PEOPLE

เปิดมุมมองความคิด “ไผ่ ดาวดิน” ในฐานะนักเคลื่อนไหวเพื่อ ‘สิทธิมนุษยชน’

ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หนึ่งในแกนนำกลุ่มราษฎร ที่หลายๆ คนอาจมีภาพจำของเขาในฐานะนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว หรือแกนนำม็อบ แต่คนที่รู้จักไผ่ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ตัวตนที่แท้จริงของไผ่คือ นักสู้ ที่ไม่ได้สู้เพียงเพื่อเป้าหมายด้านการเมือง แต่เขายังสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ด้วยความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม จนเข้าศึกษาต่อปริญญาโทที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

The Reporters มีโอกาสได้พูดคุยกับ “ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา” ถึงจุดเริ่มต้นบนเส้นทางนักสู้ของเขา ในบทบาทของ “ไผ่ ดาวดิน” นักสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน

ก่อนหน้าที่จะมาอยู่บนเวทีชุมนุมทางการเมือง “ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา” เคยเป็นเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งในภาคอีสานที่ไม่ได้มีความสนใจในเรื่องการเมืองเลย เป็นเพียงเด็กที่ชอบเล่นดนตรีพื้นบ้าน เล่นพิณ เป่าแคน ตีโปงลาง และชอบเล่นกีฬา คือ ฟุตบอล ตะกร้อ และสนุกเกอร์ เหมือนเด็กคนอื่นๆ ในวัยเดียวกัน คุณพ่อและคุณแม่ของไผ่เป็นทนายความ โดยคุณพ่อนั้นเป็นทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ไผ่เล่าว่า พ่อได้พูดถึงเรื่องความยุติธรรมให้ฟังตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยความเป็นเด็กจึงไม่อิน ไม่รู้เรื่อง ไผ่เลยไม่ได้สนใจเรื่องสิทธิ แต่สนใจแค่ว่า ทำไมคนอื่นมีเงินแล้วเราไม่มี เป็นเหตุผลที่ทำให้ไผ่เลือกเรียนต่อในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ด้วยความฝันที่อยากจะเป็นผู้พิพากษา

“เห็นพ่อเป็นทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแล้วยากจน เลยอยากเป็นผู้พิพากษาที่มีเงินเดือนเป็นแสน แค่นั้นเอง”

และเมื่อได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัย แต่ภาพกลับไม่เป็นดังที่คาดหวังไว้ นั่นจึงเป็นจุดเปลี่ยนแรก ที่ทำให้ไผ่เริ่มลุกขึ้นมาต่อต้านเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง

ขอบคุณภาพ เฟสบุ้ค ไผ่ จตุภัทร

“ชีวิตวัยมหาวิทยาลัยเป็นความฝัน เพราะจะได้มีอิสระ ได้ท่องโลกกว้าง แต่พอเข้ามาแล้วต้องมาเจอกับระบบโซตัส ทำให้ภาพที่คิดไว้มันเปลี่ยนไป ผมไม่ชอบระบบนี้ รุ่นพี่มีสิทธิ์อะไรมาด่าผม บังคับให้ตะโกนร้องเพลง แล้วยังมาด่าอีก ผมเลยต่อต้านด้วยตนเอง แต่ตอนนั้นยังไม่เข้าใจในกระบวนการ ด้วยความเป็นวัยรุ่น ก็เลยไปท้าตีรุ่นพี่สตาฟ”

จนเมื่อไผ่ได้มีโอกาสจับผลัดจับผลูเข้าร่วมกับกลุ่มดาวดิน หรือกลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคมของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้เดินทางไปเพื่อช่วยปกป้องสิทธิของชาวบ้านที่จังหวัดอุดรธานี ไผ่บอกว่า ตอนนั้นก็ยังไม่ได้เข้าใจอะไร คิดแค่ว่าโบกรถไปอุดรกัน ไปถึงก็เห็นชาวบ้านนั่งประชุม ก็ไม่ได้สนใจ ตกกลางคืนไปนั่งสังสรรค์กับเพื่อนๆ ตื่นเช้ามาทุกคนพากันตั้งขบวนรถสองแถว ไปยังสถานที่ที่จัดตั้งเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการขุดปิโตรเลียม

