POLITICS

ยื่น 6 ข้อเรียกร้อง ‘บิ๊กป้อม’ เร่งทำ กม.ให้ศักดิ์สิทธิ์ คืนทางม้าลาย สร้างความปลอดภัยคนใช้ถนน

เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต และภาคประชาชน เหยื่ออุบัติเหตุทางถนน ยื่น 6 ข้อเรียกร้อง ‘บิ๊กป้อม’ เร่งทำกฎหมายให้ศักดิ์สิทธิ์ คืนทางม้าลาย สร้างความปลอดภัยคนใช้ถนน หลังตร.ควบดูคาติชนหมอเสียชีวิตบนทางม้าลาย ชี้ไม่ใช่เคสแรก แต่พบคนเดินเท้าเกิดอุบัติปีละเกือบ 3 พันคน วอนคนไทยเป็น ‘ตาจราจร’ ถ่ายรูป อัดคลิปคนฝ่าฝืนกฎ ช่วยกันร้องเรียน สร้างสังคมปลอดภัยบนถนน

วันนี้ (26 ม.ค.65) ที่ ทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ เครือข่ายเหยื่ออุบัติเหตุ พร้อมเครือข่ายภาคประชาชนกว่า 30 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการนโยบายการป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (นปถ.) เพื่อเรียกร้อง บังคับใช้กฎหมายกับผู้ก่อเหตุบนทางม้าลาย ทวงคืนความปลอดภัยให้คนข้ามถนน ซึ่งนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรับหนังสือในครั้งนี้ พร้อมกันนี้ทางเครือข่ายยังได้มีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์บริเวณทางม้าลายหน้าทำเนียบรัฐบาล

โดยแสดงเป็นคนนอนเสียชีวิต 3 คน (จาก 3 เหตุการณ์ที่เป็นข่าวใหญ่) บนทางม้าลาย และร่วมวางดอกไม้และยืนสงบนิ่งแสดงความอาลัยต่อความสูญเสียล่าสุด และชูป้ายเรียกร้องให้บังคับใช้กฎหมายขั้นสูงกับผู้ที่ก่ออุบัติเหตุบนทางม้าลาย ปลุกสำนึกคนใช้รถใช้ถนน ร่วมคืนความปลอดภัยให้คนข้ามทางม้าลาย

นางสาวเครือมาศ ศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต กล่าวว่าจากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถจักรยานยนต์ big bike Ducati สีแดง ชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย อย่างแรงระหว่างเดินข้ามทางม้าลายบริเวณหน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต สร้างความสะเทือนใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ เพราะนี่ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้นกับคนข้ามถนนตรงทางม้าลาย

ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อปี 2557 ก็เกิดเหตุรถฝ่าไฟแดงพุ่งชนพนักงานสาวแกรมมี่ขณะข้ามทางม้าลายจนเสียชีวิต บริเวณหน้าตึกแกรมมี่ย่านอโศก อีกกรณีหนึ่งเมื่อปี 2562 กรณีว่าที่บัณฑิตถูกรถบิ๊กไบค์ชนเสียชีวิต ขณะข้ามทางม้าลายบริเวณแยกกรมโยธาและผังเมือง ถ.พระราม 9 เพื่อไปทำงานเป็นวันแรก ทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา

ยังไม่นับรวมกรณีที่ได้ได้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะอีกมาก ซึ่งจากข้อมูลศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ) ศึกษาจากแหล่งข้อมูลอุบัติเหตุต่างๆ ประมาณการณ์ว่า มีผู้ถูกรถชนเสียชีวิตขณะข้ามถนนบนทางม้าลาย เฉลี่ย 6% ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน หรือประมาณ 500 คนต่อปี โดยกว่า 1 ใน 3 เป็นพื้นที่กรุงเทพฯ ส่งผลให้ประเทศต้องสูญเสียทรัพยากรไปก่อนวัยอันควรจำนวนมาก จึงขอให้ทุกฝ่ายเคารพกฎหมาย ร่วมกันทำทางม้าลาย ทางเท้าให้มีความปลอดภัย และต้องจับตาดูว่ากรณีนี้ที่ผู้บังคับใช้กฎหมายเป็นคนก่อเหตุเสียเองจะถูกลงโทษสถานหนักหรือไม่ หรือสุดท้ายแค่รอลงอาญา

ด้านนายเจษฎา แย้มสบาย ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ กทม. กล่าวว่า ในฐานะที่พล.อ.ประวิตร เป็นประธานนปถ. ที่มีอำนาจสั่งการกำกับดูแลการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับคนใช้รถใช้ถนนรวมถึงคนเดินเท้า คืนทางม้าลายที่ปลอดภัยให้กับประชาชน โดยเครือข่ายขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอ ดังนี้

