AROUND THAILAND

ปลัด มท. เผย สถานการณ์วาตภัยเกิดในพื้นที่ 10 จังหวัด เสียหายกว่า 1,781 หลัง

วันนี้ (17 เม.ย. 66) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ได้รับรายงานภาพรวมการเกิดสถานการณ์วาตภัยทั่วประเทศ จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 66 พบว่าจากสถานการณ์บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านตะวันออก และทะเลจีนใต้แล้ว ส่งผลให้ลมตะวันออกพัดนำความชื้นจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง ในระหว่างวันที่ 15-16 เม.ย. 66 และเกิดสถานการณ์ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ สุรินทร์ ชัยภูมิ สกลนคร อุบลราชธานี อุดรธานี ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช รวม 37 อำเภอ 86 ตำบล 235 หมู่บ้าน

สำหรับรายละเอียดความเสียหายนั้น มีบ้านเรือนได้รับความเสียหาย 1,781 หลัง ได้แก่
1) จ.อำนาจเจริญ เกิดเหตุวาตภัยในพื้นที่ ต.จิกดู่ อ.หัวตะพาน ต.นาเวียง อ.เสนางคนิคม เมื่อวันที่ 15-16 เม.ย. 66 ส่งผลให้บ้านเรือนเสียหาย 42 หลัง
2) จ.สุราษฎร์ธานี เกิดเหตุวาตภัย คลื่นลมแรงในพื้นที่ ต.ดอนสัก อ.ดอนสัก เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 66 เวลา 11.00 น. ส่งผลให้เรือเฟอร์รี่ขนาด 2,005 ตันกรอส ชื่อเรือราชา 10 จมในแบบตะแคงข้าง ขณะเกิดเหตุไม่มีผู้โดยสาร
3) จ.นครศรีธรรมราช เกิดเหตุวาตภัยและคลื่นซัดฝั่ง ในพื้นที่อ่าวปากพนัง ต.แหลมตะลุมพุก ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง ต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา ต.ช้างกลาง อ.ช้างกลาง ต.ดุสิต อ.ถ้ำพรรณรา ต.สิชล อ.สิชล และอ.เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 66 เวลา 08.00 น. ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 1 หลัง มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เบื้องต้น เรือประมงขนาดเล็กล่ม 9 ลำ มีลูกเรือประมงสูญหาย อยู่ระหว่างการค้นหา
4) จ.สุรินทร์ เกิดเหตุวาตภัยในพื้นที่ ต.แดงงุด ต.ด่าน อ.กาบเชิง ต.หนองแวง อ.ศรีณรงค์ เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 66 เวลา 21.00 น. ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 42 หลัง คอกสัตว์ 1 แห่ง
5) จ.อุบลราชธานี เกิดเหตุวาตภัยในพื้นที่ อ.เขื่องใน พิบูลมังสาหาร บุณฑริก ตระการพืชผล น้ำยืน สิรินธร โขงเจียม สำโรง เขมราฐ และเหล่าเสือโก้ก ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 602 หลัง ยุ้งฉาง 9 แห่ง คอกสัตว์ 2 แห่ง
6) จ.สกลนคร เกิดเหตุวาตภัยในพื้นที่ ต.ธาตุ ต.คูสะคาม อ.วานรนิวาส ต.กุดบาก อ.กุดบาก เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 66 เวลา 16.00 น. ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 42 หลัง
7) จ.ร้อยเอ็ด เกิดเหตุวาตภัยในพื้นที่ตำบลโพธิ์ศรีสว่าง ต.โคกสูง ต.นาดี ต.โพธิ์ทอง อ.โพนทอง ต.หนองแวง อ.เมืองร้อยเอ็ด ต.ชุมพร อ.เมยวดี ต.บัวคำ อ.โพธิ์ชัย เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 66 เวลา 16.00 น. ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 92 หลัง
8) จ.อุดรธานี เกิดเหตุวาตภัยในพื้นที่ ต.สร้างคอม ต.บ้านโคก ต.บ้านหินโงม อ.สร้างคอม ต.บ้านชัย ต.นาคำ อ.บ้านดุง เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 66 เวลา 15.30 น. ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 60 หลัง
9) จ.ชัยภูมิ เกิดเหตุวาตภัยในพื้นที่ ต.ตลาดแร้ง ต.ชีบน อ.บ้านเขว้า ต.หนองสังข์ ต.นาหนองทุ่ม ต.ช่องสามหมอ อ.แก้งคร้อ ต.บ้านเล่า ต.นาฝ่าย ต.โคกสูง อ.เมืองชัยภูมิ ต.หนองบัวโคก ต.บ้านขาม ต.กุดน้ำใส ต.หนองโดน ต.อมป่อย อ.จัตุรัส ต.หัวทะเล ต.บ้านตาล อ.บำเหน็จณรงค์ ต.โคกสะอาด ต.หนองบัวระเหว อ.หนองบัวระเหว ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 695 หลัง
10) จ.กาฬสินธุ์ เกิดเหตุวาตภัยในพื้นที่ตำบลคำใหญ่ อ.ห้วยเม็ก ต.หนองแวง อ.สมเด็จ เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 66 เวลา 15.00 น. ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนเสียหาย 231 หลัง

นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ได้สั่งการบูรณาการร่วมส่วนราชการและทุกภาคส่วนในพื้นที่ โดยมีสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด (ปภ.จ.) เป็นหน่วยประสานงานกลาง นำการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ทำการปกครองอำเภอ หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงจิตอาสา เข้าสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือ และประชุมหารือวางแผนแนวทางการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยนอกเหนือจากงบประมาณภาครัฐตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับในด้านการเฝ้าระวังภัย ขอให้ได้บูรณาการทีมงานเครือข่ายอาสาสมัครเตือนภัย ‘มิสเตอร์เตือนภัย’ เพื่อสังเกต ติดตาม เฝ้าระวังสภาพอากาศ และสถานการณ์ภัยในพื้นที่ เป็นภาคีในการแจ้งเหตุและรายงานไปยังสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเพื่อเตรียมดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ และแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติต่อไป อีกทั้งขอให้ทุกจังหวัดได้เร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้ประชาชนระมัดระวังตนเอง และรู้วิธีปฏิบัติตนเมื่อเกิดภัย รวมถึงช่องทางการติดต่อภาครัฐหากต้องประสบสถานการณ์ภัย เพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์ภัยในทุกช่องทางการสื่อสาร

Related Posts

Send this to a friend