“ภาพแรกที่เห็นคือ ชาวบ้านนอนหัวโนเพราะโดนตำรวจตี มีแม่ผู้หญิงที่ออกมาปกป้องทรัพยาการ คัดค้านการขุดปิโตรเลียม คัดค้านเวทีที่ไม่รับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริง ชาวบ้านจะล้มเวทีนี้ ผมรู้แค่บทบาทของวันนั้นคือคล้องแขนกันล้มเวที และก็ทำสำเร็จ สิ่งที่เห็นคือเห็นคนกลุ่มหนึ่งที่กำลังต่อสู้เพื่อคนอื่น เพื่อทรัพยากร เพื่อลูกหลาน กับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เวลามองทรัพยากร มองพื้นดิน คือมองว่ามีผลประโยชน์เท่าไหร่ ต่างจากเวลาชาวบ้านมอง เขามองว่าลูกหลานเราจะกินยังไง ลูกหลานเราจะเหลืออะไร ทรัพยากรเราจะมีอะไรบ้าง ซึ่งเขาไม่ควรที่จะมาโดนตี เราช็อกกับเหตุการณ์นี้ เลยเริ่มตั้งคำถามกับความยุติธรรมว่ามันคืออะไร”

ไผ่เล่าให้เราฟังด้วยแววตาภาคภูมิใจว่า เหตุการณ์นี้ทำให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่ามากขึ้น จากเดินที่เป็นแค่คนคนหนึ่งที่ไม่ได้สนใจเรื่องสังคม ตกเย็นไปสังสรรค์ ตื่นเช้ามาไปเรียน ไปเที่ยวกับเพื่อน จนมาเห็นโลกอีกด้านหนึ่ง ชีวิตเราก็เปลี่ยนไป ตอนที่ไปยืนคล้องแขน ชาวบ้านก็เอาข้าวมาป้อน แล้วบอกขอบคุณ ทำให้ไผ่รู้สึกว่า จากที่เคยมีแม่คนเดียว พ่อคนเดียว ตอนนี้เราเริ่มมีแม่หลายๆ คน มันรู้สึกดี รู้สึกว่าเราได้มีประโยชน์อะไรต่อโลกใบนี้

“เราได้เห็นถึงความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นต่อหน้า และก็ยังได้เห็นถึงความรักระหว่างเพื่อนมนุษย์ทั้งที่ไม่รู้จักกัน”




นี่คือจุดเริ่มต้น ที่ทำให้ไผ่เริ่มเห็นความสำคัญของเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” แต่จุดเปลี่ยนที่แท้จริง คือตอนที่ตัวไผ่เองถูกเปลี่ยนบทบาทจากผู้ช่วยเหลือไปเป็นผู้ถูกกดขี่ร่วม ในการคัดค้านการขุดเสาไฟฟ้าเพื่อจ่ายไฟให้โรงงานอุตสาหกรรมบนพื้นที่สวนยางของชาวบ้าน ไผ่เล่าว่า เจ้าหน้าที่นำรถขุดดินมาเตรียมจะขุด แล้วชาวบ้านก็วิ่งเอาตัวเองไปนอนขวางไว้ เจ้าหน้าที่ก็ใจแข็ง พยายามจะขุดลงมาเพื่อให้ชาวบ้านลุกหนี และเจ้าหน้าที่ตำรวจยังแสดงกิริยาที่ไม่ดีต่อชาวบ้านในระหว่างการสลายชุมนุมในครั้งนั้น ไผ่จึงตะโกนต่อว่าเจ้าหน้าที่ จนถูกควบคุมตัวขึ้นรถไปในที่สุด

“เป็นครั้งแรกที่ร้องไห้ ทั้งโกรธ ทั้งเสียใจ รู้สึกเข้าใจชาวบ้านมากขึ้น เข้าใจคนที่ต่อสู้มากขึ้น จากที่เราเป็นผู้ช่วยเหลือชาวบ้านมาตลอดจนวันหนึ่งเราโดนจับร่วมกับชาวบ้าน ก็รู้สึกว่า เฮ้ย! ทำไมถึงแย่ขนาดนี้ เราร้องไห้เสียใจและตั้งเป้ากับตัวเองว่า ผมจะไม่ยอมให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นอีกและลมหายใจนี้จะต้องทำเพื่อประชาชน”

หลังจากนั้น ไผ่ จตุภัทร์ ก็อยู่บนเส้นทางแห่งการต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนมาตลอด โดยเข้าไปช่วยเหลือในทุกเรื่องที่ไม่มีความเป็นธรรม ทั้งเรื่องของชาวบ้าน เรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงเรื่องการศึกษา โดยไผ่กล่าวว่า ทุกๆ เรื่อง ล้วนเกิดจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ไม่โปร่งใส ไม่ได้ให้ข้อมูลชาวบ้านอย่างแท้จริง และสุดท้ายก็เกิดการสร้างขึ้น ยิ่งได้ทำ ได้ไปเห็น ก็ยิ่งได้เรียนรู้ ดังนั้น สิ่งที่ไผ่พูดทั้งหมดในการต่อสู้ คือพูดจากสิ่งที่เห็นมาแล้ว เห็นภูเขาหายไปครึ่งลูก เห็นการระเบิดเหมือง เห็นผลกระทบจากการทำสิ่งเหล่านี้