  1. เครือข่ายขอไว้อาลัยกับความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนทางม้าลายรายล่าสุดและขอให้กำลังใจครอบครัวครอบครัวผู้สูญเสียในเหตุการณ์นี้รวมไปถึงอุบัติเหตุรายอื่นๆในประเทศไทย และเครือข่ายขอยืนยันว่า “ความปลอดภัยบนทางม้าลายคือสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน” ที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ และควรเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักต่อประชาชนร่วมกัน
  2. ขอให้บังคับใช้กฎหมายต่อผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวดจริงจัง ทำให้กฎหมายจราจรของไทยมีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นธรรม ทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย และกรณีที่ผู้บังคับใช้กฎหมายเป็นผู้ก่อเหตุเสียเองต้องให้มีการลงโทษขั้นสูง และให้มีการเชื่อมโยงใบสั่งค่าปรับจราจรกับการต่อภาษีรถเพื่อทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นจริง เนื่องจากมีผู้กระทำผิดกฎจราจรและไม่ชำระค่าปรับ ซึ่งถือว่าไม่เคารพกฎหมาย
  3. ขอให้ยกระดับกฎหมาย ให้การชนคนตายบนทางม้าลายและบนท้องถนน มีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา เช่นเดียวกับกฎหมายในประเทศที่เจริญแล้ว
  4. ขอให้มีการจัดการ “ทางม้าลาย-ทางข้ามที่ปลอดภัย” และเข้มงวดกับการกำหนดความเร็วในเขตเมือง โดยเฉพาะ ตลาด ชุมชน โรงเรียน โดยขับขี่รถไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  5. ขอให้มีการรายงานผลการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนต่อรัฐบาลและมีการติดตามผลงานอย่างต่อเนื่องทุกไตรมาส และมีการสอบสวนการเกิดอุบัติเหตุในอุบัติเหตุสำคัญเพื่อวางแนวทางแก้ไข
  6. ขอเรียกร้องต่อประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน ให้ร่วมกันเป็นอาสาตาจราจร ช่วยกันสอดส่องดูแลผู้กระทำผิดกฎหมายต่างๆบนถนน เช่น ไม่จอดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ขับย้อนศร กลับรถในที่ห้ามกลับรถ หรือการกระทำผิดอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุของคนเดินเท้า หรือผู้ร่วมทาง โดยสามารถส่งคลิปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือมูลนิธิเมาไม่ขับ เพื่อกระตุ้นสังคมให้มีความตระหนักถึงการขับขี่ที่ปลอดภัย”

ขณะที่นางพวงแก้ว โต้ตอบ ผู้สูญเสียลูกชายอายุ 12 ปี จากอุบัติเหตุ กล่าวว่า ช่วงเดือน ต.ค. 2564 วันนั้นรถยนต์ขับมาด้วยความเร็วชนจักรยานยนต์คันที่น้องซ้อนมา ในเขตชุมชนหน้าเคหะชุมชนคลองเก้า คลองสามวา ซึ่งเป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยมากๆ ระบบเตือนต่างๆแทบไม่มีเลย เมื่อตนเห็นข่าวหมอกระต่ายถูกรถชนเสียชีวิตขณะเดินข้ามทางม้าลายแล้วรู้สึกสะเทือนใจมาก เพราะทำให้นึกถึงภาพที่ลูกชายตนเกิดอุบัติเหตุ ยิ่งมารู้ว่าผู้ก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องบังคับใช้กฎหมายด้วยยิ่งรู้สึกแย่ ก็ขอให้กำลังใจครอบครัวคุณหมอด้วย สิ่งที่อยากจะบอกคือคนขับรถทุกคนต้องรู้และสำนึกถึงความปลอดภัยทั้งของตัวเองและคนอื่นเป็นสำคัญ โดยเฉพาะตรงทางม้าลาย ในพื้นที่ชุมชน จิตสำนึกของคนต้องมี ทุกคนรู้กฎจราจรกันอยู่แล้วว่าทางม้าลายต้องขับให้ช้าลง ต้องชะลอ เห็นคนข้ามต้องหยุด เราต้องสร้างให้เป็นจิตสำนึกร่วมของคนใช้รถใช้ถนนให้ได้ ต้องทำให้ดีกว่าวัวหายแล้วมาล้อมคอก

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้เป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดการสร้างจิตสำนึกให้กับทุกคน ในตอนนี้ก็ได้มีการประชุมในเรื่องนี้เช่นกันและค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ซึ่งทางรัฐบาลมีความเป็นห่วงอย่างมาก ทางนายกรัฐมนตรีก็ได้แสดงความเสียใจกับทางครอบครัวผู้เสียชีวิต และเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่พวกเราได้รับรู้กันว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น และจะมีการไปประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็ได้แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของข้อกฎหมายที่ให้มีการยังคับใช้กฎหมายให้มีความรุนแรงและโทษสูงสุด

เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญ พี่น้องประชาชนทุกคนที่อยู่หลังพวงมาลัย หรือหลังมอเตอร์ไซค์ ที่มักจะบอกว่าขับรถเร็วเพราะความเร่งรีบในเรื่องของเวลา ก็จะต้องช่วยกัน ให้ความร่วมมือ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีก

Related Posts

Send this to a friend