POLITICS

เกษตรฯ – พาณิชย์ สั่งชะลอนำเข้ามะพร้าวเพิ่มภาษี แก้ปัญหาราคาตกต่ำ

ก.เกษตรฯ – ก.พาณิชย์ สั่ง “ชะลอนำเข้ามะพร้าวผล – เพิ่มเพดานภาษี” แก้ปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ

วันนี้ (24 ก.ย. 65) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยมาตรการแก้ปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำว่า ได้ร่วมกับทุกหน่วยงาน เร่งแก้ปัญหาเพื่อให้ปริมาณผลผลิตมะพร้าวที่ออกสู่ตลาด กับสัดส่วนปริมาณการนำเข้าและปริมาณการใช้ในประเทศ มีความสมดุลกัน ไม่ส่งผลกระทบต่อราคามะพร้าวที่เกษตรกรขายได้

โดยได้มอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และร่วมรับฟังปัญหาจากเกษตรกร เครือข่ายชาวสวนมะพร้าว และสมาพันธ์ชาวสวนมะพร้าวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยว ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหา

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 มีมติเห็นชอบมาตรการแก้ไขปัญหาราคามะพร้าวตกต่ำ โดยผู้ประกอบการยินดีที่จะชะลอการนำเข้ามะพร้าวผล ภายใต้กรอบความตกลง AFTA ปี 2565 ช่วงที่ 2 (ก.ย. – ธ.ค. 65) และพร้อมให้ความร่วมมือในการชะลอการนำเข้ามะพร้าวผล ภายใต้กรอบความตกลง WTO กะทิสำเร็จรูป และกะทิแช่แข็ง ออกไปก่อน จนกว่าราคามะพร้าวผลภายในประเทศจะกลับสู่ภาวะปกติ

ที่ประชุมยังเห็นชอบการใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard Measure: SSG) สำหรับสินค้ามะพร้าว ปี 2565 ในกรณีที่มีการนำเข้ามะพร้าวผลแก่เกินกว่า 305,335 ตัน ที่ผู้ประกอบการจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น เป็นอัตราร้อยละ 72 เพื่อไม่ให้เกษตรกรได้รับผลกระทบทางด้านราคาจากการที่มีการนำเข้ามากเกินไป

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า มาตรการดังกล่าวจะสามารถช่วยลดสต็อกมะพร้าวที่อยู่ในล้งและตามสวนของเกษตรกรได้ คาดว่าจะส่งผลให้ราคามะพร้าวผลแห้ง (ใหญ่) เพิ่มขึ้น กลับมาเป็นผลละ 12 – 15 บาท ได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 65

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยข้อมูลการผลิตและการส่งออกมะพร้าวไทย ปี 2565 ว่า ไทยมีผลผลิตมะพร้าวประมาณ 0.969 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ร้อยละ 5.62 จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ผลผลิตจึงเพิ่มขึ้น โดยผลผลิตส่วนใหญ่มากกว่าร้อยละ 70 เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก

แต่หลังต้นปีที่ผ่านมา ประเทศคู่ค้ามีความต้องการนำเข้าลดลง อาทิ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งจะเห็นได้จากปริมาณส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกปี 2565 (ม.ค. – ก.ค.) มีปริมาณรวม 85,031 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2564 ร้อยละ 36.21 หรือคิดเป็นมะพร้าวผลประมาณ 115,000 ตัน ส่งผลทำให้มีปริมาณสต็อกมะพร้าวในประเทศจำนวนมาก ทำให้ราคามะพร้าวผลแห้ง (ใหญ่) ที่เกษตรกรขายได้ลดลง โดยในเดือน ก.ย. 65 เฉลี่ยผลละ 8.19 บาท ลดลงจากราคาเฉลี่ยผลละ 13.37 บาทในเดือน มี.ค. 65 ร้อยละ 38.74

Related Posts

Send this to a friend