“เราเติบโตมากับการที่ใช้น้ำกินในการแปรงฟัน แต่บางคนแค่จะมีอากาศบริสุทธิ์หายใจ แค่น้ำบริสุทธิ์ในการใช้ชีวิตประจำวันเขายังไม่มีเลย ในขณะที่เรามี เราก็ต้องลงไปทำ ไปช่วย ไปสู้ ใช้เวลาในการศึกษาหาความรู้ ดูหนัง อ่านหนังสือ ศึกษากระบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ สิ่งที่ทำเสมอคือเข้าไปช่วยเหลือผู้ถูกกดขี่จากโครงสร้างอำนาจรัฐและกฎหมายที่อยู่ฝั่งนายทุน เราเลือกข้างเพื่อที่จะอยู่ข้างชาวบ้านเพื่อหันหน้าสู้กับรัฐและทุน”

The Reporters ถามไผ่ว่า สิ่งที่ไผ่ต่อสู้เพื่อชาวบ้านมาตลอด เคยมีครั้งไหนมั้ยที่ได้รับชัยชนะ ไผ่ตอบว่า

ไม่มี


“เราอยู่กับความพ่ายแพ้มาตลอด ชัยชนะของชาวบ้านจะสำเร็จได้ต่อเมื่อเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง ในเมื่อโครงสร้างทางการเมืองยังอยุติธรรมอยู่แบบนี้ โครงการต่างๆ มา ถ้าชาวบ้านเข้มแข็ง โครงการก็จะขยับไปหรือย้ายที่ไป แต่ถ้าชาวบ้านอ่อนแอมันก็จะกลับมาอีก แต่มันไม่ได้หายไป มันไม่ได้ทำให้ชาวบ้านสนิทใจได้เลย


ชัยชนะสำหรับเราคือบางเวทีรับฟังความคิดเห็นที่เราล้มสำเร็จมันคือเราชนะ การที่ชาวบ้านยังยืนหยัดคัดค้านได้อยู่นั่นคือเราชนะ บางพื้นที่ 16 ปีแล้วก็ยังคัดค้านอยู่ยังสู้อยู่การต่อสู้มันยาวนานมาก แล้วเราเจอแต่ความพ่ายแพ้มาโดยตลอด เราแพ้จนชิน อยู่กับชาวบ้านมาหลายปีวนอยู่แบบนี้ ผมไม่เคยชนะเลย เราทำได้แค่ยันกับเขา ทำได้แค่นี้”

และสิ่งที่ทำให้ไผ่ก้าวขึ้นมาสู่เวทีทางการเมืองเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เพราะไผ่มองว่า ปัญหาเรื่องทรัพยากรกับปัญหาเรื่องโครงสร้างทางการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะโครงสร้างทางการเมืองของไทยเป็นระบบอำนาจนิยม ใช้กฎหมายที่ไม่ยุติธรรม มีการเลือกข้างทางกฎหมาย


“ทำไมชาวบ้านต้องมาม็อบที่กรุงเทพฯ เพราะชาวบ้านเรียนรู้จากม็อบที่บ้านตัวเอง ม็อบที่ศาลากลาง ว่ามันไม่เกิดประโยชน์ ทำไมเขาถึงต้องมาบุกที่ทำเนียบ มาที่กรุงเทพฯ สิ่งเหล่านี้คือการเรียนรู้ของชาวบ้าน รวมถึงตัวเราด้วยว่าเรากำลังสู้กับอะไร เรากำลังสู้กับแนวคิดของทุนนิยมที่ผูกขาด แนวคิดของรัฐเผด็จการและอำนาจนิยม”

ไผ่พูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนว่า ปัญหาของเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน คือการที่คนไม่เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชน คือเราจะเข้าใจต่อเมื่อเราสูญเสียมันไป จะไม่เข้าใจเลยว่าการที่ไม่มีสิทธิตรงนั้นมันแย่แค่ไหน เพราะเรามีอยู่แล้ว ถ้าวันหนึ่งเปิดประตูบ้านมาแล้วไม่มีอากาศบริสุทธิ์ ไม่มีน้ำสะอาดใช้ ก็จะเห็นความสำคัญของทรัพยากรมาก สิทธิมนุษยชน คือเรื่องของความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ ความเป็นสากล คือความเป็นมนุษย์คือศักดิ์ศรี ไม่ใช่แค่กฎหมายบอกว่าผิดก็แปลว่าผิด เรื่องสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นเหมือนความฝัน เหมือนเรื่องเพ้อเจ้อ แต่คนที่จะต้องทำให้มันเกิดขึ้นได้ก็คือรัฐ

