POLITICS

‘จาตุรนต์’ ยัน “เป็นไปไม่ได้” ร่วมรัฐบาล พปชร.-รทสช.

‘จาตุรนต์’ ยืนยัน “เป็นไปไม่ได้” ที่จะร่วมรัฐบาล พปชร.-รทสช. เหตุเป็นพรรคสืบทอดอำนาจ บอก 8 พรรคจับแน่นเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรม มองหากรีบตั้ง แต่ต้องสลายขั้ว ผิดสัจจะ ส่อเกิดวิกฤติศรัทธา แก้ปัญหาประเทศไม่ได้ เชื่อไม่เดินไปถึงพรรคอันดับ 3 จัดตั้งรัฐบาล

วันนี้ (26 ก.ค. 66) นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว The Reporters หลังนายจาตุรนต์ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวเกี่ยวกับจุดยืนของพรรคเพื่อไทย ต่อพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ ว่าไม่สามารถร่วมรัฐบาลกันได้ เพราะเป็นพรรคที่สืบทอดอำนาจตามกลไกของเผด็จการนั้น

นายจาตุรนต์ ระบุว่า ในความหมายของตนคือการร่วมรัฐบาลกับทั้งสองพรรคนั้น “เป็นไปไม่ได้” แต่การร่วมปรึกษาหารือสามารถทำได้ ซึ่งตนไม่ได้พูดในความเห็นส่วนตัว แต่เป็นจุดยืนและแนวทางของพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งแกนนำของพรรค แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้ประกาศไปอย่างชัดเจนว่า ถ้าหากเลือกตั้งเสร็จ “จะไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ”

นายจาตุรนต์ ยืนยันว่า ในขณะนี้พรรคเพื่อไทยยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงจุดยืน และหลักการที่พรรคเพื่อไทยได้ประกาศว่าจะไม่ร่วมกับสองพรรคนี้ เพราะทั้งสองพรรค เป็นพรรคที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร และตนขอใช้คำว่า “เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจเผด็จการ” เป็นเรื่องที่เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่

“การเลือกตั้งครั้งนี้ สิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องการจะทำ คือการยุติการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ถ้าหากว่าเผด็จการสามารถสืบทอดอำนาจได้ หรือเขาต้องหมดอำนาจไปแล้ว เนื่องจากประชาชนปฏิเสธผ่านการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แล้วยังได้กลับมามีอำนาจอีก จะกลายเป็นปัญหาของประเทศ จึงเป็นเหตุผลสำคัญ” นายจาตุรนต์ ยืนยันจุดยืนของพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง

เมื่อถามว่านายจาตุรนต์ ยังมองว่าพรรคเพื่อไทยรักษาสัจจะที่ให้ไว้กับประชาชนก่อนการเลือกตั้งใช่หรือไม่ นายจาตุรนต์ ระบุว่า ตนพูดตามแนวทางของพรรคที่ได้ประกาศมาและยังไม่ได้เปลี่ยน ส่วนเรื่องการรักษาสัจจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง คือการประกาศเรื่องใหญ่ขนาดนี้ต่อสาธารณะชนในการเลือกตั้ง เท่ากับเป็นสัญญาประชาคม

ประชาชนเลือกเรามาได้ที่นั่งมากเป็นอันดับที่สอง เนื่องจากหลายอย่าง ทั้งเรื่องนโยบาย ความชอบใจผู้สมัคร ความชอบใจในตัวแคนดิเดตฯ และเรื่องการไม่ร่วมกับทั้งสองพรรคก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้นถ้าหากจะมีการเปลี่ยน หรือทำไม่ตรงกับที่พูดไว้ จะเป็นปัญหาเรื่องการไม่รักษาสัจจะ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากทางการเมือง ตนเป็นห่วงว่าจะเป็นผลในระยะใกล้เพราะการเป็นผู้บริหารประเทศแล้วไม่รักษาสัจจะในเรื่องใหญ่ จะเป็นเรื่องเสียหายมาก และทำให้ประชาชนไม่ศรัทธา ทั้งต่อตัวผู้นำ หรือพรรคการเมือง และจะทำให้ประเทศไปต่อได้ยาก

