POLITICS

นักวิชาการแนะ ส.ว. ใช้อำนาจ “ไม่โหวตนายกฯ” หรือโหวตตามมติประชาชน

วันนี้ (26 ม.ค. 66) คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และสภาที่ 3 ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาหัวข้อ “เลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย : หยุดให้อำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ” ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ผู้มีอำนาจที่มาจากระบบอำนาจนิยมมักคิดเองเออเองว่าประชาชนคิดเองไม่ได้ จึงออกแบบกติกาการเลือกตั้งที่เลือกเอง (Selection) แต่การต่อสู้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2535 คือประชาชนต้องการการเลือกตั้ง (Election) ดังนั้น หลากหลายการกระทำผิดนั้นลอยนวลได้ อย่างกรณี ส.ว. มักไม่แยแสหรือเห็นแก่ประชาชน

“ผมว่า ส.ว. ไม่อาจมีหิริโอตตัปปะอะไรได้ เพราะเขาไม่ยี่หร่ะอะไรกับประชาชน จึงจะมาคิดแทนประชาชนไม่ได้”

ผศ.ดร.วันวิชิต กล่าวต่อไปว่า เราไม่ค่อยเห็นสมาชิกวุฒิสภาคิดเรื่องเงินซื้อใจหรือจูงใจให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ นี่คือการสบประมาทประชาชน ถ้าเห็นการเมืองเป็นการเปลี่ยนแปลง ประชาชนก็จะออกมาเอง ประเทศที่เจริญแล้วไม่ได้สนใจถึงยอดผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องให้นักวิชาการ นักรัฐศาสตร์ นักนิติศาสตร์ ออกมาเคลื่อนไหวเป็นแสงสว่างนำทางให้กับสังคม

สืบเนื่องจากข้อเสนอของ ส.ว. ให้มีการแจกเงินสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อไปลงคะแนนเสียงที่หน่วยเลือกตั้งนั้น รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวถึงประเด็นจิตสำนึกทางการเมืองว่า ที่ใดที่มีอุดมการณ์การเมืองอย่างเข้มข้น ที่นั่นจะไม่มีการซื้อเสียง เพราะประชาชนเรียนรู้จากประวัติศาสตร์การลงคะแนนว่าจะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเช่นไร ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องใช้เงินเลยในการจูงใจให้คนออกไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

รศ.ดร.พิชาย ยังกล่าวว่า หาก ส.ว. สามารถสลัดจิตใจของจากอำนาจรัฐประหารได้ ก็จะไม่ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี หรือเลือกนายกรัฐมนตรีจากเสียงข้างมากของประชาชน แต่ถ้ายังยึดติดกับอำนาจรัฐประหาร ส.ว. ก็น่าจะฝืนเลือก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยในสภาฯ ก็จะเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองตามมา และจะเป็นตราบาปที่ติดอยู่ในจิตใจของบรรดา ส.ว. ทั้งมวลและครอบครัว ที่จะบันทึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างยาวนาน

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวย้อนไปถึงคำถามประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ว่ามีคำถามถึงอำนาจให้ ส.ว. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี คำถามนี้ต้องใช้คำว่า “มีความไม่ตรงไปตรงมาถึงขนาดที่ เอื้อประโยชน์ต่อ คสช.” เจตนาคือเอื้ออยู่แล้ว เพราะไม่เคยมีมาก่อน ที่ผ่านมาประชาชนเลือก ส.ส. เพื่อให้ ส.ส. เลือกนายกฯ

ดังนั้น ผศ.ดร.ปริญญา จึงเรียกร้องไปยัง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่ในฐานะนายกรัฐมนตรี แต่ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐประหาร หลังสัญญาว่าขอเวลาไม่นานเพื่อปฏิรูป แต่ขณะนี้ขอถามว่า การปฏิรูปนั้นไปถึงไหนแล้ว ? การที่ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกฯ นี้เองที่เป็นข้อผิดพลาด พลเอก ประยุทธ์ จึงควรประกาศตัวว่าจะลงชิงนายกฯ โดยไม่อาศัยเสียง ส.ว. มิฉะนั้น พลเอก ประยุทธ์ มีโอกาสจะดำรงตำแหน่งนายกฯ เกิน 8 ปีด้วยปาฏิหาริย์ทางกฎหมายด้วยองคาพยพของ คสช.

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ชวนภาคประชาชนจับตาความได้เปรียบของ พลเอก ประยุทธ์ และ พลเอก ประวิตร ภายใต้เงื่อนไขการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้แก่

1.รัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมายพรรคการเมือง ยังติดหล่มอำนาจนิยม และยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งจะสืบเนื่องไปถึงการแบ่งเขตเลือกตั้ง ทั้งหมดนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายรัฐบาล

2.ส.ว. เป็นคนของ 2 ป. จึงมีแนวโน้มจะเลือก พลเอก ประยุทธ์ และ พลเอก ประวิตร เป็นนายกรัฐมนตรี จะทำให้สังคมไทยติดหล่มต่อไป

3.พลเอก ประยุทธ์ ยังไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อสมัครสมาชิกรวมไทยสร้างชาติ ทั้งที่เป็นแคนดิเดตจากพรรคพลังประชารัฐ ตลอดจนมีการแต่งตั้งสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติเข้ามาดำรงตำแหน่งในสำนักนายกรัฐมนตรี

4.การใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีจัดสรรงบประมาณเพื่อหาเสียงทางอ้อมกระจายทั่วทุกภูมิภาค จนอาจกลายเป็นการเลือกตั้งสีเทา

5.การเสนอตัวเป็นแคนดิเดตของ พลเอก ประยุทธ์ และ พลเอก ประวิตร เป็นเสมือนการจงใจให้มีเพียง 2 ทางเลือกสำหรับ ส.ว. ในการลงมติเลือกบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการทางเลือกที่ 3 ที่พ้นจากอำนาจ 3 ป.

“เราอยากให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม กกต. ควรดำเนินไปอย่างโปร่งใส เปิดให้ภาคประชาชนและนานาชาติร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งด้วย” เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย กล่าวทิ้งท้าย

Related Posts

Send this to a friend