“ถ้ามีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นกับคนคนหนึ่ง มันสามารถเกิดขึ้นกับคนอื่นๆ ได้ด้วย เราไม่ต้องรอให้การละเมิดสิทธิมันเกิดขึ้นกับเรา แต่ในเมื่อมันเกิดขึ้นกับมนุษย์คนอื่นๆ บนโลกใบนี้ วันหนึ่งมันก็เกิดขึ้นกับเราได้ หลายคนถามว่าไม่ใช่บ้านตัวเอง ทำไมต้องไปคัดค้านที่อื่น คือถ้าความอยุติธรรมนี้มันเกิดขึ้นที่อื่นได้ วันหนึ่งมันก็เกิดขึ้นที่บ้านผมได้ ในเมื่อความอยุติธรรมมันเกิดขึ้นมาแล้วถึงแม้จะไม่ได้เกิดกับเรา เราก็ต้องไปช่วยเหลือ เราก็ต้องไปทำ”

ไผ่กล่าวอีกว่า แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศยังมีความขัดแย้งกันอยู่ ประชาชนต้องใช้สิทธิภายใต้กฎหมายที่กำหนด สิทธิถูกตีความตามกฎหมาย แต่เรื่องสิทธิมนุษยชนนั้นไม่ใช่เรื่องของกฎหมาย โดยไผ่ได้ตั้งคำถามกับเราว่า ‘มนุษย์กับกฎหมายอะไรเกิดก่อนกัน?’

“มนุษย์ไม่ได้เกิดมาพร้อมกฎหมาย แต่ความเป็นมนุษย์มาก่อนความเป็นกฎหมาย ดังนั้น กฎหมายจึงควรรับรองสิทธิ และให้สิทธิ ไม่ใช่ไปจำกัดสิทธิ นี่คือสิทธิตามธรรมชาติ คือคุณเป็นมนุษย์ตามธรรมชาติ กฎหมายก็ต้องรับรองคุณแล้ว และสิทธิขั้นพื้นฐานก็จะตามมา ถ้าเรามองหลักการที่ว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมามีสิทธิ ก็ไม่จำเป็นต้องไปดูตามกฎหมาย อยากให้มองความเป็นมนุษย์เป็นหลัก”

ในวันนี้ “ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา” ในฐานะแกนนำกลุ่มราษฎร ยังคงยืนยันที่จะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง ภายใต้แนวทางสันติวิธี โดยไผ่อยากให้ทุกฝ่ายที่คิดต่างกัน เปิดใจรับฟังว่ามีคนอีกกลุ่มที่คิดแบบนี้อยู่ โดยไผ่ยอมรับว่า ตนเองก็เคยร่วมชุมนุมกับทั้งกลุ่มพันธมิตร และกปปส. เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับพรบ.นิรโทษกรรมสุดซอย เพราะอยากเห็นบ้านเมืองดีขึ้น ไผ่จึงมีความเข้าใจว่า ทุกคนต่างอยากเห็นบ้านเมืองดี แต่สิ่งที่เรารับรู้มา ทำให้เรามองปัญหาของสังคมต่างกัน วิธีการก็จะไปคนละทางกัน

“เราเคยเห็นแก่ตัว เคยอารมณ์ร้อนไม่เคยฟังใคร เคยเชื่อมั่นในความคิดตัวเอง แต่เราเปิดใจรับฟังคนอื่นและตั้งคำถามกับความคิดความเชื่อตัวเอง และหาข้อมูลทำให้เราได้เข้าใจ ถ้าเราอยากเปลี่ยนแปลงสังคม สิ่งแรกที่เราต้องเปลี่ยนคือเปลี่ยนแปลงตัวเอง“

ส่วนคำถามที่ว่า การต่อสู้ด้วยแนวทางสันติวิธีของกลุ่มราษฎร สุดท้ายแล้วจะสามารถทำได้สำเร็จหรือไม่ ไผ่ตอบสั้นๆ ว่า

“เราต้องหวัง ต้องเชื่อ และเราเชื่อแบบนี้มาโดยตลอดและเราก็ยังทำอยู่”

Related Posts

Send this to a friend