AROUND THAILAND

กรุงเทพธนาคม เตรียมฟ้องแพ่งบอร์ดบริหารชุดเก่า กรณี “โครงการร้อยสายสื่อสารลงดิน” เสียหาย 200 ล้านบาท

วันนี้ (10 ม.ค. 66) ผศ.ดร.ประแสง มงคลศิริ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ชี้แจงข้อเท็จจริง โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินของบริษัท ที่ริเริ่มในสมัย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม. และได้มอบหมายให้บริษัทดำเนินการ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 61 เมื่อครบ 33 ปี จะให้กรรมสิทธิ์ท่อร้อยสายใต้ดินตกเป็นของกรุงเทพมหานคร

ผศ.ดร.ประแสง กล่าวว่า เมื่อบอร์ดชุดปัจจุบันเข้ามาทำหน้าที่ ในเดือน มิ.ย.65 ได้ตรวจสอบพบความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินโครงการ คือ บริษัทได้ทำการลงนามสัญญาวิศวกรรม จัดหา ก่อสร้าง (Engineering Procurement Construction : EPC) จำนวน 4 ฉบับกับบริษัทก่อสร้างเอกชน เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 62 และต่อมาในวันที่ 27 พ.ค. 62 บอร์ดบริษัทมีมติเชิญบริษัท ทรู อินเตอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด มาเจรจาเพื่อเข้าทำสัญญาเป็นผู้ใช้บริการรายใหญ่ 80% ของท่อ โดยต้องจ่ายค่าใช้บริการท่อร้อยสายล่วงหน้าเป็นจำนวนเงิน 13,500 ล้านบาท ซึ่งต่อมาไม่บรรลุข้อตกลง คู่เจรจาก็ได้มีหนังสือขอหลักประกันคืนไป

ผศ.ดร.ประแสง กล่าวต่อว่า จากข้อเท็จจริงข้างต้น เมื่อ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 (มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 62) กำหนดให้บริษัทเป็นหน่วยงานของรัฐประเภทรัฐวิสาหกิจ และเป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ดังกล่าว อาทิ การจัดทำโครงการ การเสนอโครงการ การคัดเลือกเอกชน ฯลฯ ซึ่งมีผู้ร้องเรียนประเด็นนี้ไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ผู้บริหารบริษัทชุดในอดีตก็ยังดำเนินการก่อสร้างไปตามสัญญา EPC จำนวน 4 สัญญาที่ลงนามกันเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 62 ต่อไป แม้จะไม่มีผู้ใช้บริการรายใหญ่มาร่วมลงทุน และไม่ดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ

ต่อมา วันที่ 20 ม.ค. 65 บอร์ดบริษัทก็ยังได้อนุมัติโครงการก่อสร้างต่อเนื่องกับโครงการท่อร้อยสายสื่อสารนี้อีก คือการติดตั้งเสาไฟและโคมไฟส่องสว่างพร้อมระบบแพลทฟอร์ม เส้นทางถนนพระรามที่ 1 โดยทำสัญญาว่าจ้างบริษัทก่อสร้างเอกชนเข้ามาก่อสร้าง โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดแก่บริษัท

หลังจากที่ผู้บริหารชุดปัจจุบันได้เข้ามาบริหารงานและพบความผิดปกติต่างๆ ในช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา จึงได้ดำเนินการสอบสวนและไล่ออกพนักงานจำนวนหนึ่งโดยความผิดทางวินัยร้ายแรงแล้ว ดังนั้นจึงต้องดำเนินคดีทางแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจำนวนประมาณ 200 ล้านบาทจากผู้เกี่ยวข้องที่สร้างความเสียหายแก่บริษัท ซึ่งค่าใช้จ่ายโครงการก็มาจากภาษีอากรของกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทเช่นกัน

ผศ.ดร.ประแสง กล่าวต่อว่า สำหรับคดีอาญานั้น ป.ป.ช.กำลังดำเนินสอบสวนอยู่ตามข้อร้องเรียนที่มีอยู่เดิมในอดีตและได้เชิญตนในฐานะกรรมการผู้อำนวยการของบริษัทไปให้ปากคำพร้อมทั้งชี้แจงแสดงเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา โดยบริษัทพร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานตรวจสอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน เพื่อให้การทำงานของบริษัทภายใต้การนำของผู้บริหารชุดใหม่เป็นไปด้วยความโปร่งใส สุจริต ทุกโครงการและไม่ก่อให้เกิดปัญหาและความเสียหายต่อบริษัทและกรุงเทพมหานคร ดังเช่นที่ผ่านมา

Related Posts

Send this to a friend