POLITICS

เปิดตัวหนังสือ “สู่เสรีภาพ: บทเรียนคนรุ่นใหม่กับประวัติศาสตร์เดือนตุลาฯ”

วันนี้ (11 พ.ย. 66) ที่ร้านประชาธิปไตยกินได้ ‘สำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน’ จัดเสวนา “สู่เสรีภาพ: บทเรียนคนรุ่นใหม่กับประวัติศาสตร์เดือนตุลาฯ” ร่วมเสวนาโดย นางสาวภัทราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักเคลื่อนไหวทางการเมือง, นายวิศรุต โชครุ่งเรือง ผู้เขียนหนังสือ และนายพลกฤต นฤพันธาวาทย์ ผู้เขียนหนังสือ

นายวิศรุต กล่าวว่า ต้นแบบของหนังสือเล่มนี้มาจากหนังสือของ อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิชาการ นักเขียน ซี่งการทำหนังสือเล่มนี้ จะเล่าเรื่องของการนิยามคนในช่วงเดือนตุลาคม อย่างการที่เรานิยามคนเดือนตุลาทำให้เราติดล็อกบางอย่าง เพราะเขาเหล่านั้น เป็นแค่มนุษย์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลา จึงมองว่าเราไม่ควรนิยามตามช่วงวัย แต่ใช้ความคิดมาเป็นเกณฑ์ในการแบ่งคนแต่ละยุคสมัย โดยขบวนการนักศึกษาในช่วง 14 ตุลา 16 เป็นการต่อสู้แบบระบบชาตินิยม ที่ยึดถือชาติเป็นสำคัญ แต่การต่อสู้หลังจากนั้น จะพูดถึงประเด็นอื่น ๆ แสดงให้เห็นว่าความคิดของนักศึกษาเปลี่ยนไป

นายวิศรุต กล่าวต่อว่า ความคิดของคนรุ่นใหม่ในเรื่องการเมือง เกิดขึ้นจากโซเชียลเป็นหลัก แต่ในยุคของคนเดือนตุลาจะอาศัยงานพิมพ์ เพื่อการสื่อสาร หรือส่งสารแนวคิดนี้ จึงเรียกได้ว่าจะมีจุดที่สามารถนำมาเทียบกันได้ระหว่างคนใน 2 ยุค ต่างกันแค่วิธีการสื่อสารเท่านั้น

นายพลกฤต กล่าวว่า ในคำนำของหนังสือเล่มนี้ จะมีตอนหนึ่งที่เขียนว่า ถ้าไม่มีระบอบประยุทธ์ก็จะไม่มีเราที่สนใจการเมืองในทุกวันนี้ เพราะการทำรัฐประหารครั้งนั้น ก็ทำให้เราหันมาสนใจการเมือง รวมถึงหลาย ๆ คนด้วย และสิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้จากคุณูปการของคนเดือนตุลาคือการเผยแพร่ความคิด แนวคิด และยังมีหลายสิ่งที่แม้เวลาหรือสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป แต่ก็ยังทำมีผลกับเหตุการณ์ปัจจุบัน และยังถูกหยิบยกมาใช้อยู่เรื่อย ๆ

ด้านนางสาวภัทราวลี ระบุว่า การที่ตนเองออกมาต่อสู้ เพราะไม่สามารถอดทนรอสิ่งที่หวังได้ เมื่อเห็นปัญหาแล้วก็ต้องออกไปต่อสู้ ซึ่งต้นแบบในการออกมาต่อสู้ก็จะนิยามยาก จึงเลือกเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เราออกมาตั้งคำถาม คือเหตุการณ์การจัดกิจกรรมครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร 57 ที่จัดขึ้นหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ตอนปี 58 จึงเกิดการตั้งคำถามว่าแค่ออกมายืนจับมือกันทำไมถึงผิดกฎหมาย หลังจากนั้นจึงออกมาเคลื่อนไหว

นางสาวภัทราวลี นิยามคำว่า “คนรุ่นใหม่” ว่า ไม่ใช่แค่อายุที่น้อย แต่เป็นคนที่อยากเห็นความเป็นธรรมในสังคมมากขึ้น อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ คาดหวังสังคมใหม่ ไม่ใช่แค่อายุที่น้อย ใครก็เป็นได้ ถ้าเขาต้องการสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

นางสาวภัทราวลี กล่าวอีกว่า คนรุ่นใหม่มีความคิดทางการเมืองหลากหลายมาก อยู่ที่ว่าตอนนี้แต่ละคน จะใช้ฐานคิดแบบไหนในการสู้ไปให้ถึงฝันที่ต้องการ ซึ่งยากมากเพราะเราอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรม โดยช่องทางการสื่อสารเรื่องการเมืองทุกวันนี้ มีการพูดถึงกันในอินเตอร์เน็ต ทำให้สื่อสารได้ไปไกลขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้เราได้ตระหนักถึงบทบาทของตังเอง ว่าเราเป็นใครในสังคมนี้ นับเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการทำงานทางความคิด และทำให้การต่อสู้ทางการเมืองที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในะระยะสั้น ๆ

Related Posts

Send this to a friend