BANGKOK

กทม.แจงดราม่า สวนเบญจกิติ ชี้ หญ้าแห้งเป็นปกติของสวนป่า

กทม. แจงดราม่าหญ้าสวนเบญฯ ชี้หญ้าแห้งเป็นปกติของสวนป่า ส่วนน้ำเน่าเหม็น เป็นน้ำจากคลองไผ่สิงโต ที่นำมาธรรมชาติบำบัด

วันนี้ (10 ม.ค.66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงประเด็นที่โซเชียลมิเดียวิจารณ์หญ้าที่ปลูกอยู่ในสวนเบญจกิติแห้งและน้ำมีกลิ่นเหม็น ว่า สวนป่าเบญจกิติ เป็นสวนที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติ ไม่ใช่สนามหญ้าทั่วไป มีสภาพจริงในรูปแบบป่ามากที่สุด เพราะฉะนั้นเนินที่มีหญ้าแห้งเหี่ยวหรือตาย ทางผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเป็นเรื่องปกติ ส่วนเรื่องน้ำได้สูบมาจากคลองไผ่สิงโต ซึ่งคุณภาพน้ำยังมีปัญหา จึงได้สั่งการให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องดูแลเรื่องคุณภาพน้ำที่นำมาใช้ให้ดีมากยิ่งขึ้น

นางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม และ นางสาวปาจริยา มหากาญจนะ ผู้อำนวยการส่วนสวนสาธารณะ 1 สำนักสิ่งแวดล้อม ชี้แจงว่า สวนเบญจกิติมีพื้นที่กว่า 450 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สวนน้ำ 130 ไร่ สวนป่า 320 ไร่ สวนป่าจะแบ่งระยะที่ 1 มีจำนวน 11 ไร่ และระยะที่ 2 และ 3 คือจุดที่มีปัญหา มีพื้นที่ 259 ไร่ มีบ่อน้ำอยู่จำนวน 4 บ่อ โดยทั้ง 4 บ่อ จัดทำขึ้นเพื่อรองรับน้ำในหน้าฝน และนำมาใช้ในหน้าแล้ง ทางผู้ออกแบบสวนได้ออกแบบขึ้น ภายใต้แนวคิดสวนป่าในระบบนิเวศเมือง เพื่อให้สวนดูแลตนเอง โดยที่มนุษย์ไม่ต้องไปข้องเกี่ยว

เนื่องจากเป็นฤดูแล้ง ประกอบกับฝนทิ้งช่วง จึงเหลือน้ำอยู่แค่ในบ่อ ส่วนหญ้าที่เห็นว่าเป็นสีเหลืองหรือแห้งนั้นเป็นหญ้ารูซี่ ที่ใช้เลี้ยงสัตว์เคี้ยวเอื้อง ซึ่งหญ้าชนิดนี้ไม่จำเป็นต้องตัดแต่งแบบหญ้านวลน้อยที่ปลูกอยู่ตามบ้านเรือน จึงทำให้ภาพที่เห็นเป็นภาพที่หญ้าแห้งแล้ง ขณะเดียวกันจุดที่ดูดซับน้ำเข้าดินได้ดีก็จะยังคงสภาพสวนสีเขียว จึงถือเป็นสภาพสวนปกติอย่างที่ควรจะเป็น

ส่วนการดูแลป่านิเวศลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวให้ยุ่งยาก เจ้าหน้าที่จะดูแลแค่เรื่องขยะ สวนเบญจกิตินั้นไม่ได้มีเฉพาะบริเวณที่เป็นสวนป่าอย่างเดียวแต่มีพื้นที่ใช้งานแบบสวนสาธารณะ ซึ่งดูแลอย่างดี เพื่อรองรับประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ สำหรับกรณีน้ำในบริเวณดังกล่าวที่มีกลิ่นเหม็น ได้นำน้ำเหล่านี้มาจากคลองไผ่สิงโต และนำมาบำบัดในระบบธรรมชาติโดยการใช้พืชน้ำบำบัด และส่งน้ำไปตามแต่ละบ่อจึงอาจทำให้น้ำภายในสวนมีกลิ่นบ้าง แต่ก็จัดเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบ หากพบว่าจุดใดมีความเข้มข้นมาก จะนำน้ำจากบ่อมาเติมเพื่อให้ความเจ้มข้นจางลง

Related Posts

Send this to a friend