POLITICS

2 กฎหมายลูก พรรค-เลือกตั้ง ชะงัก รัฐสภาเร่งตรวจคำร้องสมาชิก ก่อนส่งศาล รธน.วินิจฉัย

2 กฎหมายลูก พรรค-เลือกตั้ง ชะงัก รัฐสภาเร่งตรวจคำร้องสมาชิก ก่อนส่งศาล รธน.วินิจฉัยเร็วๆ นี้

วันนี้ (29 ส.ค. 65) นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะทำงานประธานรัฐสภา กล่าวถึงความคืบหน้าของกระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ทั้ง 2 ฉบับ ประกอบด้วย ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง ที่ทั้ง 2 ฉบับ ได้ผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว และเตรียมส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่มีผู้ยื่นคำร้องให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

โดยร่าง พ.ร.ป. พรรคการเมือง นั้น รัฐสภาได้ส่งไปทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และทาง กกต. ส่งกลับมาโดยไม่มีข้อทักท้วง ซึ่งหน้าที่ประธานรัฐสภา ต้องชะลอร่างดังกล่าวไว้ 3 วัน ตามข้อบังคับ ซึ่งในระหว่าง 3 วันนั้น ได้มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นำโดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม รวมรายชื่อร้องให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา จึงได้มีการตรวจสอบความถูกต้อง ซึ่งได้ตรวจสอบลายเซ็นถูกต้องหมดแล้ว จึงคาดได้ว่าประธานฯ จะลงนามเพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ในวันนี้

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายกฏหมายจำนวนหนึ่งของสภามองว่า การเข้าชื่อ ‘สมาชิกรัฐสภา’ ตามข้อบังคับ ควรมีทั้งรายชื่อ ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ มีเพียงลายเซ็นของ ส.ว. อาจไม่ครบองค์ประกอบของคำว่า ‘สมาชิกรัฐสภา’ หรือไม่ วันนี้จึงจะมีการประชุมคณะทำงานกฏหมายเพื่อหารือประเด็นนี้ ว่าชอบด้วยข้อบังคับแล้วหรือไม่ ถ้าเห็นว่าชอบด้วยข้อบังคับ ก็จะทำหนังสือแจ้งไปยัง ครม. ว่าต้องยืดเวลาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แต่ถ้าไม่ชอบด้วยข้อบังคับ ก็จะส่งร่างกฎหมายไปยัง ครม. ต่อไป

สำหรับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. นั้น เนื่องจากมี นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ และคณะ รวมรายชื่อเสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตรวจสอบแล้วไม่มีปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย เนื่องจากมีทั้งรายชื่อของ ส.ส. และ ส.ว. แต่อยู่ระหว่างสำนักเลขาธิการวุฒิสภาตรวจสอบลายเซ็น ส.ว. ก่อนเตรียมดำเนินการส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และจะทำหนังสือแจ้งขยายเวลาไปยัง ครม. เช่นกัน

นายอิสระ ยังเผยว่า ในขั้นตอนที่นายกฯ ชะลอร่างกฎหมายไว้ 5 วัน แล้วมีผู้ต้องการยื่นคำร้องขอตีความอีก รายชื่อในคำร้องจะมีเพียง ส.ส. หรือ ส.ว. ก็ได้ เนื่องจากเป็นคนละข้อบังคับกับรัฐสภา แต่การร้องหลังจากที่ต้องร้องกับ ครม. โดยตรง ไม่ใช่ที่รัฐสภาแล้ว

เรื่อง : ณัฐนนท์ เจริญชัย
ภาพ : ธนาภรณ์ วุฒิสนธิ์

Related Posts

Send this to a friend