AROUND THAILAND

กรมชลฯ จับมือ หลายหน่วยงานวางแผนรับมือฤดูฝน ปี 66 ย้ำให้เตรียมรับมือเอลนีโญ

วันนี้ (8 พ.ค.66) ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไป

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (8 พ.ค.66) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 43,103 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 19,165 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,854 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 6,158 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะนี้ได้สิ้นสุดการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 65/66 แล้ว เริ่มเข้าสู่การจัดสรรน้ำฤดูฝน ปี 2566

จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 11 – 14 พ.ค. 66 ลมตะวันออกเฉียงใต้ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนฟ้าคะนองในบางพื้นที่ ทางด้านภาคใต้ลมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่

อีกทั้งยังได้คาดการณ์ว่าในช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 66 มีแนวโน้มที่จะเกิดฝนทิ้งช่วง ด้วยปรากฎการณ์เอลนีโญ อาจส่งผลให้ปริมาณฝนในปีนี้มีแนวโน้มต่ำกว่าค่าเฉลี่ย กรมชลประทานได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศติดตามสภาพอากาศและสภาพฝนอย่างใกล้ชิด และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนกำหนดแนวทางการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้มีการกักเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ในอนาคตให้มากที่สุด รวมไปถึงการเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ การกำจัดวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้ปฏิบัติตาม 12 มาตรการ รับมือฤดูฝน ปี 2566 อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอสำหรับทุกกิจกรรม และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด

Related Posts

Send this to a friend