‘ชัชชาติ’ ตอบรับ กมธ.คมนาคม เชิญหารือพัฒนาระบบขนส่งมวลชน

‘ชัชชาติ’ ตอบรับ กมธ.คมนาคม เชิญหารือพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ‘โสภณ’ มองเป็นความหวังการเปลี่ยนแปลง ‘คารม’ ยกปมประชากรแฝง ถามคน ตจว. มีสิทธิแสดงความเห็นหรือไม่
วันนี้ (30 มิ.ย. 65) ที่อาคารรัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อหารือวาระพิจารณาเรื่อง แนวนโยบายในการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) เข้าร่วมตามคำเชิญ
นายโสภณ ซารัมย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดบุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงคมนาคม ในฐานะประธาน กมธ. กล่าวว่า เราเห็นการทำงานของผู้ว่า ก็เป็นความหวังของสังคมที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงของการบริหารทั้งระดับท้องถิ่นและประเทศ ทางฝ่ายผมที่เป็นนิติบัญญัติก็อยากสนับสนุนการทำงานของท้องถิ่นด้วย
นายชัชชาติ กล่าวในที่ประชุมว่า เป็นโอกาสที่ดีที่ได้เข้ามาหารือกับคณะกรรมาธิการฯ เพราะเรื่องคมนาคมก็เป็นนโยบายของเรา ในกทม. เองก็มีหลายหน่วยงานที่ดูแลคมนาคมถึง 37 หน่วยงาน การขนส่งทางบกเป็นเรื่องสำคัญ กทม. ก็ดูแลแค่เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เป็นสายหลักด้วย
นายชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า นโยบายแรกต้องเป็นผู้ประสานงานที่เข้มแข็ง เช่น การจราจรทางถนน ก็จะมีการหารือกับทางตำรวจ มีการทำระบบการบริหารจัดการจราจรด้วยระบบอัจฉริยะ (ITMS) ใช้เทคโนโลยีเข้ามาดูแล และต้องตั้งคณะทำงานร่วมกัน ทาง กทม. พร้อมตั้งงบฯ สนับสนุน ส่วนหนึ่งมีกล้องจับข้อมูลการเคลื่อนรถ และใบสั่งค่าปรับ ถือเป็นประโยชน์ของคนกรุงเทพฯ ที่สำคัญ
นายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องระบบขนส่งมวลชน ขสมก. ไม่ได้อยู่ในความดูแลของ กทม. ซึ่งจะมีการเดินรถเมล์ในบางจุดเสริมกับ ขสมก. แต่ใบอนุญาตอยู่ที่ขนส่งทางบก ดังนั้นการขออนุญาตเดินรถบางเส้นทางได้ เพื่อช่วยเสริมให้ประชาชนได้ประโยชน์ โดยจะเลือกบางเส้นทางที่ใกล้กับรถไฟฟ้า และอาจจะรวมเป็นบัตรเดียวกัน
นายชัชชาติ กล่าวถึงปัญหาที่ต้องหารือ คือ สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่มีการเซ็นสัญญาล่วงหน้าตั้งแต่ปี 2572-2585 มันต้องดูเงื่อนไขว่า เราทำอะไรตามที่ควรจะเป็นไม่ได้ เรากำลังดำเนินการอยู่ เรามีภาระเรื่องหนี้ที่รัฐบาลลงทุนไปแล้ว และโอนมาที่กทม. แล้วยังไม่ได้จ่าย ต้องดูว่าจะแบ่งจ่ายอย่างไร
นายชัชชาติ ชี้แจงหน้าที่ของ กทม. ว่าคือการดูแลเส้นเลือดฝอยมันคือนโยบายของเรา ที่จะเน้นย้ำการเดิน ช่วยให้ช่วงการเดินมันมากขึ้น การเดินดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็ก แต่มันคือการคมนาคมที่สำคัญ มันคือการสร้างธุรกิจรายทาง และสร้างกทม. ให้เป็นเมืองเดินได้ และไม่ได้ใช้เงินเยอะ
“ในเรื่องขนส่งมวลชน รถไฟฟ้าคือเรื่องใหญ่ นโยบายหลักของรัฐบาลเป็นเรื่องสำคัญ ต้องดูว่าสภาฯ และ กมธ. มองอย่างไรต่อไปด้วย กทม. ก็เป็นท้องถิ่นส่วนหนึ่งที่เข้ามาดูแล ต้องมองตั้งแต่รถไฟฟ้า รถเมล์ วินมอไซค์ ทางเดินเท้า ไล่เรียงลงมาถึงเส้นเลือดฝอย” นายชัชชาติ กล่าว
ขณะที่ นายคารม พลพรกลาง ส.ส. พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ยังไม่เห็นผู้ว่าฯ กทม. ให้ความเห็นเรื่องการคมนาคมทางน้ำ โดยปัญหาที่เน้นย้ำคือ ประตูระบายน้ำที่เชื่อมต่อกัน ดังนั้นการขนส่งทางน้ำ จึงเป็นเรื่องที่ช่วยได้
“ผมเป็น ส.ส. ที่มาจากต่างจังหวัดในแถบภาคอีสาน จึงอยากเรียนถามท่านผู้ว่าฯ ว่าจะคิดอย่างไร หากผมจะแสดงความเห็นเรื่องดังกล่าว” นายคารม กล่าว
นายชัชชาติ ตอบว่า การดูแลคมนาคมทางน้ำนั้น เราอาจจะเดินเรือเพิ่มบางเส้นทาง โดยเฉพาะคลองลาดพร้าว แต่ปัญหาคือ สมัยก่อนน้ำมันอยู่หน้าบ้าน และมันไม่เป็นจุดเชื่อมต่อ เพราะแต่ละบ้านก็มีท่าน้ำ เมื่อลงทุนทางเรือจึงไม่คุ้มทุน แต่คลองลาดพร้าวมีจุดเชื่อมต่อ ประเด็นคือต้องมีเขื่อนที่ดี เพราะไม่เช่นนั้นตลิ่งจะพัง ส่วนฝั่งธนบุรี คงต้องดูที่คลองภาษีเจริญ และประตูระบายน้ำต้องมีการดูเรื่องปรับเวลาประตู เพื่อไม่ให้เสียเวลากว่าครึ่งชั่วโมง
ส่วนเรื่องคนต่างจังหวัดนั้น นายชัชชาติ กล่าวว่า หลายครั้งที่มีการพูดของคนมาเยือนก็ดี เพราะคน กทม. อยู่กับปัญหาจนชิน ผู้มาเยือนให้ความเห็นเป็นมุมมองอีกมุมมองหนึ่ง เรายินดีรับฟังความเห็นของทุกจังหวัด
นายคารม ยังถามทิ้งท้ายถึงการดูแลจัดการประชากรแฝงใน กทม. นายชัชชาติ กล่าวว่า เราต้องดูแลประชาชนเท่ากันทุกคน โดยตอนนี้ได้มีการหาเด็กรุ่นใหม่ๆ จัดตั้งอาสาสมัครเทคโนโลยี เพื่อสำรวจว่ามีคนต่างจังหวัดกี่คน โดยให้เด็กรุ่นใหม่รายงานเข้ามา และต้องมีแรงจูงใจให้แก่คนต่างจังหวัดย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาใน กทม. มากขึ้น
เรื่อง : ณัฐนนท์ เจริญชัย
ภาพ : ศุภสัณห์ กันณรงค์