เมื่อถามถึงสมการการเมืองที่นายจตุรนต์ มองเห็นว่าจะเป็นทางออกให้กับประเทศ หลังจากติดล็อคเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรีในขณะนี้ นายจาตุรนต์ มองว่าคือการจับมือกันของ 8 พรรคให้แน่นที่มี 312 เสียง และการหาเพิ่มให้ได้เพื่อให้ได้ 376 เสียง เพราะฉะนั้นต้องดูจากพรรคการเมืองอื่นๆที่นอกจาก 8 พรรคฯ และสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งจะมีเวลาไปจนถึงวันโหวตนายกรอบต่อไป

การหาพรรคการเมืองอื่น ต้องดูว่าแต่ละพรรคนั้นมีเงื่อนไขอย่างไร เป็นพรรคที่ 8 พรรคร่วมฯ รับได้และพรรคนั้นก็ต้องรับเงื่อนไขของ8 พรรคร่วม ที่มีเพื่อไทยเป็นแกนนำได้ หรือมีเงื่อนไขอย่างไร สามารถเจรจาต่อรองกันได้หรือไม่ ต้องมีการพูดคุยกัน แต่ต้องเริ่มจากการหารือใน 8 พรรค

ส่วน สว. ต้องเป็นเรื่องที่ไปพูดคุยหารือกัน เพราะเขาไม่ใช่ระบบพรรคการเมือง ไม่ทราบว่าเขาจะมีมติอย่างไร อาจมีความท้าทายมากกว่า ต้องใช้วิธีพูดคุยรายคนเท่าที่เป็นไปได้ และต้องสื่อสารผ่านสื่อมวลชนไปยัง สว.

“ถ้าจะให้ตั้งรัฐบาลได้ สิ่งสำคัญ คือท่านที่ต้องการให้เกิดรัฐบาลเร็วๆ ต้องช่วยกันพูดจากับ สว. เพื่อให้เห็นว่าการมีรัฐบาลที่สอดคล้องกับเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน จะเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรมและแก้ปัญหาได้ หาก สว.ช่วยไม่ว่าแคนดิเดตฯจะเป็นใคร หรือพรรคแกนนำจะเป็นใคร แต่เมื่อพรรคการเมืองสามารถรวมเสียงได้เกินครึ่งซึ่ง ขณะนี้คือ 312 เสียง และอาจจะได้มากกว่านี้อีกหน่อยก็ได้ หากส.ว.สนับสนุนก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้” นายจาตุรนต์ กล่าว

เมื่อถามถึงความรู้สึกของประชาชนที่มีความไม่สบายใจ ในการเห็นภาพพรรคเพื่อไทยเชิญพรรครัฐบาลเดิมมาพูดคุย และยังมองไม่เห็นทางออกในการจัดตั้งรัฐบาลอย่างชัดเจนนัก นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ตนเข้าใจและเห็นใจประชาชนที่รู้สึกไม่สบายใจ แต่เรื่องทั้งหมดก็มาจากกฎกติกาที่บิดเบี้ยว 312 เสียงควรตั้งรัฐบาลได้นานแล้ว หากอยู่ภายใต้กฎกติกาที่ปกติและเป็นประชาธิปไตย แต่เราอยู่ภายใต้กฎกติกาที่ไม่ปกติและไม่ถูกต้อง

ส่วนปัญหาที่ทำให้เกิดความไม่สบายใจนั้น ตนคิดว่าต้องช่วยกันติดตาม ประชาชนต้องช่วยติดตามพรรคการเมือง เพื่อทวงสัญญาหรือสะท้อนความรู้สึกว่าอยากเห็นอะไร ซึ่งพรรคการเมืองควรจะรับฟัง อย่างที่ตนได้ยืนยันว่าการย้ายขั้ว สลับขั้วจะทำให้มีปัญหา ได้รัฐบาลที่ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน ตนไม่ได้อยู่ในแกนนำในการเจรจา แต่ยืนยันได้ว่า ณ ตอนนี้นโยบายและจุดยืนของพรรคเพื่อไทย และ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ยังเป็นเหมือนเดิม

