AROUND THAILAND

โฆษก ทร. แจง กรณีโซเชียลระบุ “แผ่นเหล็กซ่อมบำรุง ร.ล.สุโขทัย” ไม่ผ่านมาตรฐาน

วันนี้ (5 ม.ค. 66) พลเรือเอก ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยกรณีสื่อสังคมออนไลน์ วิพากษ์วิจารณ์การซ่อมบำรุงเรือหลวงสุโขทัย โดยระบุว่า แผ่นเหล็กที่ใช้ซ่อมบำรุงเรือ ในปี 2561 เคยมีปัญหา ไม่ผ่านมาตรฐานกองควบคุมคุณภาพการต่อเรือ เพราะพบว่าแผ่นเหล็กตัวเรือใต้แนวน้ำบางกว่าที่กำหนด

โฆษกกองทัพเรือ ระบุว่า จากการตรวจสอบพบว่าเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน จากการตรวจสอบกับกรมอู่ทหารเรือ ซึ่งเป็นหน่วยที่มีหน้าที่ในการซ่อมและสร้างเรือให้กับกองทัพเรือ โดย พลเรือโท สุทธิศักดิ์ บุตรนาค เจ้ากรมอู่ทหารเรือ ได้ให้ข้อมูลว่า ข้อมูลที่มีการนำเสนอและวิพากษ์วิจารณ์นั้น เป็นข้อมูลการวัดความหนาแผ่นเหล็กตัวเรือของเรือหลวงสุโขทัย ในช่วงของการซ่อมทำเรือหลวงสุโขทัย ตามวงรอบที่อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ ระหว่างวันที่ 12 ก.ค. – 3 ก.ย. 61

โดยกองควบคุมคุณภาพ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ ได้ทำการวัดความหนา เมื่อวันที่ 23 – 24 ก.ค. 61 เพื่อให้ทราบสภาพแผ่นเหล็กตัวเรือทั้งหมดตลอดลำ โดยมีแผ่นเหล็กบางจุดมีความหนาน้อยลงจากเดิมเกิน 25% จำนวน 13 จุด ซึ่งเป็นข้อมูลจริงตามที่มีการนำเสนอในสื่อสังคมออนไลน์ แต่ยังไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด เนื่องจากขาดข้อมูลการซ่อมทำของอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช

ทั้งนี้ เจ้ากรมอู่ทหารเรือ แจ้งว่า กระบวนการซ่อมทำของเรือหลวงสุโขทัยของอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดชนั้น มีขั้นตอนตั้งแต่การนำเรือเข้าอู่แห้ง ฉีดน้ำทำความสะอาดสิ่งสกปรกและพ่นทรายเพื่อลอกเพรียงและสีของตัวเรือใต้แนวน้ำ จากนั้นจะทำการสำรวจอุปกรณ์ใต้น้ำต่างๆเช่น โดมโซนาร์ ตรวจสอบวัดระยะ เบียดของแบริ่งรองรับเพลา ตรวจสอบระบบใบจักร ตรวจวัดความหนาของแผ่นเหล็กตัวเรือใต้แนวน้ำและเหนือแนวน้ำ

ซึ่งหากพบว่าความหนาลดลงกว่า 25% ของความหนาแผ่นเหล็กเดิม ซึ่งเกิดจากการผุกร่อนตามระยะเวลา ก็จะทำการตัดเปลี่ยนแผ่นเหล็กตัวเรือที่มีการชำรุด โดยการตัดเปลี่ยนบรรจุแผ่นเหล็กใหม่ด้วยแผ่นเหล็กทนแรงดึงคุณภาพสูง High Tensile ซึ่งเมื่อทำการตัดเปลี่ยนแผ่นเหล็กเสร็จแล้ว จึงจะเข้าสู่กระบวนการของการทำสีตัวเรือใต้แนวน้ำตามมาตรฐาน เพื่อป้องกันการผุกร่อนของตัวเรือ ป้องกันเพรียง นอกจากนั้น จะมีงานที่ไม่สามารถซ่อมทำขณะเรือลอยอยู่ในน้ำได้เช่น การตรวจสอบและซ่อมทำลิ้นน้ำที่อยู่ใต้แนวน้ำทั้งหมด รวมถึงการติดสังกะสีกันกร่อน

เมื่อการซ่อมทำตัวเรือใต้แนวน้ำเสร็จเรียบร้อย จึงจะนำเรือออกจากอู่แห้งและทำการสูบน้ำเข้าอู่แห้งให้เรือลอยพ้นหมอนรองรับเรือ เพื่อตรวจสอบการรั่วของตัวเรือ และงานใต้แนวน้ำที่ซ่อมทำโดยหากพบการรั่วของน้ำเข้าตัวเรือจะทำการแก้ไขและหากแก้ไขไม่ได้จำเป็นต้องนำเรือนั่งหมอนในอู่แห้งใหม่

ทั้งนี้ ภายหลังการซ่อมทำแล้วได้มีการตรวจสอบแนวเชื่อมด้วย Visual Check และ Vacuum Test ตามมาตรฐานคุณภาพ ของกรมอู่ทหารเรือก่อนการทดลองเรือในทะเลจริงเพื่อส่งมอบให้กับกองเรือยุทธการ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 โดยที่ผ่านมา เรือหลวงสุโขทัย ได้มีการออกปฏิบัติราชการหลายครั้ง และสามารถปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า กรมอู่ทหารเรือเป็นหน่วยงานที่มีมาตรฐานและความเชี่ยวชาญการซ่อมและสร้างเรือของกองทัพเรือ โดยกรมอู่ทหารเรือที่มีมาอย่างยาวนาน ผ่านผลงานการซ่อมเรือและสร้างเรือมามากมาย

Related Posts

Send this to a friend