POLITICS

เครือข่ายแรงงานเรียกร้องรัฐ ปรับค่าจ้าง 421 บาททั่วประเทศ หลังราคาสินค้าพุ่งต่อเนื่อง

(26 เม.ย. 65) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล ระบุว่า ได้ใช้ความพยายามเพื่อผลักดันให้รัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมและการดำเนินชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี จากสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม ทั้งอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยและทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าทุกรายการสูงขึ้น ทั้งอาหาร เครื่องมือ เครื่องใช้ น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม เป็นต้น ส่งผลให้ประชาชนและผู้ใช้แรงงานใช้ชีวิตในแต่ละวันได้อย่างยากลำบาก และยิ่งเลวร้ายมากขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้คนงานจำนวนไม่น้อยต้องตกงาน ว่างงาน ขาดรายได้

นอกจากนี้ บางคนต้องทำงานที่บ้าน (work from home) เพื่อลดความเสี่ยงจากโควิด-19 ทำให้ต้องแบกรับภาระจากค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเตอร์เน็ต แทนผู้ประกอบการ ขณะที่ค่าจ้างไม่ได้มีการปรับมาเกือบ 3 ปีแล้ว นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม โดยครั้งสุดท้ายของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทย เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำถูกแบ่งออกเป็น 10 ราคา ตามเขตพื้นที่

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลโดยพรรคพลังประชารัฐ ได้เคยแถลงนโยบายต่อสาธารณะว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ อย่างน้อยวันละ 425 บาท แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ดำเนินการตามที่ได้หาเสียงไว้ ขณะที่ คสรท. และ สรส. ได้เคยยื่นนำเสนอหลักการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 360 บาท 421 บาท และ 700 บาท โดยปรับเท่ากันทั่วประเทศ มาตั้งแต่ปี 2552 ถึง 2560 โดยเหตุผลในการขอปรับเพิ่ม มาจากการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ใช้แรงงานในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ที่สะท้อนถึงความต้องการและความเดือดร้อนจากค่าจ้างไม่พอเลี้ยงตนเองและครอบครัว

คสรท. และ สรส. ได้ประชุมร่วมกัน และมีมติเสนอตัวเลขในการปรับค่าจ้างเชิงประนีประนอม โดยคำนวณเฉพาะค่าใช้จ่ายรายเดือนมาเฉลี่ยด้วย 30 วัน ดังนั้นตัวเลขที่เสนอปรับค่าจ้างในครั้งนี้ จึงอยู่ที่วันละ 421 บาท และขอให้ปรับขึ้นในอัตราเท่ากันทั้งประเทศ ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน เพราะราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ปรับพร้อมกันทั้งประเทศ ไม่ได้เลือกเขต เลือกโซน เลือกจังหวัด และขึ้นเกือบทุกรายการราคาสินค้า

Related Posts

Send this to a friend