ส่วนกรณีที่สังคมเรียกร้องให้มีการรอถึง 10 เดือน ให้ สว. หมดอำนาจโหวตนายกฯ นั้น นายจาตุรนต์ มองว่า ทางออกของการตั้งรัฐบาลไม่ได้คือการต้องพยายามตั้งรัฐบาลไปเรื่อยๆจนกว่าจะได้ ซึ่งถ้าหากถึงเวลา 10 เดือนนั้น เราสามารถตั้งรัฐบาลได้แน่นอนเพราะไม่ต้องอาศัยเสียงของ สว.อีกแล้ว แต่ตนก็ไม่อยากให้รอไปนานขนาดนั้น เพราะการได้รัฐบาลเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งมีผลดี แต่หากได้รัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน เมื่อได้มาแล้วอาจจะไม่เกิดการแก้ปัญหาให้ประเทศ หรือยิ่งทำให้เกิดวิกฤติ เช่น วิกฤติศรัทธา วิกฤติการเมือง สร้างความขัดแย้ง ก็ยิ่งไม่เป็นประโยชน์ จึงต้องเลือกว่าการจะได้รัฐบาล ต้องได้รัฐบาลที่ชอบธรรม และแก้ปัญหาได้ แต่หากตั้งรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมและแก้ปัญหาไม่ได้ ทำให้เกิดวิกฤติ สู้รอไปอีก 10 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานที่สุดจะดีกว่า

“อย่าไปคิดว่าต้องพยายามให้ รอถึง 10 เดือน เราต้องพยายามให้ได้เร็วที่สุด แต่หลักใหญ่ของมันคือต้องให้ได้รัฐบาลที่ชอบธรรม สะท้อนเจตจำนงของประชาชนในการเลือกตั้ง และเป็นรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาประเทศได้ในเรื่องสำคัญๆ โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาทางสังคม และปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตย” นายจาตุรนต์ กล่าว

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า หากประชาชนช่วยกัน มองปัญหาหรือพยายามลุ้น พยายามผลักดันไปอย่างมีหลัก ว่าต้องการเห็นรัฐบาลเป็นอย่างไร ต้องการเสถียรภาพ ต้องการรัฐบาลที่มาจากประชาชน จึงไม่ต้องวิตก ว่าจะเกิดความเสียหายอะไร แต่หากไม่ยึดหลักแบบนี้ความเสียหายจะตามมา

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากพรรคเพื่อไทยไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในที่สุด จำเป็นต้องยกตำแหน่งแกนนำจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคอันดับที่ 3 หรือไม่ นายจาตุรนต์ระบุว่า ไม่ใช่หน้าที่พรรคเพื่อไทยที่จะบอกว่ายกหรือไม่ยกตำแหน่งแกนนำจัดตั้งรัฐบาลให้ใคร เพราะหากไม่สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตซ้ำได้ จากมติรัฐสภาที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแล้ว เกิดเปิดให้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี มีพรรคอื่นเสนอชื่อแคนดิเดตของตัวเองมาก็เป็นสิทธิของเขา ไม่ใช่เป็นเรื่องใครมอบใครไม่ใช่เรื่องของพรรคเพื่อไทยหรือแปดพัต้องไปทำพิธีมอบให้กติกาไม่ใช่แบบนั้นเพียงแต่ว่าพักที่หนึ่งหม้อพักที่สองเป็นเพราะเขาอยู่ด้วยกันในแปดพักเค้าส่งไม้ต่อแต่พรรคเพื่อไทยไม่จำเป็นและไม่มีสิทธิ์อะไรด้วยซ้ำที่จะต้องส่งไม้ต่อให้ใคร จึงจำเป็นต้องสนับสนุนพรรคเพื่อไทยให้จัดตั้งรัฐบาลของประชาชนให้ได้และต้นน่ะคิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องไปถึงพรรคอันดับสามเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

“8 พรรค จับมือกันแน่นเป็นเรื่องดีที่สุดแน่นอน เพราะเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร ใครจะตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยถึงเขาตั้งได้แต่เขาก็บริหารไม่ได้ และ 312 เสียงนี้ก็สามารถคว่ำรัฐบาลนั้นได้ แล้วก็มาว่ากันใหม่ เพราะฉะนั้นการมี 312 เสียง เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสำคัญ เป็นประโยชน์ เพราะเป็นเสียงที่เกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร และเป็นเสียงที่มาจากประชาชน เพราะฉะนั้นต้องจับมือกันไว้“

Related Posts

Send this to a friend