มหาดไทย- กกต.จัดสัมมนาเตรียมพร้อมเลือก สว.เปรียบเหมือนการแข่งกีฬา
ทุกคนต้องเข้าใจกติกาก่อนลงสนาม อยากโกรธคนทำสังคมสับสน แจงออกระเบียบตาม รธน.ไม่ดีก็ไปแก้ครั้งหน้า ประกาศผลตามกรอบเวลาแน่นอน
วันนี้ (16 พ.ค.67) กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดประชุมสัมมนาเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 แก่บุคลากรทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกว่า 1,400 คน ณ อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี
นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ชี้แจงแนวทางปฏิบัติและขั้นตอนกระบวนการเลือก สว. เปิดเผยว่าเป็นเรื่องใหม่ เพราะได้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เต็มรูปแบบในการเลือก สว. กระทรวงมหาดไทยแล กทม.เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของการเลือกตั้ง ซึ่งหวังว่าจะได้รับความร่วมมือและแรงสนับสนุนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยเฉพาะการเลือกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และการออกเสียงประชามติ
“กกต.พร้อมออกหน้ารับแทนทุกหน่วยงาน อยากให้สบายใจว่าเมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้ง กกต.จะรับแทนทุกเรื่อง นี่เป็นแนวทางในการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานต่าง ๆ “
กกต.พร้อมสนับสนุน การเลือก สว.ในระดับอำเภอ และระดับจังหวัด จุดแตกหักอยู่ที่ระดับอำเภอ ซึ่งยังประเมินไม่ได้ว่ามีผู้สมัครจำนวนเท่าไร เมื่อวานมีผู้มารับใบสมัครเพียง 14,000 คน น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เยอะ แต่คาดว่าใกล้วันรับสมัครน่าจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า โดยผู้อำนวยการการเลือก สว.จะสามารถยื่นเรื่องคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามไปยังศาลฎีกาได้ หากมีผู้สมัครเยอะ ก็จะเป็นภาระพอสมควร
กกต.ยังได้กำชับให้สนับสนุนผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอเต็มที่ จังหวัดที่มีพนักงาน กกต.เพียงพอก็จะจัดให้ไปประกบ แต่หากจังหวัดใดมีพนักงาน กกต.ไม่เพียงพอก็จะตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกในช่วงที่มีการสมัคร พร้อมสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม 30 ประเภท จาก 27 หน่วยงาน เพื่อในการใช้ประกอบการพิจารณาและวินิจฉัยว่าจะประกาศเป็นผู้สมัครหรือไม่
นอกจากนี้ตนเองยังได้เคยพูดคุยกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้มอบนโยบายให้กระทรวงมหาดไทยสนับสนุนงานของชาติด้วยความยินดี หมายความว่าเราคิดตรงกัน ตั้งแต่ระดับบนยันระดับล่าง จึงหวังว่าการเลือก สว.จะสำเร็จเรียบร้อย คงมีปัญหาให้แก้ไข แต่ส่วนตัวเชื่อศักยภาพในการทำงานร่วมกัน เพราะในพื้นที่ของไม่มีใครเก่งเกินกว่ากระทรวงมหาดไทยและ กทม.
นายแสวง กล่าวต่อว่าหลายเดือนที่ผ่านมามีการเผยแพร่ข้อมูลให้สังคมสับสน บางครั้งอยากจะโกรธเวลาผู้ดำเนินรายการ หรืออาจารย์ไปออกทีวี มีการวิพากษ์วิจารณ์ไปอย่างนั้นอย่างนี้ คนพวกนี้แทนที่จะทำให้คนในสังคมเห็นชัดเจนบางประเด็น แต่กลับทำให้สับสน ชาวบ้านไม่ได้อ่านกฎหมายไม่เป็นไร เพราะเขาใช้ความรู้สึก ส่วนคนที่มีความรู้แล้วไปออกรายการไม่ได้พูดถึงกฎหมายสักคำ แต่เราก็รับฟังได้ เรารับฟังอย่างนี้มาโดยตลอด ไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจ
“เหมือนแข่งกีฬา เราต้องเห็นกติกาเดียวกัน เหมือนแข่งฟุตบอล คนดู กรรมการ คนเล่นจะเห็นเหมือนกันว่าฟาวล์คืออะไร ส่วนกรรมการจะตัดสินผิดพลาดก็เป็นอีกเรื่อง“ นายแสวง กล่าว
การเลือก สว.ครั้งนี้ยอมรับว่าสลับซับซ้อน แต่ระบบถ้าทำเป็นขั้นเป็นตอนก็ไม่ซับซ้อน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 ระบุไว้ว่า สว. 200 คนมาจากการเลือกกันเองของผู้มีความรู้ มีประสบการณ์ มีความดี ซึ่งอ่านแค่ 2 บรรทัดก็รู้แล้วว่า ประชาชนไม่มีสิทธิสมัคร ยกเว้นจะมาเป็นผู้สมัคร การเลือก สว.เป็นการเลือกจากอดีต ไม่ใช่เลือกจากอนาคตเหมือน สส.ที่นำเสนอนโยบาย สว.ต้องการผู้ทรงคุณวุฒิมาทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย เห็นชอบบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งในหน่วยงานต่าง ๆ
คนดีเหล่านี้จะเข้าไปทำหน้าที่ กฎหมายไม่ได้ให้หาเสียง แต่ให้ดูจากประวัติ เลือกจากคุณสมบัติ และเลือกจากประวัติการทำงาน เลือกจากสิ่งที่แนะนำตัว ไม่ได้เลือกจากการแสดงจุดยืน วิสัยทัศน์ หรือเลือกจากคะแนนนิยม กกต.มีหน้าที่ออกระเบียบตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ ดีหรือไม่ดี เราไม่ทราบแต่กฎหมายออกแบบไว้อย่างนี้ ไม่ดีก็ไปแก้ครั้งหน้า รัฐธรรมนูญมีคนคิดไว้ เราเป็นเพียงคนทำตามรัฐธรรมนูญทำน้อยกว่า หรือทำเกินกว่าก็ไม่ได้ เพราะมีคนจ้องอยู่ตลอด
ส่วนการจะได้ สว.ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ต้องเป็นไปตามหลัก 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.หลักการมีส่วนร่วมจากประชาชน 2.หลักความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ดูได้ด้วยตา และกระบวนการ 3.หลักประสิทธิภาพ 4.หลักอำนวยความสะดวก และ 5.หลักเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ขออย่าคิดกลับห้วกลับหาง
ทั้งนี้ที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับประกาศผลว่าจะไม่เป็นไปตามเวลา มีอยู่ 2-3 เงื่อนไข เงื่อนไขแรก คนสมัครไม่ครบกลุ่ม ก็จะให้ดำเนินการเลือกต่อไป ยืนยันว่าไม่ใช่เป็นการประวิงเวลาเพื่อให้การเลือกทอดยาวออกไป เงื่อนไขที่สอง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม หากผู้อำนวยการการเลือก สว.ไม่ประกาศชื่อให้เป็นผู้สมัคร สามารถร้องศาลฎีกาได้ภายใน 3 วัน และให้ศาลฎีกาพิจารณาให้แล้วเสร็จก่อนวันเลือกตั้ง 1 วัน ขณะที่เงื่อนไขที่สาม การร้องเรียนเกี่ยวกับกระบวนการระหว่างการลงคะแนนและนับคะแนน ซึ่งสามารถจบได้ภายใน 7 วัน