POLITICS

เลขาฯ ป.ป.ช. ย้ำขับเคลื่อนนโยบาย ‘No Gift Policy’ แก้ปัญหาทุจริต

เลขาฯ ป.ป.ช. ย้ำขับเคลื่อนนโยบาย ‘No Gift Policy’ แก้ปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่ ลดโอกาสการรับสินบน สร้างความโปร่งใสให้หน่วยงานรัฐ

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. และคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ได้จัดทำ “แผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ” (พ.ศ.2566–2570) รวมถึง “แผนปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและ ประพฤติมิชอบ” (ฉบับปรับปรุง) โดยกำหนดกิจกรรมปฏิรูปที่สำคัญคือ “พัฒนาระบบราชการไทยให้โปร่งใส ไร้ผลประโยชน์” ด้วยเป้าหมายสำคัญคือการร่วมผลักดันหน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วน ประกาศเป็นหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนพึงปฏิบัติด้วยการไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy)

ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถดำเนินนโยบาย “No Gift Policy” ไปสู่การปฏิบัติหน้าที่ด้วยมาตรการเดียวกันและสามารถประยุกต์ใช้ให้ได้อย่างเหมาะสมต่อไป เท่าที่ผ่านมาพบว่าการทุจริตและประพฤติมิชอบต่อหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ มีด้วยกัน 3 ลักษณะด้วยกัน ได้แก่

1.เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ราชการต้องปฏิบัติตามหน้าที่ราชการใด ๆ ส่อให้เกิดการทุจริตมิชอบอาจเกิดจากกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หรือได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติจากผู้บังคับบัญชา

2.การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบโดยเจตนา

3.การเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์อันมิควรได้รับโดยเจตนานายนิวัติไชย

เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวย้ำว่าหลักปฏิบัติในการยึดมั่นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใสของเจ้าหน้าที่รัฐ จากนโยบาย “No Gift Policy” เป็นแนวทางที่จะช่วยป้องกัน และลดโอกาสในการรับสินบน การนำมาซึ่งผลประโยชน์ทับซ้อนในรูปแบบต่าง ๆ ในกลุ่มของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ส่งเสริมและสร้างจิตสำนึกให้ปฏิเสธการรับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ สร้างวัฒนธรรมองค์กรด้านคุณธรรมและความโปร่งใสของระบบราชการให้เข้มแข็ง

นอกจากนี้ การดำเนินการดังกล่าวยังช่วยยกระดับการดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติตามแผนแม่บทฯ และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม นโยบายจึงเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางในการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐ (ITA) ให้สูงขึ้นทุกปี จำเป็นต้องติดตามผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรมกับข้าราชการในหน่วยงานของรัฐทั่วประเทศ

Related Posts

Send this to a friend