608
“สระบุรีแซนด์บ็อกซ์-เมืองคาร์บอนต่ำ เป็นโครงการเรือธงลดก๊าซเรือนกระจกของจังหวัดสระบุรี ระหว่างปี 2566-2569 โดยตัวอย่างโครงการในระยะแรก ปรกอบด้วย
1.การใช้ผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ ด้วยการส่งเสริมปูนซีเมนไฮดรอลิกในทุกงานก่อสร้าง
2.การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานคาร์บอนต่ำ (Energy Transition) ด้วยการจัดการวัสดุเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรม ภาคชุมชน (Waste to Energy) พลังงานชีวมวล (Biomass) พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power) พืชพลังงาน (Plant Energy)
3.การทำนาน้ำน้อย
4.การเพิ่มพื้นที่สีเขียวจากการปลูกป่า
5.การศึกษาเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนและนำไปใช้ประโยชน์ กักเก็บ (Carbon Capture Utilization/ Storage)