POLITICS

เสวนาพัฒนาการสิทธิมนุษยชน 90 ปีหลังปฏิวัติสยาม

หวังสื่อสร้างความตื่นตัวในคุณค่าประชาธิปไตย ผลักดันกระแสต่อสู้เพื่อสิทธิ-หนุนร่างกฎหมายก้าวหน้ามากขึ้น

วันนี้ (25 มิ.ย. 65) ที่ตึกกิจกรรมนิสิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีงานเสวนาหัวข้อ “สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย : 90 ปี วิวัฒนาการของสิทธิมนุษยชนในไทย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” ในกิจกรรม “ครบรอบ 90 ปี ปฏิวัติสยาม 2475” จัดโดยองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ประเด็นที่หนึ่ง คือ “ความเท่าเทียมทางเพศและสมรสเท่าเทียม” เริ่มต้นเสวนาโดย อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า สังคมของเราเป็นสังคมปิตาธิปไตย แต่ในช่วงที่ผ่านมานี้เริ่มมีการให้คุณค่ามากขึ้น อย่างที่พบว่ามีการชุมนุมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตลอดจนการผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สมรสเท่าเทียม ที่ผ่านวาระแรกในสภาผู้แทนราษฎร

เช่นกันกับ เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเด็นความหลากหลายทางเพศถูกยกขึ้นมาจากการพูดถึงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ สังคมมาถึงจุดที่เพียงพอกับการฟังเรื่องเล่าประสบการณ์ของการเป็นอื่น แต่จากนี้จะต้องผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายและกฎหมายต่อไป

อธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์เจ้าของนามปากกา “ใบตองแห้ง” กล่าวว่า การต่อสู้เพื่อความหลากหลายทางเพศเป็นการต่อสู้กับปิตาธิปไตยและการกดทับสิทธิเสรีภาพของความแตกต่าง ทั้งยังจะเห็นได้ว่าขบวนการมวลชนคนรุ่นใหม่จะเห็นว่า LGBTQ+ กลายเป็นแถวหน้าของการเคลื่อนไหวอีกด้วย

ประเด็นที่สอง คือ “ผู้ลี้ภัยทางการเมือง พ.ร.บ.อุ้มหาย และสิทธิการประกันตัว” อธึกกิจ กล่าวว่า รัฐบาลปัจจุบันเกิดจากรัฐธรรมนูญที่มาจากการรัฐประหารสืบทอดอำนาจ จนเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ความเป็นประชาธิปไตยมันน้อยลง ผ่านการดำเนินคดีตามข้อหาในพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนเสรีภาพในการแสดงออกน้อยลงสวนทางกับกระแสโลก

อมรัตน์ กล่าวต่อยอดประเด็นเสรีภาพว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีการคุกคามกระทำผิดจนกลายเป็นวัฒนธรรม กระทั่งเกิดกรณี พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ผู้กำกับโจ้ จนเกิดกระแสผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งครอบคลุมการกระทำผิดต่อผู้ลี้ภัยทางการเมืองด้วย อย่างกรณี วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมไทยที่ลี้ภัยในกัมพูชา ที่ถูกอุ้มหายไป

ส่วนบรรยากาศการชุมนุมภายในประเทศ เคท กล่าวในฐานะผู้ประกันตัวนักศึกษาที่ถูกจับกุมดำเนินคดีชุมนุมว่า ในกระบวนการยุติธรรมเองก็มีการไล่บี้กับผู้ประกันตัว และเอาทุกวิธีการยิบย่อยอย่างไม่มีเหตุผลมาใช้ ซึ่งทำให้เราเกิดความยุ่งยากมากขึ้น กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางนั้นทำให้คนที่เรียกร้องการแก้ไขมาตรา 112 นั้นเป็นอื่นไปมากเมื่อเทียบกับคดีอื่น

ประเด็นที่สาม คือ “เสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงออก” เคท เริ่มกล่าวถึงข้อได้เปรียบของการรับรู้ในสังคมปัจจุบันว่า ข้อมูลมีจำนวนมากและสื่อเองก็มีหลากหลายที่ทำให้เราทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้ เพียงแต่มีทั้งสื่อที่นำเสนอข้อมูลจากหลายแง่ การมีวิจารณญาณรู้เท่าทันจึงยังจำเป็นอยู่สำหรับเราในฐานะในฐานะผู้เสพสื่อ

อธึกกิจ กล่าวว่า ป้จจุบันวงการสื่อก็เปลี่ยนภูมิทัศน์ไปมาก สื่อออนไลน์และสื่ออิสระเองก็มีบทบาทมากขึ้นโดยไม่ต้องขึ้นตรงต่อองค์กรสื่อ ดังนั้น องค์กรสื่อก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของสื่อตลอด ทั้งที่รัฐมีความพยายามในการจำกัดเสรีภาพทั้งสื่อและประชาชน

อมรัตน์ มองว่า อยากให้สมาคมวิชาชีพสื่อฯ ออกตัวมากกว่านี้ อย่างกรณี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามสื่อมวลชนนำเสนอข่าวที่สร้างความหวาดกลัว

“จึงอยากเรียกร้องไปยังสื่อมวลชนให้มีความกล้าหาญมากขึ้น อย่าเซนเซอร์ตัวเองมากเกินไปหลังจากถูกเซนเซอร์มามากอยู่แล้ว เพราะการรับรู้ข้อมูลของประชาชนขึ้นอยู่กับการนำเสนอของสื่อมวลชน” อมรัตน์ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend